เปิดแบบ 'สถานีขนส่งแห่งใหม่' ดัน 'บางซื่อ' ศูนย์กลางคมนาคม

เปิดแบบ 'สถานีขนส่งแห่งใหม่' ดัน 'บางซื่อ' ศูนย์กลางคมนาคม

เปิดแบบก่อสร้าง "สถานีขนส่งแห่งใหม่" เชื่อมสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ คาดงบลงทุนกว่า 3.7 พันล้านบาท พัฒนาอาคารสูง 13 ชั้น บนพื้นที่ 11 ไร่ ปั้นไลฟ์สไตล์คอมมอเชียล

พื้นที่ย่านบางซื่อ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” อีกไม่กี่ปีข้างหน้ากำลังจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบขนส่งมวลชนของประเทศไทย ภายหลัง “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประกาศนโยบายมอบหมายให้สำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปดำเนินการพิจารณาและศึกษาแนวทางการย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2, สถานีขนส่งเอกมัย และสถานีขนส่งสายใต้ ภายใต้การรับผิดชอบของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ไปยังสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

เพื่อให้การย้ายสถานีขนส่งนี้อำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ และนักท่องเที่ยว สามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะด้วยรถไฟไทย รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีน้ำเงิน ที่สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีอื่นๆ สอดรับกับนโยบายการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนแบบไร้รอยต่อ

โดยรูปแบบแนวคิดที่จะดำเนินการนั้น ศึกษาใช้โมเดลจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมาพัฒนา และประยุกต์ใช้ในประเทศไทย อาทิ สถานีฮากาตะ ซึ่งเป็นสถานีโดยสารอาคารสูง ภายในอาคารจะมีศูนย์อาหาร และแหล่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้บริการอย่างครบถ้วน ซึ่งในแต่ละชั้น โดยจะแบ่งรถโดยสารแต่ละสายเส้นทาง แบ่งตามภูมิภาค และแบ่งจังหวัดอย่างชัดเจน

“ปัญญา ชูพานิช” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ขณะนี้ สนข. ได้กำหนดแนวคิดรูปแบบการพัฒนาเบื้องต้น คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 – 4 เดือน และในระหว่างนี้ สนข. จะเสนอขอตั้งงบประมาณ เพื่อจ้างที่ปรึกษามาทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ พร้อมออกแบบเบื้องต้น ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาศึกษาอย่างน้อย 12 เดือน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการพัฒนาสถานีขนส่งแห่งใหม่ในรูปแบบอาคารสูง จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการเดินทาง และไม่ทำให้เกิดปัญหาจราจรในพื้นที่

อย่างไรก็ดี การย้ายสถานีขนส่ง (บขส.) มาในพื้นที่บริเวณใกล้กับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีแนวคิดในการรวมสถานีขนส่งทุกแห่งให้มาอยู่ที่เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสถานีขนส่งสายใต้ สถานีขนส่งเอกมัย และสถานีขนส่งหมอชิต 2 โดยจะทำการออกแบบเป็นสถานีขนส่งในรูปแบบอาคารสูง และกำหนดตำแหน่งที่ตั้งใกล้กับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และใกล้กับทางขึ้นลงทางด่วน

โดยการพัฒนาอาคารสูงนั้น จะแบ่งชั้นการให้บริการอย่างชัดเจน เช่น ชั้นสำหรับผู้โดยสารเดินไปทางภาคใต้ และภาคตะวันตก, ชั้นสำหรับผู้โดยสารเดินทางไปภาคเหนือ, ชั้นสำหรับผู้โดยสารเดินทางไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และชั้นสำหรับผู้โดยสารเดินทางไปภาคตะวันออก และพื้นที่โดยรอบกรุงเทพมหานคร (กทม.)

นอกจากนี้ ตัวอาคารผู้โดยสารจะมีการพิจารณาออกเป็นชั้นใต้ดินสำหรับให้รถเมล์ ขสมก. รวมถึงสำหรับรถแท็กซี่ เพื่อให้เข้ามารับส่งผู้โดยสาร ขณะที่ในส่วนของชั้นที่สูงขึ้นไป จะมีการออกแบบ เพื่อทำเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ อาทิ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายของฝาก เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถมีที่พักคอยก่อนจะถึงเวลารถออก และรายได้จากการเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้น สามารถนำมาใช้ในการบริหารจัดการ และซ่อมบำรุงรักษาตัวอาคารผู้โดยสารได้อีกด้วย

ทั้งนี้แผนการพัฒนาสถานีขนส่งแห่งใหม่ เบื้องต้นพบว่ามีการศึกษาพัฒนาบนที่ดิน 11 ไร่ ในคอนเซ็ปต์ไลฟ์สไตล์ คอมมอเชียล โดยตัวอาคารจะเป็นตึกสูง 13 ชั้น ประกอบด้วย

  • B3 ลานจอดรถ
  • B2 ศูนย์อาหาร
  • B1 ร้านอาหารและร้านสะดวกซื้อ
  • 1F ร้านอาหารและพื้นที่จัดอีเวนต์
  • 2F Fashion & Jewelry และภายนอกอาคารเป็นจุดจอดรถ Bus Lane
  • 3F Shoes, Bags & natural Cosmetic และภายนอกอาคารเป็นจุดจอดรถ Bus Lane
  • 4F Fashion & Culture Park
  • 5F Living Style
  • 6F Pop Culture
  • 7F Women’s/Men’s Goods
  • 8F Events Art & Culture
  • 9F ร้านอาหาร
  • 10F ร้านอาหาร

อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาเบื้องต้นยังประเมินด้วยว่าการพัฒนาสถานีขนส่งแห่งใหม่ จะใช้วงเงินลงทุนรวมประมาณ 3,700 ล้านบาท แบ่งเป็น

- สถานีขนส่งผู้โดยสาร วงเงินลงทุน 1,664 ล้านบาท

- Lifestyle Commercial วงเงินลงทุน 1,589 ล้านบาท

- Restaurant & Food Hall วงเงินลงทุน 446 ล้านบาท