กกร. ห่วงเศรษฐกิจปี 68 จับตาทรัมป์ขึ้นภาษี เขย่าการค้าโลก

กกร. ห่วงเศรษฐกิจปี 2568 ความเสี่ยงสูง จับตาสหรัฐปรับขึ้นภาษี แรงกดดันภาคอุตฯ ผลผลิตอยู่ในระดับต่ำ แนะรัฐเร่งมาตรการรับมือนโยบายการค้าโลกเปลี่ยน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 เผชิญความเสี่ยงสูง โดยสำนักวิจัยในต่างประเทศปรับลดประมาณการ การขยายตัวเศรษฐกิจไทยลงเหลือ 2.6% จากเดิมอยู่ที่ 2.7% ท่ามกลางความเสี่ยงจากนโยบายการค้า และแรงกดดันต่อภาคการผลิตที่จะยังมีต่อเนื่อง ส่วนอุปสงค์ภายในประเทศยังเปราะบาง สอดคล้องกับมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทยที่นำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังส่งสัญญาณอ่อนแรงลง ซึ่งสะท้อนผ่าน GDP ไตรมาส 4/2567 ที่ขยายตัวเพียง 3.2% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ราว 4.0% ส่งผลให้ทั้งปี 2567 GDP ขยายตัวเพียง 2.5% ต่ำกว่าระดับศักยภาพ
โดยสาเหตุหลักมาจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัว สวนทางกับการส่งออกที่ยังขยายตัวดี เป็นเพราะปัญหาเชิงโครงสร้าง และการแข่งขันรุนแรงจากสินค้าต่างประเทศในหลายอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น รถยนต์ เคมีภัณฑ์ ยางและพลาสติก อิเล็กทรอนิกส์ วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น
ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร. มีความกังวลต่อการดำเนินนโยบายจัดเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกของไทย โดยสหรัฐ มีแนวโน้มจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าทั้งแบบเจาะจง และแบบครอบคลุมวงกว้างเพิ่มเติม โดยได้ประกาศเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก และอะลูมิเนียม และเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าจากสินค้ากลุ่มรถยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ และยา รวมทั้งมีแผนเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับประเทศต่างๆ ในวงกว้างสำหรับสินค้าที่สหรัฐ เสียเปรียบจากการถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูง ซึ่งอาจทำให้สินค้าไทย มีต้นทุนภาษีเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 6-8%
โดยล่าสุดสหรัฐ มีการประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก และอะลูมิเนียมจาก 10% เป็น 25% และยกเลิกข้อยกเว้นรายประเทศ ข้อตกลงตามโควตา รวมทั้งยกเลิกการยกเว้นภาษีแบบรายสินค้า โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.2568 ทำให้ผู้ประกอบการไทยที่มีการส่งออกเหล็ก และอะลูมิเนียมไปยังสหรัฐ จะต้องแบก รับภาระภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้น
ดังนั้น กกร. จึงเสนอขอให้ภาครัฐเร่งมีการบูรณาการข้อมูลการค้าในทุก มิติระหว่างไทย และสหรัฐ อาทิ ดุลการค้า ดุลภาคบริการและดิจิทัล ดุลภาคขนส่ง ดุลภาคการศึกษาเป็นต้น เพื่อนำมาวิเคราะห์กำหนดท่าทีร่วมกับภาคเอกชน ในการเจรจาการค้าระหว่าง 2 ประเทศรวมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์ในการรับมือนโยบายปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ และผลกระทบจากสงครามการค้า เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการ และสร้างโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ลดการพึ่งพาตลาดเดิม
"นอกจากนี้ รัฐบาลควรเตรียมมาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบ และประคองการเติบโตเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น และระยะยาวมีความจำเป็น โดยเฉพาะการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าโลก การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ การลดต้นทุนผู้ประกอบการ และการยกระดับภาคการผลิตให้แข่งขันได้ในระยะยาว" นายเกรียงไกร กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์