เปิดโมเดลปั้น M-Map2 รถไฟฟ้าทะลุตึก – สถานีลึกใต้เมืองเก่า

เปิดโมเดลปั้น M-Map2 รถไฟฟ้าทะลุตึก – สถานีลึกใต้เมืองเก่า

เปิดแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า M-Map2 เผย 4 เส้นทางที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และพร้อมดำเนินการทันที เล็งศึกษาแนวเส้นทางพัฒนาทั้งรถไฟฟ้าทะลุตึก และสถานีลึกใต้เมืองเก่า

KEY

POINTS

  • “กรมการขนส่งทางราง” เปิดแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า M-Map2 เผยกลุ่ม A1 เส้นทางที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และพร้อมดำเนินการทันทีมี 4 เส้นทาง
  • ระบุเป้าหมายศึกษาเส้นทางต้องเชื่อมต่อรถไฟฟ้าในปัจจุบัน และเกิดประโยชน์เข้าถึงผู้ใช้บริการ พร้อมวางแนวพัฒนาทั้งรถไฟฟ้าทะลุตึก และสถานีลึกใต้เมืองเก่า

กรมการขนส่งทางราง อัพเดตโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งทางราง โดยพบว่าปัจจุบันโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเปิดให้บริการแล้ว 13 โครงการ ระยะทางรวม 276.84 กิโลเมตร รวมจำนวน 160 สถานี ขณะเดียวกันกรมฯ ยังอยู่ระหว่างศึกษาแผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP2) เพื่อพัฒนาโครงข่ายใยแมงมุมนี้ให้สมบูรณ์ ครอบคลุมและเชื่อมต่อการเดินทาง กลายเป็นขนส่งสาธารณะหลักของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อย่างไรก็ดี กรมการขนส่งทางรางได้ศึกษาความเหมาะสมของการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า M-MAP2 โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่ม A1 : เส้นทางที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและพร้อมดำเนินการทันที มี 4 เส้นทาง ประกอบด้วย

1.รถไฟฟ้าสายสีแดง เส้นทางรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

2.รถไฟฟ้าสายสีแดง เส้นทางตลิ่งชัน-ศาลายา

3.รถไฟฟ้าสายสีแดง เส้นทางตลิ่งชัน-ศิริราช

4.รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เส้นทางแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม)

เปิดโมเดลปั้น M-Map2 รถไฟฟ้าทะลุตึก – สถานีลึกใต้เมืองเก่า

กลุ่ม A2: เส้นทางที่มีความจำเป็น แต่ต้องเตรียมความพร้อมก่อน และคาดว่าดำเนินการภายในปี 2572 จำนวน 6 เส้นทาง ประกอบด้วย

1.สายสีแดง บางซื่อ-หัวลำโพง

2.สายสีเขียว สนามกีฬาแห่งชาติ-ยศเส

3.สายสีเขียว บางหว้า-ตลิ่งชัน

4.สายสีแดง วงเวียนใหญ่-บางบอน

5.สายสีเงิน บางนา-สุวรรณภูมิ

6.รถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล-ทองหล่อ

เปิดโมเดลปั้น M-Map2 รถไฟฟ้าทะลุตึก – สถานีลึกใต้เมืองเก่า

กลุ่ม B : เส้นทางที่มีศักยภาพ ซึ่งผ่านการศึกษาความคุ้มค่าไปแล้ว รวมถึงเส้นทางใหม่ที่มีปริมาณผู้โดยสารถึงเกณฑ์ที่จะพัฒนาเป็นระบบรถไฟฟ้าและรอการพิจารณาเพิ่มเติมในปี 2572 มีทั้งหมด 9 เส้นทาง ประกอบด้วยเส้นทาง ได้แก่

1.รถไฟฟ้าสายสีฟ้า ดินแดง-สาทร

2.รถไฟฟ้าสายสีเขียว คูคต-วงแหวนรอบนอก

3.รถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล-ลำลูกกา

4.รถไฟฟ้าสายสีเทา พระโขนง-ท่าพระ

5.รถไฟฟ้าสายสีแดง หัวลำโพง-วงเวียนใหญ่

6.รถไฟฟ้าสายสีแดง บางบอน-มหาชัย-ปากท่อ

7.รถไฟฟ้าสายสีเขียว เคหะฯ-ตำหรุ

8.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางแค-พุทธมณฑล สาย 4  

9.รถไฟฟ้าสายสีเขียว ตลิ่งชัน-รัตนาธิเบศร์

เปิดโมเดลปั้น M-Map2 รถไฟฟ้าทะลุตึก – สถานีลึกใต้เมืองเก่า

กลุ่ม C : เส้นทาง Feeder รองรับโครงข่ายหลัก เป็นโครงการที่จะมีการพัฒนาเส้นทางเพื่อพัฒนาโครงการตามแผนการพัฒนาโครงข่ายขนส่งมวลชนระบบราง คาดว่าจะมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 343.7 กิโลเมตร

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เผยว่า M - Map 2 จะเป็นแผนพัฒนาสำคัญที่กำหนดทิศทางของระบบรางในอนาคต เพิ่มความสะดวกในการเดินทาง ลดภาระจราจรบนถนน และทำให้การขนส่งมวลชนเป็นทางเลือกหลักของประชาชน ซึ่งการขยายโครงข่ายรถไฟฟ้านี้ กรมฯ ยังศึกษาถึงความเหมาะสมของแนวเส้นทางที่ต้องเชื่อมต่อรถไฟฟ้าในปัจจุบัน และต้องเกิดประโยชน์เข้าถึงผู้ใช้บริการ

โดยมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาแนวเส้นทางหรือสถานีรถไฟฟ้าทะลุตึก ที่อยู่ภายในอาคารสูงใจกลางชุมชน เหมือนสถานีรถไฟ Liziba Station ของมหานครฉงชิ่ง ที่ออกแบบแนวเส้นทางเป็นรถไฟทะลุตึก และมีสถานีอยู่ภายในอาคารพาณิชย์ตึกสูง และเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชน รวมทั้งกรมฯ ยังอยู่ระหว่างศึกษานำโมเดลการพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าที่มีความลึกเป็นพิเศษ เพื่อรองรับการพัฒนาแนวรถไฟฟ้าที่พาดผ่านเมืองเก่า ย่านสถาปัตยกรรมโบราณต่างๆ