บสย. หารือ 7 ลีสซิ่ง ไฟเขียว SME ค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะ

บสย. หารือ สถาบันการเงิน-กลุ่มลีสซิ่ง ปลดล็อก SME ซื้อรถกระบะใหม่ เดินหน้ามาตรการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อ บสย.
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย. ได้มีการหารือร่วมกับตัวแทนสถาบันการเงิน และ Non-Bank ภายใต้สถาบันการเงิน 7 แห่ง ได้แก่ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ จำกัด และหัวหน้าคณะทำงานกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ภายใต้สมาคมธนาคารไทย
ทั้งนี้ ในการประชุมได้มีการหารือถึงแนวทางพัฒนาโครงการสนับสนุนสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะใหม่ ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. เพื่อให้โครงการดังกล่าวเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้ประกอบการ ซึ่งโครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการ SME กลุ่มอาชีพที่ต้องการซื้อรถกระบะใหม่เพื่อใช้ในธุรกิจขนส่งและค้าขาย และ “กลุ่มเปราะบาง” ที่ประสบปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย.
"บสย. ขานรับนโยบายภาครัฐ ที่ต้องการกระตุ้นตลาดรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ซบเซาให้ฟื้นตัวได้อีกครั้ง นอกจากนี้ ยังช่วยปลดล็อกข้อจำกัดทางการเงินให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็กให้สามารถพลิกฟื้นธุรกิจ และสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยตลอดปีนี้"
ทั้งนี้ ทุกสถาบันการเงิน และ Non Bank ที่อยู่ภายใต้สถาบันการเงิน ที่ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะ ต่างให้การตอบรับในการเข้าร่วมมาตรการนี้ โดยเห็นร่วมกันว่ามาตรการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะใหม่ของ บสย. เป็นมาตรการที่ดีที่สามารถปลดล็อกให้ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มเกษตรกร อาชีพอิสระ
โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบ สามารถซื้อกระบะใหม่เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ ขนส่งสินค้าและธุรกิจค้าขายได้ง่ายขึ้น
“มาตรการนี้ ด้วยกลไกการค้ำประกันของ บสย. จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยชดเชยความเสี่ยง และสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินกล้าที่ปล่อยสินเชื่อให้กับ SMEs ได้มากยิ่งขึ้น ทำให้ยอดปฏิเสธสินเชื่อ (Rejection Rate) ในการซื้อรถกระบะใหม่เพื่อการพาณิชย์ลดลง เพิ่มโอกาสให้ SMEs สามารถซื้อรถกระบะใหม่เพื่อประกอบอาชีพได้ง่ายขึ้น ช่วยพลิกฟื้นธุรกิจสู่การเติบโตที่ยั่งยืน” นายสิทธิกร กล่าว