เตือนรับความเสี่ยงศก.ครึ่งหลังปี 68 สงครามการค้าลามซัพพลายเชน

เตือนรับความเสี่ยงศก.ครึ่งหลังปี 68 สงครามการค้าลามซัพพลายเชน

"ทีดีอาร์ไอ" - "เอเชียพลัส"เตือนรับความเสี่ยงเศรษฐกิจครึ่งหลังปี 68 "สงครามการค้า" ลามซัพพลายเชนธุรกิจ กระทบการลงทุน-กำลังซื้อ ห่วงเศรษฐกิจไทยไร้เครื่องมือรับมือ

มาตรการภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯที่มีความไม่แน่นอนสูง และมีการประกาศจะใช้กับทุกประเทศที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯหรือใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่สหรัฐฯมองว่าไม่เป็นธรรม กลายเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยมากขึ้น

แม้ว่าในขณะนี้สหรัฐฯยังไม่ได้ประกาศขึ้นภาษีไทยในฐานะที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯสูงเป็นลำดับที่ 11 ในบรรดาคู่ค้ากับสหรัฐฯทั้งหมด แต่ก็เกิดความกังวลและไม่มั่นใจว่าไทยจะสามารถเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯได้มากน้อยเพียงใดซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่เป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังที่ผลกระทบจากมาตรการภาษีจะมีความชัดเจนมากขึ้น และอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจในปัจจุบัน

เมื่อเร็วๆนี้ ในงานสัมมนาใหญ่ประจำปีของ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ประกอบด้วย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมอาคารชุดไทย ระหว่างการเสวนาหัวข้อปรับทิศทางอสังหาฯ 2025 วิกฤติหรือโอกาสฯตลาดอสังหาริมทรัพย์ ความท้าทายใหม่ในภาวะเปลี่ยนผ่านว่าในปี 2568 ได้มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีนี้

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย หลักทรัพย์เอเชีย พลัส จำกัด กล่าวว่าช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยถือว่าน่าเป็นห่วงจากปัจจัยสงครามการค้าที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเมื่อการค้าโลกได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าไม่ได้กระทบแค่ภาคส่งออก แต่กระทบไปยังซัพพลายเชนต่อเนื่อง เรื่องการลงทุนของธุรกิจและกำลังซื้อของคน จึงยังน่าเป็นห่วงอย่างมากว่าจะกระทบกับเศรษฐกิจไทยหนักขึ้น

“ตอนนี้ประเทศไทยเหมือนคนที่เข้าสู่สนามรบโดยมีอาวุธจำกัดมากไม่ว่าจะเป็นนโยบายการคลังที่หนี้สาธารณะใกล้จะชนเพดาน ส่วนดอกเบี้ยนโยบายก็มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือแค่ 2% ไม่น่าจะลดดอกเบี้ยลงไปมากกว่านี้ได้มากนัก”

ในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยในปี 2568 ยังอยู่ในช่วงเวลาที่ต้องเร่งระบายสต็อกจากที่มีการชะลอตัวในส่วนของยอดขายในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการลดสต็อกของผู้ประกอบการทำให้ผู้สามารถเพิ่มการถือเงินสดที่จะใช้ในการบริหารงานและบริหารโครงการในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ที่มีความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจได้ดีขึ้น

 

ทั้งนี้จากข้อมูลของบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 14 บริษัทที่มีการติดตามพบว่าการเปิดตัวโครงการใหม่ปี 2568 ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ประมาณ 3.2 แสนล้านบาท จาก 3.4 แสนล้านบาทในปีที่แล้ว ขณะที่โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจากปี 2567 ยังมียอดคงค้างสูงกว่า 8.5แสนล้านบาท

ขณะที่ในมุมมองของนางสาวกิริฏา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงมากที่สุดคือนโยบายเศรษฐกิจของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีการใช้มาตรการสงครามการค้า ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศมาตรการภาษีแล้ว

 ในส่วนของประเทศไทยก็คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยคาดว่าในวันที่ 2 เม.ย. The US Trade Representative's Office (USTR) จะมีการประกาศรายชื่อประเทศที่มีการเกินดุลการค้า และมีการใช้มาตรการในการกีดกันการค้ากับสหรัฐฯซึ่งไทยถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าข่าย ซึ่งก็จะมีการประกาศรายชื่อพร้อมมาตรการที่สหรัฐฯจะใช้ในการตอบโต้ด้วย

ทั้งนี้ในการเจรจากับสหรัฐฯก็มีความจำเป็นที่ไทยจะต้องมีการเปิดตลาดสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ลดมาตรการกีดกันการค้า โดยมีหลายสินค้าที่อยู่ในข่ายที่ไทยจะสามารถเปิดตลาดนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯได้เพิ่มเติม เช่น มอเตอร์ไซด์ รถยนต์ สินค้าเกษตร เช่น เนื้อหมู ข้าวโพด ถั่วเหลือง ไวน์ และเบียร์ ซึ่งเป็นสินค้าที่เราสามารถเจรจากับสหรัฐฯได้

นางสาวกิริฏากล่าวต่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ทีดีอาร์ไอคาดว่าจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาโดยจะขยายตัวประมาณ 2.5-3% ขณะที่ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับประมาณ 34- 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งในระหว่างปีจะมีความผันผวนมาก 

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นมองว่าจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯที่มีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อาจจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้งในปีนี้ โดยอาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งหน้า 0.25% ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยก็มีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก 1 ครั้งในปีนี้ โดยการลดอัตราดอกเบี้ยในนโยบายนั้นอาจยังไม่เพียงพอ แต่ต้องมีมาตรการในการช่วยเหลือให้มีการเข้าถึงสินเชื่อ และจูงใจให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อมากขึ้นด้วย