ม.หอการค้าไทย เผย เปิดเทอม เงินสะพัด 6.2 หมื่นล้านบาท สูงสุด เป็นประวัติการณ์

ม.หอการค้าไทย เผย เปิดเทอม เงินสะพัด 6.2 หมื่นล้านบาท สูงสุด เป็นประวัติการณ์

ม.หอการค้าไทย เผย เปิดเทอมผู้ปกครองพร้อมจ่าย ทำเงินสะพัด62,615 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 53 ขณะที่วันวิสาขบูชา มีมูลค่าใช้จ่าย 3,971 ล้านบาท ชี้เศรษฐกิจไทยยังไม่ซึมตัวรุนแรง เหตุคนยังกล้าใช้จ่าย ท่องเที่ยว จับตาการเจรจาจีน ถ้าดีส่งสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจโลก-ไทย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายและผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม รวมถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายช่วงวันวิสาขบูชาว่า เปิดเทอมปีนี้ คาดจะมีมูลค่าการใช้จ่ายสูงถึง 62,615 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.80% จากปี 67 ที่มีมูลค่าใช้จ่าย 60,323 ล้านบาท หรือมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนที่ 26,039 บาท ส่วนใหญ่เกือบ 67% ระบุว่า มีเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายของบุตรหลายในช่วงเปิดเทอม 

สำหรับมูลค่าใช้จ่ายดังกล่าว ส่วนใหญ่ 45.6% บอกว่าเท่าเดิมเมื่อเทียบกับปีก่อน อีก 34.7% เพิ่มขึ้นถึงเพิ่มขึ้นมาก เพราะราคาสินค้าแพงขึ้น ซื้อของมากขึ้น มีภาระหนี้น้อยลง มีจำนวนบุตรที่เข้าเรียนเพิ่มขึ้น ค่าบำรุงการศึกษาและค่าธรรมเนียมสูงขึ้น รายได้สูงขึ้น และ 19.7% บอกน้อยลง  เพราะราคาของแพงขึ้นทำให้ต้องประหยัด ไม่มั่นใจภาวะเศรษฐกิจ ขาดสภาพคล่อง มีภาระหนี้มาก รายได้ลดลง

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ 66.9% รายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และ 33.1% ไม่เพียงพอ ส่วนเงินที่นำมาใช้จ่าย มากถึง 61.9% เป็นเงินออม, 26.1% เงินเดือน และ 12.0% โบนัส/รายได้พิเศษ นอกจากนี้ 58.9% บอกว่าค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานมีส่วนทำให้ต้องก่อหนี้ โดยคิดเป็นหนี้ 10-60% ของยอดหนี้ทั้งหมด มีเพียง 41.0% ไม่มีส่วนก่อหนี้

อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ยังส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา จึงต้องหารายได้เสริม ลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่น กู้ยืมเงินเพื่อให้บุตรหลานได้เรียนดีๆ ย้ายไปโรงเรียนที่ค่าเทอมถูกกว่า โดยเห็นว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ช่วยลดภาระของผู้ปกครองได้มาก

“ยอดการใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมปีการศึกษา 2568 ถือว่ามียอดใช้จ่ายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ที่เริ่มทำการสำรวจมาตั้งแต่ปี 53 ส่วนหนึ่งอาจตีความได้ว่า ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาปรับตัวสูงขึ้น หรือผู้ปกครองให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาของบุตรหลานมากขึ้น”นายธนวรรธน์ กล่าว

ส่วนผลสำรวจการใช้จ่ายช่วงวันวิสาขบูชา พบว่า บรรยากาศปีนี้คึกคักกว่าปีก่อน คาดมีมูลค่าใช้จ่าย 3,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.16% เทียบปี 67 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนด้านการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ 8,535 บาท, กิจกรรมทางศาสนา 1,903 บาท, ทำกิจกรรมอื่น 1,623 บาท, พักผ่อนอยู่บ้าน 722 บาท และกลับบ้านต่างจังหวัด 1,033 บาท

นายนวรรธน์ กล่าว จากผลสำรวจ ยังไม่พบสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยจะซึมตัวลงรุนแรง เพราะประชาชนยังใช้จ่ายด้านการศึกษาเต็มที่ และยังเดินทางท่องเที่ยว ทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงวันวิสาขบูชา ที่มีวันหยุดยาว อาจได้รับอานิสงส์จากกรณีที่สหรัฐฯเลื่อนการเก็บภาษีตอบโต้คู่ค้า รวมถึงไทยออกไปอีก 90 วัน และอาจเลื่อนออกไปได้อีก ถ้าการเจรจาต่อรองกับประเทศคู่ค้าต่างๆ ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน แม้เริ่มเจรจากับหลายประเทศแล้ว

ส่วนการที่สหรัฐฯเจรจากับจีนอย่างจริงจังที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ทำให้เห็นว่า สงครามการค้าของ 2 ประเทศเริ่มผ่อนคลายลง แต่ยังคงต้องจับตาการเจรจาของ 2 ประเทศอย่างใกล้ชิด ถ้าเจรจาได้สำเร็จ และมาตรการต่างๆ ที่จีนนำมาใช้ ทั้งลดอัตราส่วนเงินสำรองของธนาคาร เพื่อเปิดช่องให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเข้าระบบได้มากขึ้น และออกมาตรการต่างๆ ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศนั้น สามารถทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ 5% ในปีนี้ และหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเป็นปกติ ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ตามแต่เศรษฐกิจไทยก็ยังอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ และมีปัจจัยเชิงลบที่เชื่อได้ว่า การขยายตัวในปีนี้จะอยู่ที่ 2% บวก/ลบ สิ่งสำคัญคือ รัฐบาลน่าจะส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ มาตรการเที่ยวคนละครึ่งน่าจะมี และเชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง เพราะเงินเฟ้อทั่วไปยังต่ำอยู่ และใช้นโยบายการคลังออกมากระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องด้วย