‘อีเทน’ เกมเชนเจอร์ ‘ปิโตรเคมี’ กลุ่ม ปตท.ลดความเสี่ยงธุรกิจ

"GC" ลงนามในสัญญานำเข้า "อีเทน" จากสหรัฐปริมาณ 400,000 ตัน ถือเป็นเกมเชนเจอร์ ธุรกิจ "ปิโตรเคมี" ให้กับกลุ่ม ปตท. ลดความเสี่ยงธุรกิจ
KEY
POINTS
- ภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน สร้างความท้าทายสำคัญ รวมทั้งปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศ ปตท. ฐานะบริษัทพลังงานไทยที่ต้องดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การลงทุนจึงต้องรอบคอบมากยิ่งขึ้น
- กลุ่ม ปตท.ลงนามเพื่อนำเข้าอีเทนจากสหรัฐมาใช้ในประเทศไทยจำนวน 400,000 ตัน เพื่อทดแทนวัตถุดิบอื่น เพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุน ความยืดหยุ่น และความยั่งยืน
- หากเปลี่ยนโรงงานจากแนฟทามาเป็นอีเทนต้องลงทุนสูง การนำเข้าจากสหรัฐจะเป็นอีกช่องทางเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ เพราะราคาถูก อีกทั้งยังสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบระยะยาว รับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น
จากปัจจัยทั่วโลกที่เผชิญทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานล้วนเป็นความท้าทายสำคัญ อีกทั้งปัจจัยเศรษฐกิจภายในประเทศ โดย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทพลังงานไทยที่ต้องดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การลงทุนจะต้องรอบคอบ และปี 2567 ปตท.ได้ปรับกลยุทธ์การลงทุนไปแล้ว
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC บริษัทในกลุ่ม ปตท.ลงนามเพื่อนำเข้าอีเทนจากสหรัฐมาใช้ในประเทศไทยจำนวน 400,000 ตัน เพื่อทดแทนวัตถุดิบอื่น เพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุน ความยืดหยุ่น และความยั่งยืน
สำหรับการดำเนินการดังกล่าวอาศัยโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว ซึ่งช่วยสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบในระยะยาวด้วยการลงทุนที่เหมาะสม จะช่วยเสริมความสามารถในการแข่งขันของ GC และการเติบโตในระยะยาว
ทั้งนี้ เนื่องจาก GC มีความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ สามารถผสานการใช้อีเทนเข้าสู่กระบวนการผลิตโดยไม่ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม อาศัยโรงงานที่มีอยู่ในจังหวัดระยอง ทำให้ไม่ต้องปรับเปลี่ยนระบบการผลิตครั้งใหญ่ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ
อีกทั้ง ยังเสริมสร้างความร่วมมือทางการค้า และเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทย และสหรัฐ ซึ่งจะช่วยสร้างสมดุลทางการค้า และขยายเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทบไม่มีโรงงานไหนที่รับอีเทนได้เลย ถ้าจะรับได้จะต้องลงทุนเพิ่มเป็นระดับหลาย 100 ล้านดอลลาร์ โดยส่วนใหญ่เป็นโรงงานแนฟทาเกือบทั้งหมด
"หากจะเปลี่ยนโรงงานจากแนฟทามาเป็นอีเทนต้องลงทุนสูง ปริมาณก๊าซในอ่าวลดลง การนำเข้าครั้งนี้จะเป็นอีกช่องทางเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ การนำเข้าครั้งนี้ต่างจากดีลก่อนที่เคยคุยกับสหรัฐคือ การไปลงทุนโรงงานที่สหรัฐ แต่วันนี้เป็นการนำเข้าวัตถุดิบที่เป็นอีเทนราคาถูก เพราะหากลงทุนต้องใช้เงินสูงจึงเปลี่ยนเป็นเอาวัตถุดิบที่ต้นทุนไม่สูงมาเพิ่มมูลค่าในไทย ยังไงก็คุ้มกว่าแนฟทาอยู่ดี
สำหรับ GC ได้ลงนามข้อตกลงการจัดหาอีเทนนำเข้าระยะยาว กับบริษัทในเครือของ Enterprise Products Partners L.P. ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายอีเทนชั้นนำของสหรัฐ ซึ่งข้อตกลงนี้ช่วยสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบระยะยาว รองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ที่มีการแข่งขันสูง
“ธุรกิจปิโตรเคมีขาลงทั่วโลก กำไรโรงกลั่นไม่ดี จึงต้องหาพันธมิตรจากทั่วโลกที่แข็งแรงมาร่วมมือกับเรา ซึ่งทั้งหมดนี้คือ ธุรกิจหลักที่ ปตท.ต้องสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ"
นอกจากนี้ ปี 2568 ปตท.เน้นสร้างความมั่นคง และเติบโต โดยลดความเสี่ยงธุรกิจ สร้างเสถียรภาพทางธุรกิจจากการที่โลกยังมีความวุ่นวาย ผันผวน รวมถึงธุรกิจที่มีอยู่ในช่วงขาลงไม่สมดุลกัน ยืนยันว่า ปตท.จะไม่ลดการลงทุนแต่การลงทุนจะดูความคุ้มทุนเพื่อสร้างการเติบโตที่ก้าวกระโดด
“ปตท.เติบโตมาจากบริษัทพลังงานชาติ จากบริบทที่เปลี่ยนไป โดยช่วง 2-3 ปีนี้การสร้างความมั่นคงไม่ง่ายจึงต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้แข็งแรง หน้าที่หลักคือ ต้องทำให้เติบโตไปด้วยกันในบริบทโลกควบคู่กับธุรกิจด้านความยั่งยืน”
ทั้งนี้ ปตท.แบ่งธุรกิจไฮโดรคาร์บอน เช่น ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่าง น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่น โรงแยก และปิโตรเคมี เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.มีกำไรจากต่างประเทศเกินครึ่ง
ส่วนธุรกิจไฟฟ้ามี บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ต้องบริหารจัดการคาร์บอน โดยปัจจุบันผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงทั้งถ่านหิน ก๊าซ และพลังงานหมุนเวียน จึงจะค่อยๆ ลดเชื้อเพลิงฟอสซิลลง
ขณะที่ธุรกิจโลว์คาร์บอน เราเคยทดลองทำรถไฟฟ้า (อีวี) ในวันที่เกิดกระแส และเมื่อคนอื่นเก่งกว่าต้องปรับตัว วันนี้จึงเน้นสถานีชาร์จผ่านบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ในสถานีน้ำมันเป็นหลัก เพราะการลงทุนที่ไม่สูงมาก”
ทั้งนี้ ปตท. จะแข็งแรงร่วมกับสังคมไทยอย่างยั่งยืน จะต้องคำนึงถึงมาตรการภาษีคาร์บอนซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จึงมีวิธีการลดหลายอย่างแต่สิ่งที่สำคัญคือ ทั่วโลกมองว่าก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่าน แม้อนาคตโลกจะเป็นพลังงานสะอาด แต่ยังต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 ปี ดังนั้น จึงต้องสร้างมูลค่าเพิ่มเกี่ยวกับก๊าซฯ ถือเป็นสิ่งที่ ปตท. ถนัด และดำเนินธุรกิจในยุคโชติช่วงชัชวาลมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ปตท.อยู่ระหว่างทบทวนเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero จากเดิมตั้งเป้าหมาย Net Zero ปี 2050 ซึ่งอาจดูภาพรวมทั้งกลุ่ม โดยความสำคัญจะอยู่ในช่วงระหว่างกลางที่จะถึงเป้าหมาย เพราะจากบริบทโลกที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะภาษีคาร์บอน จึงจะทบทวนเพราะทุกกระบวนการมีต้นทุน
สำหรับเป้าหมายความยั่งยืน นอกจากการปลูกป่า 2 ล้านไร่ ถือเป็นวิธีที่ต้นทุนถูกสุด แต่ไม่มีพื้นที่ให้ปลูกแล้ว ดังนั้น ปตท.จะดำเนิน 2 เรื่องสำคัญ คือ
1.พัฒนาเทคโนโลยี CCS ผ่าน ปตท.สผ.ที่ได้ศึกษาในแหล่งอาทิตย์แล้ว โดยต้นทุนการทำแท้จริงยังระบุไม่ได้ ซึ่งต้องรอภาครัฐกำหนดกฎหมายให้ชัดเจน ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการร่วมกันอย่างรอบคอบ
2.ไฮโดรเจน เบื้องต้นจะนำเข้าเพราะต้นทุนตะวันออกกลางดีกว่า อีกทั้งรัฐกำหนดสัดส่วนการผสมไฮโดรเจน 5% ในปี 2030 ซึ่งหากทำได้เร็วก็ทำได้
อย่างไรก็ตาม สหรัฐเห็นความคุ้มค่าแล้วโดยรัฐบาลกำหนดราคาปริมาณ CCS ที่ 85 ดอลลาร์ต่อตัน ในการเก็บคาร์บอน ดังนั้น ปตท.จะทำเรื่องนี้เพราะมีหลุมก๊าซใช้แล้ว โดย ปตท.สผ.ทำแซนด์บ็อกซ์ที่แหล่งอาทิตย์เบื้องต้น 1 ล้านตัน จากทั้งกลุ่ม ปตท.ที่ต้องกักเก็บ 5 ล้านตัน ส่วนเทคโนโลยีนิวเคลียร์ SMR อยู่ระหว่างศึกษาโดย GPSC
ทั้งนี้ ปตท.มีเป้าหมายเพื่อเสริมความแข็งแกร่งองค์กรแบ่งเป็น ระยะสั้น ประกอบด้วย
1. ปรับโครงสร้าง Non-Hydrocarbon ซึ่งธุรกิจใดไม่มีอนาคตก็ออกให้เร็วเพิ่มความคล่องตัวแล้วนำเงิน และเวลาไปทำสิ่งที่ถนัด
2.โครงการ D1-Domestic Oroducts Mgmt ซึ่งเพิ่มมูลค่าต่อยอดจากโครงการ P1 ทำกำไรเพิ่ม 3 พันล้านบาทต่อปีภายใน 3 ปี
3.นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดต้นทุนผ่านแนวคิด MissionX-Operational Excellence เพื่อเพิ่ม EBITDA กลุ่ม ปตท.กว่า 3 หมื่นล้านบาท ภายใน 3 ปี
4.Digital Transformation เพิ่มรายได้กว่า 2 พันล้านบาทต่อปี ภายใน 2 ปี
ระยะกลาง โดยจะทำการ Reshape P&R Portfolio และเดินหน้า LNG Hub เพราะปัจจุบันไทยนำเข้า LNG รวม 10 ล้านตัน ซึ่งมองว่ายังมีดีมานด์ จึงมองว่าวิธีการเทรดดิ้งจะสร้างผลกำไรได้หลักแสนล้านบาท โดยอาจจะต้องสร้างคลังเพิ่มเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นการสนับสนุนให้อีก 30-40 ปีข้างหน้าธุรกิจกลุ่ม ปตท.จะอยู่ได้โดยไม่ต้องขวนขวายสิ่งที่ไม่ถนัด
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์