พาณิชย์ วางกลยุทธิ์ ”ผลไม้ไทย” 9.5 ล้านตัน เจาะตลาดไทย ตลาดโลก

พาณิชย์ เผยปี 67 ปีทอง” ของ “ผลไม้ไทย” ส่งออกมูลค่า 6,510.6 ล้านดอลลาร์ ส่วนปี 68 วาง 7 มาตรการ 25 แผนงาน เจาะตลาดไทย ตลาดโลก
KEY
POINTS
Key Point
- ปี 67 ไทยส่งออกผลไม้ ทั้งแบบสด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง รวมมูลค่า 6,510.6 ล้านดอลลาร์
- “ทุเรียน ” ส่งออก 859,183 ตัน มูลค่า 3,755.7 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 72.9% ของมูลค่าการส่งออกผลไม้สดทั้งหมดของไทย
- ปี 68 ผลผลิตรวมของผลไม้ไทยคาดว่าจะมีปริมาณ 6.736 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.858 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น15%
- พาณิชย์ วาง 7 มาตรการ 25 แผนงาน ระบายผลไม้ 9.5 แสนตันทั้งบริโภคและส่งออก
- ตลาดจีน ครองอันดับ 1 ตลาดส่งออกผลไม้ไทย
- กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศวาง 4 กลยุทธ์ เจาะตลาดทุเรียนในจีน
ปี 67 ถือเป็น “ปีทอง” ของ “ผลไม้ไทย” โดยไทยส่งออกผลไม้ ทั้งแบบสด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง รวมมูลค่า 6,510.6 ล้านดอลลาร์ สูงกว่ามูลค่าการส่งออกเฉลี่ยในข่วง 5 ปีที่ผ่านมา ( 5,855.7 ล้านดอลลาร์) คิดเป็นสัดส่วน 22.6% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดของไทย เฉพาะการส่งออกผลไม้สด มีมูลค่า 5,149.4 ล้านดอลลาร์
โดยผลไม้ที่ส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของไทย คือ “ทุเรียน ” มีปริมาณการส่งออก 859,183 ตัน มูลค่า 3,755.7 ล้านดอลลาร์มีสัดส่วนถึง 72.9% ของมูลค่าการส่งออกผลไม้สดทั้งหมดของไทย
ตลาดส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.จีน สัดส่วน 97.4% ของมูลค่า การส่งออกทุเรียนสดของไทย 2.ฮ่องกง 1.3% 3. เกาหลีใต้ 0.3% 4. มาเลเซีย 0.2% และ 5.สหรัฐอเมริกา 0.2%
สำหรับปี 68 กระทรวงพาณิชย์หวังว่า ปีนี้จะเป็นปีทองของผลไม้ไทยต่อเนื่อง โดยปีนี้ผลผลิตรวมของผลไม้ไทยคาดว่าจะมีปริมาณ 6.736 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.858 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น15%
ผลผลิตผลไม้สำคัญ 9 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน ลำไย มะม่วง สับปะรด มังคุด ส้มเขียวหวาน เงาะ ลองกอง และลิ้นจี่ คาดว่า จะมีประมาณ 6.736 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15% โดยทุเรียนเพิ่มขึ้นมากสุด ผลผลิต 1.767 ล้านตัน เพิ่ม 37% ลำไย 1.456 ล้านตัน เพิ่ม 1% มะม่วง 1.306 ล้านตัน เพิ่ม 10% สับปะรด 1.343 ล้านตัน เพิ่ม 17% และมังคุด 2.79 แสนตัน เพิ่ม 2%
ผลผลิตผลไม้ทั้งหมด แบ่งเป็นการบริโภคสด 65% และแปรรูป 35% เป็นการส่งออก 74% ในจำนวนนี้เป็นส่งออกแบบสด 62% และแปรรูป 38% และบริโภคในประเทศ 26% ในจำนวนนี้เป็นการบริโภคแบบสด 73% และแปรรูป 27% โดยลำไย ส่งออกมากถึง 91% บริโภคในประเทศเพียง 10% มังคุดส่งออก 82% บริโภคในประเทศ 18%
สับปะรด ส่งออก 78% บริโภคในประเทศ 22% ทุเรียน ส่งออก 75% บริโภคในประเทศ 25% ลิ้นจี่ ส่งออก 20% บริโภคในประเทศ 80% มะม่วง ส่งออก 16% บริโภคในประเทศ 84% ลองกอง ส่งออก 15% บริโภคในประเทศ 85% เงาะ ส่งออก 8% บริโภคในประเทศ 92% และส้ม ส่งออก 1% บริโภคในประเทศ 99%
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าผลไม้สด และแปรรูป 2 % มูลค่า 3 แสนกว่าล้านบาท และผลไม้สด ตั้งเป้าส่งออก 3 % มูลค่า 1.8 แสนล้านบาท
ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมประชุมกับผู้แทนเกษตรกร สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง โลจิสติกส์ และสถาบันการเงิน เพื่อร่วมกันผลักดันมาตรการเชิงรุกก่อนที่ผลผลิตฤดูกาลใหม่จะออกสู่ตลาด โดยมีเป้าหมายช่วยระบายผลผลิตผลไม้ 950,000 แสนตัน ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ วาง 7 มาตรการ 25 แผนงาน
อาทิ มาตรการสร้างความเชื่อมั่นผลผลิต ได้แก่ เร่งตรวจและรับรองแปลง GAP 120,000 แปลง Set Zero สร้างความเชื่อมั่นผลไม้ไทย ตั้งวอร์รูมผลักดันการส่งออกผลไม้ไทย ตั้งชุดเฉพาะกิจเจรจาจีน , มาตรการส่งเสริมตลาดในประเทศ ได้แก่ เชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า 150,000 ตัน กระจายออกนอกแหล่งผลิต 90,000 ตัน สนับสนุนค่าบริหารจัดการผลไม้ระหว่างประเทศ 100,000 ตัน จัดรณรงค์บริโภคผลไม้ (Thai Fruits Festival) 346,500 ตัน สนับสนุนบรรจุภัณฑ์เพื่อการค้า Online-Offline 3,500 ตัน ยกระดับสร้างอัตลักษณ์ผลไม้ไทย (GI) 5 สินค้า
มาตรการส่งเสริมตลาดต่างประเทศ ได้แก่ จัดมหกรรมการค้าชายแดน เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 3 ภาค จับคู่ธุรกิจ เป้าหมาย 1,000 ล้านบาท ส่งเสริมการขายในต่างประเทศ เป้าหมาย 254 ล้านบาท และ ร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ เป้าหมาย 9,458 ล้านบาท เป็นต้น
สำหรับ“ตลาดจีน” ที่ถือเป็น ตลาดสำคัญผลไม้ไทยที่ไทยจะต้องรั้งตำแหน่งตลาดส่งออกผลไม้อันดับ 1 ของไทย ให้ได้ โดยเฉพาะ”ทุเรียน” ที่ไทยครองแชมป์ส่งออกไปจีนอันดับ 1 เนื่องจากผู้บริโภคจีนยังคงให้ความนิยมทุเรียนไทยสูง โดยเฉพาะ พันธุ์หมอนทองและพวงมณี ที่ได้รับการยอมรับด้านรสชาติและคุณภาพ
จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผยว่า ปี 2567 ไทยส่งออกทุเรียนสดไปจีน 833,000 ตัน มูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์ และแนวโน้มยังเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเมืองรองและพื้นที่ทางตอนเหนือของจีน
อย่างไรก็ตาม ไทยกำลังเผชิญการแข่งขันจากคู่แข่งที่เพิ่มขึ้นในตลาดจีน เช่น ทุเรียนสด ไทยได้รับการอนุญาตให้นำเข้าจีนได้อย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2546 แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จีนเริ่มอนุญาตการนำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียด้วย
นอกจากนี้ยังมีเรื่องกฎระเบียบการนำเข้าของจีนที่มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการด้านสุขอนามัย รวมทั้งการขนส่งโลจิสติกส์ และผลผลิตผลไม้ในปีนี้ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น 15 % เมื่อเทียบกับปี 67 ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ไทยในปี 2568
“สุนันทา กังวานกุลกิจ” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง แผนการการส่งออกส่งออก”ทุเรียน” ไปยังตลาดจีน ว่า DITP ได้เตรียมแผนสร้างภาพลักษณ์ “ทุเรียนไทย” ในตลาดจีนอย่างเต็มกำลัง โดยจะใช้กลยุทธ์ครบวงจร 4 กลยุทธ์สำคัญ
ประกอบด้วย มุ่งสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของทุเรียนไทย ขยายช่องทางการค้าผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ผลักดันการขายผ่านงานแสดงสินค้า และจัดกิจกรรมกระตุ้นการบริโภค เพื่อเพิ่มศักยภาพการส่งออกและขยายตลาดอย่างยั่งยืน ผลักดันให้ทุเรียนไทยสามารถขยายตลาดในจีนได้อย่างต่อเนื่อง และสร้างความจงรักภักดีต่อแบรนด์ผลไม้ไทยในระยะยาว
นอกจากนี้ DITP ยังมีแผนเดินหน้าขยายตลาดผลไม้สดและแปรรูปไปยัง 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ตลาดศักยภาพ อาทิ ฮ่องกง มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ไต้หวัน และสหราชอาณาจักร ตลาดส่งเสริมภาพลักษณ์ เช่น ตะวันออกกลางและเอเชียใต้ และตลาดที่สะดวกต่อการขนส่ง CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม โดยในปี 2568 มีแผนงาน 6 ด้าน รวม 32 โครงการ เช่น การจับคู่เจรจาธุรกิจสินค้าผลไม้ การส่งเสริมการขายในต่างประเทศ การใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และการสนับสนุนผู้ประกอบการผ่านงานแสดงสินค้านานาชาติ
การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปริมาณผลผลิต และการวางกลยุทธ์การส่งออกผลไม้ไทย ถือเป็นจุดเริ่มที่ดีเพื่อป้องกันปัญหาผลผลิตล้นตลาด ส่งผลให้ราคาตกต่ำ รวมทั้งการผลักดันการส่งออกผลไม้ไทยให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้