ปตท. รับสงครามการค้าโลกระอุ ปรับกลยุทธ์ลงทุน-เป้า Net Zero

ปตท. ชี้ภูมิรัฐศาสตร์เข้มข้น รีวิวเป้า Net Zero ชี้อยู่ระหว่างเจรจาพาร์ตเนอร์ร่วมทุนธุรกิจโรงกลั่น หวัง 3 ปี อีบิด้า 3 หมื่นล้าน/ปี เร่ง "CCS-ไฮโดรเจน" โตยั่งยืน
KEY
POINTS
- ปตท.ในฐานะบริษัทพลังงานไทยที่ต้องดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การลงทุนจะต้องใช้อย่างชาญฉลาด โดยปีที่แล้ว ปตท.มุ่งเน้นปรับกลยุทธ์การลงทุน
- ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และการค้าโลกที่ผันผวน ปตท.อยู่ระหว่างรีวิวเป้าหมาย Net Zero โดยความสำคัญจะอยู่ในช่วงระหว่างกลางที่จะถึงเป้าหมาย เพราะจากบริบทโลกที่เปลี่ยนไป อาจจะช้าหรือเร็วก็เป็นไปได้
- เป้าหมายความยั่งยืน นอกจากการปลูกป่า 2 ล้านไร่ ถือเป็นวิธีที่ต้นทุนถูกสุด แต่ไม่มีพื้นที่ให้ปลูกแล้ว ดังนั้น ปตท. จะดำเนินการด้วยเทคโนโลยี CCS และไฮโดรเจน
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากปัจจัยทั่วโลกที่เผชิญทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานล้วนเป็นความท้าทายสำคัญ อีกทั้งปัจจัยเศรษฐกิจภายในประเทศ ปตท.ในฐานะบริษัทพลังงานไทยที่ต้องดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การลงทุนจะต้องใช้อย่างชาญฉลาด โดยปีที่แล้ว ปตท.มุ่งเน้นปรับกลยุทธ์การลงทุนไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ปตท.อยู่ระหว่างรีวิวเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ใหม่อีกครั้ง จากเดิมที่ตั้งเป้าหมาย Net Zero ปี 2050 ซึ่งอาจจะเน้นดูภาพรวมทั้งกลุ่มด้วย โดยความสำคัญจะอยู่ในช่วงระหว่างกลางที่จะถึงเป้าหมาย เพราะจากบริบทโลกที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะภาษีคาร์บอน จึงจะรีวิวว่าเมื่อไหร่ เหมาะสมสุดเพราะทุกกระบวนการมีต้นทุน ซึ่งอาจจะช้าหรือเร็วเป็นไปได้หมด
สำหรับเป้าหมายความยั่งยืน นอกจากการปลูกป่า 2 ล้านไร่ ถือเป็นวิธีที่ต้นทุนถูกสุด แต่ไม่มีพื้นที่ให้ปลูกแล้ว ดังนั้น ปตท. จะดำเนินการมี 2. เรื่องสำคัญคือ
1. ศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี CCS ผ่าน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่ได้ศึกษาในแหล่งอาทิตย์ โดยต้นทุนการทำแท้จริง ยังไม่สามารถระบุได้ ซึ่งจะต้องรอภาครัฐกำหนดกฎกติกา และกฎหมายให้ชัดเจนก่อน เพราะมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องบูรณาการร่วมกันอย่างรอบคอบ
2. ไฮโดรเจน ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นการนำเข้าเพราะต้นทุนตะวันออกกลาง อย่าง อินเดียมีราคาที่ถูก หากมาใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมระดับแสนๆ ตัน อีกทั้ง รัฐกำหนดสัดส่วนการผสมไฮโดรเจน 5% ในปี 2030 ซึ่งหากทำได้เร็วก็สามารถทำได้
"สหรัฐเห็นความคุ้มค่าแล้วโดยรัฐบาลกำหนดราคา CCS ที่ 85 ดอลลาร์ต่อตัน ในการเก็บคาร์บอน ดังนั้น ปตท.จะทำเรื่องนี้ เพราะมีหลุมก๊าซฯ ที่ใช้แล้วโดย ปตท.สผ.ทำแซนด์บ็อกซ์ที่แหล่งอาทิตย์ เบื้องต้นปริมาณ 1 ล้านตัน จากภาพใหญ่ทั้งกลุ่ม ปตท. ที่ต้องเก็บในปริมาณทั้งประเทศ 5 ล้านตัน ส่วนเทคโนโลยีนิวเคลียร์ SMR อยู่ระหว่างศึกษาโดย บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC
ทั้งนี้ ปตท. มีเป้าหมายเพื่อเสริมความแข็งแกร่งองค์กรแบ่งเป็น 1. ระยะสั้น ประกอบด้วย
- ปรับโครงสร้าง Non-Hydrocarbon ซึ่งธุรกิจไหนทำแล้วไม่มีอนาคตก็ออกให้เร็วเพิ่มความคล่องตัวแล้วนำเงิน และเวลาไปทำสิ่งที่ถนัด
- โครงการ D1-Domestic Oroducts Mgmt ซึ่งมีการเพิ่มมูลค่าต่อยอดจากโครงการ P1 สามารถทำกำไรเพิ่มกว่า 3 พันล้านบาทต่อปีภายใน 3 ปี
- นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดต้นทุนผ่านแนวคิด MissionX - Operational Excellence เพื่อเพิ่ม EBITDA กลุ่ม ปตท. กว่า 3หมื่นล้านบาท ภายใน 3 ปี
- Digital Transformation เพิ่มรายได้กว่า 2 พันล้านบาทต่อปี ภายใน 2 ปี
2. ระยะกลาง โดยจะทำการ Reshape P&R Portfolio และเดินหน้า LNG Hub เพราะปัจจุบันไทยนำเข้า LNG รวม 10 ล้านตัน ซึ่งมองว่ายังมีดีมานด์ จึงมองว่าวิธีการเทรดดิ้งจะสร้างผลกำไรได้หลักแสนล้านบาท โดยอาจจะต้องสร้างคลังเพิ่มเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นการสนับสนุนให้อีก 30-40 ปีข้างหน้าธุรกิจกลุ่ม ปตท.จะอยู่ได้โดยไม่ต้องขวนขวายสิ่งที่ไม่ถนัด
"สหรัฐผลิตก๊าซปริมาณมาก เมื่อเชื้อเพลิงเหลือสามารถส่งออก LNG ขายทั่วโลก จึงเป็นแนวทางที่เราจะลงทุนได้ เพราะไทยมีดีมานด์สามารถเอาไปซื้อขายได้ในภูมิภาคเอเชีย จะเห็นว่านักลงทุนทั้งญี่ปุ่น และเกาหลีใช้วิธีการเทรดเพื่อสร้างกำไรได้เป็นอย่างดี"
3. ระยะยาว ปัจจัยด้านความยั่งยืนจะเข้ามาขับเคลื่อนองค์กร ซึ่งกลุ่มปตท.จะลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี CCS และไฮโดรเจน เพื่อเพิ่มมูลค่าธุรกิจ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปี 2568 ปตท. จะเน้นสร้างความมั่นคงและเติบโต โดยลดความเสี่ยงธุรกิจ สร้างเสถียรภาพทางธุรกิจจากการที่โลกมียังมีความวุ่นวาย ผันผวน รวมถึงธุรกิจที่มีอยู่ในช่วงขาลงไม่สมดุลกัน ยืนยันว่าไม่ใช่ว่า ปตท. จะไม่ลงทุนแต่การลงทุนจะดูความคุ้มทุนเพื่อสร้างการเติบโตที่ก้าวกระโดด
"ปตท.เติบโตมาจากบริษัทพลังงานชาติ จากบริบทที่เปลี่ยนไป โดยช่วง 2-3 ปีนี้การสร้างความมั่นคงไม่ง่ายจึงต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้แข็งแรง หน้าที่หลักคือ ต้องทำให้เติบโตไปด้วยกันในบริบทโลกควบคู่กับธุรกิจด้านความยั่งยืน"
ทั้งนี้ ปตท. จะแข็งแรงร่วมกับสังคมไทยอย่างยั่งยืน จะต้องคำนึงถึงมาตรการภาษีคาร์บอนซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จึงมีวิธีการลดหลายอย่างแต่สิ่งที่สำคัญคือ ทั่วโลกมองว่าก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่าน แม้อนาคตโลกจะเป็นพลังงานสะอาด แต่ยังต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 ปี ดังนั้น จึงต้องสร้างมูลค่าเพิ่มเกี่ยวกับก๊าซฯ ถือเป็นสิ่งที่ ปตท. ถนัดและดำเนินธุรกิจในยุคโชติช่วงชัชวาลมาจนถึงปัจจุบัน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์