‘พีระพันธุ์’ ปัดสั่ง กฟผ.ยกเลิกประมูลขนถ่านหินแม่เมาะ สั่งเคลียร์ให้ถูกต้อง

“พีระพันธุ์” สั่ง กฟผ.เคลียร์ประมูลขนถ่านหินเหมืองแม่เมาะให้ถูกต้อง ชี้จัดซื้อจัดจ้างหละหลวม ไม่มีความจำเป็นต้องประมูลด้วยวิธีการพิเศษ โดนคู่กรณีใช้สิทธิตามกฎหมาย พบข้อมูล กฟผ.ยังมีสต๊อกสำรองถ่านหินอีกมาก
นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทำหนังสือถึงผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ้ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงวันที่ 7 มี.ค.2568 เรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีงานจ้างเหมาชุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะของ กฟผ.พร้อมกับส่งสรุปรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ ของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีงานจ้างเหมาชุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะของ กฟผ.เพื่อให้พิจารณาดำเนินการตามความถูกต้องเหมาะสมและตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะกำกับดูแลการไฟฟ้าฝ้ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีงานจ้างเหมาชุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะของ กฟผ.เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2567 นั้น บัดนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว
รวมทั้งในหนังสือดังกล่าวได้ขอให้ผู้ว่า กฟผ.พิจารณาดำเนินการตามความถูกต้องเหมาะสมและตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ตรวจสอบรายงานของคณะกรรมการฯ ประกอบข้อเท็จจริงต่างๆ แล้ว เห็นว่ามีประเด็นที่เป็นข้อสังเกตโดยสรุป ดังนี้
1.กรณีความจำเป็นเร่งด่วนของการจัดจ้าง ปรากฏสาเหตุที่ กฟผ.อ้างว่าต้องดำเนินการจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะตามสัญญาโดยเร่งด่วน เพราะมติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2567 ซึ่งเมื่อตรวจสอบมติ กพช.ดังกล่าว
พบว่ามีสาเหตุมาจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2565 พิจารณาการเลื่อนแผนการปลดเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8-11 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2568 เนื่องจากคาดการณ์ราคาก๊าชธรรมชาติเหลว (LNG) มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงจนถึงปี 2568 หรือปี 2569 เพราะเหตุสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไม่ข้อยุติ
รวมทั้งหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย โดยอุปทานเพิ่มเติมจากโครงการผลิต LNG ยังคงจำกัด เพราะการลงทุนก่อสร้างโครงการผลิตใหม่ลดลง
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามมติ กพช.ดังกล่าวจะส่งผลให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น 2 ล้านตัน ซึ่งไม่เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 จากเหตุดังกล่าวเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของ กฟผ.จึงเสนอให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างชุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะโดยวิธีพิเศษ เป็นสัญญาที่ 8/1 แต่มีข้อขัดข้องหลายประการจึงทำให้ล่าช้า
โดยเฉพาะประเด็นใช้วิธีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาเดิม (สัญญาที่ 4 และสัญญาที่ 9) หรือต้องดำเนินการจัดจ้างใหม่ รวมทั้งหากต้องจัดจ้างใหม่จะดำเนินการโดยวิธีใด และเป็นกรณีเช่นใด
อย่างไรก็ตามจากความล่าช้าในการดำเนินการดังกล่าวทำให้ปรากฎข้อเท็จจริงว่าสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับราคาและการขาดแคลนก๊าซที่จะนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าตามการคาดการณ์ของ กบง.ในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๕ มิ.ย.2565 ที่ให้เสนอต่อ กพช.เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2565 นั้น ไม่เกิดขึ้นจริง
ดังนั้น เหตุฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนตามข้อเสนอของ กบง.จึงผ่านพ้นไปแล้ว เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะโดยวิธีพิเศษจึงหมดสิ้นไปแล้ว ซึ่งควรเสนอ กพช.ให้ทราบสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อที่ กพช.จะพิจารณามีมตีในเรื่องนี้ใหม่ แต่กลับไม่มีการดำเนินการเช่นนั้น
อีกทั้งมีข้อมูลน่าเชื่อได้ว่า กฟผ.ยังคงมีสต๊อกสำรองถ่านหินปริมาณมากพอสมควร
นอกจากกรณีข้างต้นแล้วปรากฏว่า ในการประชุม กพช.เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2565 มีมติเห็นชอบให้ กฟผ.นำโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 4 กลับมาผลิตไฟฟ้าในช่วงปี 2565-2568 ซึ่งหากนับระยะเวลาที่คณะกรรมการ กฟผ.จะอนุมัติให้ว่าจ้างชุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะเมื่อปลายปี 2567 แล้ว ก็เหลือเวลาเพียง 1 ปี ต้องยกเลิกการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าว
รวมทั้งหากพิจารณาตาม PDP 2018 Revision 1 กำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญามีอัตราสูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของระบบอยู่แล้ว ดังนั้น ปริมาณงานที่จะว่าจ้างให้ชุด-ขนถ่านหินตามสัญญาที่ 8/1 ดังกล่าว ย่อมมีปริมาณที่มากเกินความจำเป็นอีกด้วย ดังนั้น จึงไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการว่าจ้างโดยวิธีพิเศษอีกต่อไป
2.การว่าจ้างชุดขนถ่านหินแม่เมาะสามารถดำเนินการได้ โดยการเปิดประมูลตามปกติ กฟผ.มีสายงานที่รับผิดชอบในส่วนเหมืองแม่เมาะเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว จึงอยู่ในวิสัยที่ กฟผ.จะทราบความจำเป็นที่จะต้องว่าจ้างชุด-ขนถ่านหินได้ล่วงหน้า ซึ่งทำให้วางแผนและเตรียมการเปิดประมูลขุด-ขนถ่านหินแบบกรณีปกติได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีพิเศษ เพราะตามเงื่อนไขสัญญาที่ 4 จะสิ้นลงช่วงสิ้นปี 2568
ทั้งนี้ หาก กฟผ.จำเป็นต้องใช้ถ่านหินเพิ่มเติม กฟผ.ก็เตรียมการล่างหน้าที่จะเปิดประมูลขุด-ขนถ่านหินเพิ่มเติมได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีพิเศษ แต่กรณีที่ กฟผ.กล่าวอ้างมติ กพช.เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2565 ว่ามีกรณีจำเป็นเร่งด่วนจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน จึงเป็นเหตุที่นำมาใช้ดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีวิธีพิเศษ แต่เมื่อสถานการณ์ที่คาดการณ์ไว้ไม่เกิดขึ้นก็อยู่ในวิสัยที่ กฟผ.จะปรับแก้การดำเนินการดังกล่าวให้เหมาะสมและถูกต้องตาม PDP 2018 Revision 1 ได้
3.การพิจารณาการดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ กรณีนี้แม้มีข้อโต้แย้งจากผู้เกี่ยวข้องก็ตาม แต่โดยรูปคณะะกรรมการฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเห็นว่าเป็นข้อโต้แย้งในด้านการดำเนินการในการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งอยู่ในถ้อยความรู้ของคู่กรณีที่ไม่อาจหาข้อยุติได้สืบเนื่องจากกฎระเบียบของ กฟผ.ในกรณีการจัดซื้อจัดจ้างมีความหละหลวมหลายประการ จึงเป็นเรื่องที่คู่กรณีพึงใช้สิทธิตามกฎหมายดำเนินการต่อไปเอง