บีโอไอ ผนึก 3 หน่วยงาน เสริมแกร่งโครงสร้างพื้นฐานไทย จุดหมายลงทุน

“บีโอไอ” ผนึกกำลัง 3 หน่วยงาน เสริมแกร่งโครงสร้างพื้นฐาน ไฟฟ้าพลังงานสะอาด และดิจิทัล อำนวยความสะดวกลงทุน พร้อมเตรียมบุคคลากรทักษะสูงรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวในวงเสวนาในหัวข้อ “การขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมใหม่” ภายในงาน Ignite Thailand: Invest in Endless Opportunities สัมมนาใหญ่ประจำปีของบีโอไอ ว่า ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ มุ่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมโครงการที่สร้างประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและมีมูลค่าสูง
นอกจากนี้ จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลงทุนสร้างฐานผลิตในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น การพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมใหม่ อย่างเซมิคอนดักเตอร์ PCB ดิจิทัล และ AI
รวมถึง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะดิจิทัล การลดข้อจำกัดของกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการยกระดับพัฒนา Supply Chain ของอุตสาหกรรมใหม่ให้แข็งแกร่งรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคต
“แนวโน้มสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น ประเทศไทยเตรียมพร้อมรองรับผลกระทบ และทำให้มั่นใจว่าโครงการที่ได้รับการส่งเสริม ต้องมีกระบวนการผลิตในสาระสำคัญเกิดขึ้นจริงภายในประเทศ และไม่มีการสวมสิทธิ พร้อมส่งเสริมให้มีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ รวมถึงการร่วมทุนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ผลิตไทย
นอกจากนี้ บีโอไอได้ทำงานร่วมกับกระทรวงการคลังเพื่อลดผลกระทบจาก Global Minimum Tax โดยให้เครดิตภาษี จากการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น ด้านวิจัยและพัฒนา ด้านการพัฒนาบุคลากร ด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนมีภาระภาษีลดลง” นายนฤตม์ กล่าว
นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการเติบโตบนพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัล โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2570 มูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัล จะมีสัดส่วน 30% ของจีดีพี และก้าวขึ้นไปอยู่ในอันดับ 30 ของประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของโลก
ซึ่งในปี 2567 ไทยอยู่ในอันดับที่ 37 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน โดยปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทยอยู่ในอันดับต้นๆ จากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
กระทรวงดีอี พร้อมสนับสนุนความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นจุดหมายด้านการลงทุน โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในหลาย ๆ ด้าน เช่น นโยบาย “Cloud First” เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางข้อมูลและบริการคลาวด์ของภูมิภาค การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI รวมทั้งมีการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อสนับสนุนการลงทุน เช่น การทำธุรกรรมออนไลน์ สิทธิพิเศษด้านภาษี และการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้เตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ของโลกการลงทุน โดยเฉพาะความผันผวนด้านพลังงานของโลก โดยแผน PDP ฉบับใหม่ ได้เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด จาก 22.6% ในปี 2567 เป็น 51% ในปี 2580 หรือเพิ่มขึ้น 63,867 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ ได้เตรียมแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมสีเขียว โดยใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการยกระดับพลังงานไทย เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่ (Grid Modernization) รองรับการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าของไทยให้มีความมั่นคง มีราคาที่เหมาะสม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
รวมถึงอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการจัดทำ Direct PPAใน 2 รูปแบบ รูปแบบแรก คือ กลไกการจัดหาพลังงานสะอาด (Utility Green Tariff: UGT)สำหรับภาคอุตสาหกรรมผ่านการไฟฟ้า รูปแบบที่สอง เปิดให้เอกชนซื้อไฟฟ้าผ่านบุคคลที่สาม(Third Party Access: TPA) โดยมีโครงการนำร่องในการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จำนวน 2,000 เมกะวัตต์ให้กับธุรกิจ Data Center
นายศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า อว. ได้เตรียมแผนพัฒนาบุคลากรรองรับการสร้างอุตสาหกรรมอนาคต โดยมีเป้าหมายใน 5 ปี จะผลิตบุคลากรในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงจำนวน 80,000 คน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 150,000 คน และ AI 50,000 คน ผ่านการ Upskill/Reskill การจัดหลักสูตรพิเศษ Sandbox และการให้ทุนวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
รวมทั้งมีแพลตฟอร์มการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง STEM One-Stop Service ที่ร่วมกับบีโอไอในการให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนที่มีการลงทุนพัฒนาบุคคลในอุตสาหกรรมเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังมีกลไกของกองทุนวิจัยที่สนับสนุนการพัฒนานักวิจัยเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต