‘คลัง‘ จ่อหั่น GDP ปี 68 รับผลกระทบแผ่นดินไหว-ภาษีทรัมป์

สศค. เตรียมแถลงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 68 หั่นตัวเลข GDP เดิมคาดขยายตัว 2.5-3.5% หลังไตรมาส 1 เผชิญปัจจัยลบต่อเนื่อง แผ่นดินไหวตึกถล่ม และภาษีทรัมป์
KEY
POINTS
- มาตรการภาษีของทรัมป์ถือเป็นแรงกระแทกทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจโลก
- ประเทศไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกอย่างมากมีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
- ผลกระทบต่อไทยยังไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับการเจรจากับสหรัฐฯ และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจโลกและไทยกำลังเกิดความตกใจ (shocks) อย่างรุนแรงจากการประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เพื่อการจัดระเบียบการค้าโลกใหม่
ซึ่งแม้จะมีการประกาศเลื่อนการเก็บภาษีจริงออกไปอีก 90 วัน จากเดิมที่จะบังคับใช้วันที่ 9 เม.ย.2568 แต่การต่อสู้สงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจ สหรัฐ-จีน กลับยิ่งดุเดือดขึ้น
นายพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า นโยบายภาษีของทรัมป์ ถือเป็นแผ่นดินไหวในระดับรุนแรงของเศรษฐกิจโลก โดย สศค.คาดว่าหลังจากการขึ้นภาษีมีผลบังคับใช้ จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง จากที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3.2% ลดลงเหลือ 2.8%
ซึ่งประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างมาก และมีโอกาสที่ไทยอาจจะมี GDP ติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทางเทคนิค (Technical Recession)
โดย สศค.จะมีการแถลงประมาณการเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2568 วันที่ 28 เม.ย.นี้ ซึ่งถือเป็นหน่วยงานเศรษฐกิจแรกที่จะมีการคาดการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก 2 ปัจจัยลบสำคัญ คือเหตุการณ์แผ่นดินไหวตึกถล่ม และการประกาศภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐ กำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย 36%
”ทั้งนี้ ปัจจัยลบทั้งสองอย่างเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในแง่ของความเชื่อมั่น ซึ่งการประเมินครั้งนี้จะมีการปรับตัวเลข GDP ลงด้วย“
โดยก่อนหน้านี้ สศค. มีการประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 ณ วันที่ 30 ม.ค.2568 ว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.5%–3.5%) จาก 4 ปัจจัยบวก ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชน การส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน
อย่างไรก็ตาม สศค. มองว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังมีความไม่แน่นอน สูง ซึ่งยังขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับทางสหรัฐ
โดยรัฐบาลอยู่ระหว่างการเตรียมมาตรการเรียกความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจหลังจากนี้ ซึ่งในส่วนของกระทรวงการคลังเตรียมมาตรการด้านสินเชื่อ ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ EXIM BANK ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ
“หากสหรัฐเก็บภาษีตามที่ประกาศไว้ก็ถือว่าเป็นจุดต่ำสุดที่คาดการณ์ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาลไทยอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อไปเจรจากับสหรัฐ ซึ่งหากผลลัพธ์ออกมาดี ความเชื่อมั่นก็อาจกลับมา ผลกระทบอาจไม่รุนแรงเท่าที่ประเมินในวันนี้ บวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐเข้ามาช่วยด้วย”
โดยเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุน อาทิ ภาคการท่องเที่ยวแม้จะมีตกใจจากเหตุแผ่นดินไหวบ้างเล็กน้อย การจัดเก็บรายได้รัฐที่ยังเป็นไปตามเป้าหมาย ราคาสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกรที่ยังขยายตัว
“ขณะที่ในส่วนของภาคการส่งออกอยู่ระหว่างการจับตาสถานการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบเพียงใดจากการขึ้นภาษีของทรัมป์ หากการส่งออกได้รับผลกระทบมากจะส่งผลลบต่อตัวเลข GDP มาก”
ขณะที่ หากส่งออกไม่ได้รับผลกระทบมากอย่างที่คิด รวมทั้งมีมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ บวกกับสถานการณ์ที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนและช่วยส่งเสริมการส่งออกได้ เศรษฐกิจก็จะได้รับผลกระทบไม่มาก
ทั้งนี้ สมมุติฐานที่นำมาคำนวณในโมเดลคาดการณ์ ยังคงเป็นตัวเลขการส่งออกของเดือนมี.ค. ซึ่งจะออกมาในช่วงปลายเดือนเม.ย. ซึ่งตัวเลขดังกล่าวจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากการประกาศขึ้นภาษีของสหรัฐ จึงเป็นความท้าทายของนักเศรษฐศาสตร์ในการพยากรณ์เศรษฐกิจ
เมื่อถามว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งต่อไป ควรปรับลดดอกเบี้ยหรือไม่ นายพงศ์นคร กล่าวว่า สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินขึ้นอยู่กับการดุลพินิจของ กนง. ซึ่งก็ควรเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับนโยบายการคลังด้วย
นายพงศ์นคร กล่าวต่อว่า การปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจในครั้งนี้ จะส่งผลให้ต้องมีการทบทวนแผนการคลังระยะปานกลางในปีงบประมาณ 2569-2572 จากฐานการขยายตัวเศรษฐกิจที่ต่ำลงกว่าเป้าหมายเดิม ที่คาดว่า GDP ปี 2569-2571 จะขยายตัวในกรอบ 2.3-3.3% มีค่ากลางที่ 2.8% และปี 2572 ขยายตัว 2.5-3.5% ค่ากลางที่ 3%
“การประกาศขึ้นภาษีของสหรัฐในครั้งนี้อาจไม่ใช่ภาวะช็อกทางเศรษฐกิจชั่วคราว แต่อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง”