พาณิชย์ เร่งเครื่องเจรจา FTA ไทย-อียู สร้างแต้มต่อการค้า

“พิชัย” ถก กรรมาธิการยุโรปด้านการค้า-ทูต EU เร่งเครื่องเจรจา FTAไทย-อียู ตั้งเป้าได้ข้อสรุป 25 ธ.ค. 68 เชื่อมตลาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ สร้างแต้มต่อการค้า-การลงทุนให้ประเทศ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ตนได้หารือผ่านระบบประชุมทางไกลกับ นายมารอส เซฟโควิช (H.E. Mr. Maroš Šefčovič) กรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร และความโปร่งใส เพื่อผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยและสหภาพยุโรป (EU) ตามนโยบายของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่กำชับให้กระทรวงพาณิชย์เร่งสรุปการเจรจาภายในปีนี้ เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อตกลงนี้ ในการขยายตลาด ลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ และดึงดูดนักลงทุนจากยุโรปให้มากขึ้น
โดยทั้งสองฝ่ายได้แสดงจุดยืนร่วมกันว่า การเป็นพันธมิตรทางการค้าที่ไว้ใจได้และมีเสถียรภาพ” (trusted and predictable) ผ่านการจัดทำ FTA เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ไทยและ EU มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจส่งผลต่อข้อกำหนดในข้อตกลง FTA ซึ่ง ความยืดหยุ่นและความช่วยเหลือทางวิชาการจาก EU จะมีส่วนช่วยให้การเจรจาประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น
นายพิชัย กล่าวว่า EU เป็นตลาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่และเป็นพันธมิตรทางการค้ารายสำคัญของไทย หากสามารถสรุปผลการเจรจา FTA ได้ จะช่วยสร้างแต้มต่อให้สินค้าไทยในการแข่งขันระดับโลก ลดต้นทุนการผลิต ดึงดูดการลงทุน และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย
ขณะนี้ การเจรจา FTA ไทย-EU ดำเนินไปแล้ว 4 รอบ โดยสามารถสรุปผลการเจรจาได้ 2 บท และเริ่มหารือเรื่องการเปิดตลาดสินค้าและบริการแล้ว สำหรับการเจรจารอบที่ 5 ฝ่าย EU จะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 31 มี.ค. – 4 เม.ย.2568 โดยไทยกับอียูจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถบรรลุผลการเจรจา FTA ภายในวันที่ 25 ธ.ค. 2568
“แม้ว่าการเจรจา FTA ฉบับนี้จะซับซ้อนและมีประเด็นใหม่ๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ พลังงานและวัตถุดิบ รัฐวิสาหกิจและการอุดหนุน การแข่งขันทางการค้า และระบบอาหารที่ยั่งยืน แต่กระทรวงพาณิชย์จะทำงานอย่างแข็งขัน ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และหารือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การเจรจาบรรลุผลและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ ผู้ประกอบการ เกษตรกร และผู้บริโภคไทย”นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวว่า การเร่งสรุป FTA ไทย-EU ไม่ใช่แค่การเพิ่มมูลค่าการค้า แต่เป็นก้าวสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจไทย โดยไทยจะใช้ประโยชน์จากข้อตกลงนี้เพื่อขยายตลาด ลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ และดึงดูดนักลงทุนจากยุโรปให้มากขึ้น ซึ่ง FTA ไทย-EU จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และช่วยให้ไทยปรับตัวได้ดีขึ้นต่อการแข่งขันในเวทีโลก
นอกจากการหารือกับกรรมาธิการยุโรป ตนยังได้พบปะ นายเดวิด เดลี (H.E. Mr. David Daly) เอกอัครราชทูต EU ประจำประเทศไทย เพื่อหารือประเด็นการค้าอื่นๆ อาทิ กระบวนการระงับข้อพิพาทในองค์การการค้าโลก (WTO) การนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยไปยังตลาด EU ความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) การเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการไทยในการปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่ของ EU
โดย EU เป็น คู่ค้าลำดับที่ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าการค้ารวม 43,533 ล้านดอลลาร์หรือคิดเป็น 7.17% ของการค้ารวมของไทยกับโลก ไทยส่งออกไป EU มูลค่า 24,205 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญอาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบอัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และชิ้นส่วน และไทยนำเข้าจาก EU มูลค่า 19,328 ล้านดอลลาร์ สินค้านำเข้าสำคัญ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องบินและอุปกรณ์การบินเคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรไฟฟ้า