ลงทุนปี68“เอไอ”สดใส“กรีนฟันด์”แผ่ว“อาเซียน”เปลี่ยนโลก

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI เป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ เมื่อเร็วๆนี้ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด
เผยแพร่รายงาน Global Investment Trends Monitor, No. 48 สาระสำคัญระบุว่า FDI ทั่วโลก ในปี 2567 มูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 11% จากปี2566
อย่างไรก็ตาม การประกาศโครงการใหม่ ลดลงเล็กน้อย 8% ในแง่จำนวนโครงการแต่ในแง่มูลค่าพบว่ายังสูงอยู่ โดยการลงทุนที่เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญได้แก่ การลงทุนขนาดใหญ่ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)
“การลงทุนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคโครงสร้างพื้นฐาน โดยจำนวนข้อตกลงเพื่อการลงทุนลดลง 26% และมูลค่าลดลงเกือบหนึ่งในสาม และการรวมกิจกรรมการควบรวมและซื้อกิจการข้ามพรมแดน (จำนวนข้อตกลง) ลดลง 13% แต่มูลค่ารวมเพิ่มขึ้น 2%”
รายงานยังระบุอีกว่า การลงทุนกำลังเผชิญกับความท้าทายต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศเป็นพิเศษนั้นพบว่า จำนวนการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ SDG ลดลง 11% ในปี2567 แม้ว่าจะมีการเติบโตบ้างในการลงทุนกลุ่มพลังงานหมุนเวียน สุขภาพ และการศึกษา แต่ทั้ง 3 ภาคส่วน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน ระบบเกษตรและอาหาร และน้ำและสุขาภิบาล กลับมีโครงการที่ได้รับเงินทุนจากต่างประเทศน้อยกว่าในปี 2567 เมื่อเทียบกับปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่มีการนำ SDGs มาใช้
สำหรับแนวโน้มของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั่วโลกในปี 2568 จะขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ และนโยบายทางเศรษฐกิจ ทำให้โดยรวมแล้ว FDI โลกจะมีศักยภาพเติบโตในระดับปานกลาง
“คาดว่า FDI จะเติบโตอย่างรวดเร็วมากขึ้นในสหรัฐจากแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง รวมถึงในสหภาพยุโรปด้วย ซึ่งปัจจุบันมีระดับการลงทุนต่ำมากก่อนหน้านี้ นอกจากนี้พบว่า ภูมิภาคที่อยู่ติดที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว เช่น อาเซียน ยุโรปตะวันออก เอเชียตะวันตก แอฟริกาเหนือ และบางส่วนของอเมริกากลาง อาจได้รับประโยชน์จากการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้”
โดยปี 2567ที่ผ่านมา กระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอาเซียนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2% สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ประมาณ 235 พันล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ตัวแปรสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้ม FDI ได้แก่ GDP ,การค้า, อัตราเงินเฟ้อ, ความผันผวนของสกุลเงินและตลาดการเงิน นอกจากนี้ยังมี แนวโน้มเทคโนโลยี , พลวัตทางภูมิรัฐศาสตร์และการแตกแยกทางเศรษฐกิจ ,การพัฒนานโยบายและกฎระเบียบ และบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของกลุ่มนักลงทุนสำคัญ
“การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะกำหนดแนวโน้มของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ การเติบโตของ GDP คาดว่าจะยังคงมีเสถียรภาพ โดยมีการคาดการณ์ว่าการลงทุนและการค้าจะดีขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่มูลค่าโลก และยังมีปัจจัยวัฏจักรการลดอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในประเทศเศรษฐกิจหลักๆซึ่งอาจช่วยลดต้นทุนการกู้ยืม ซึ่งเป็นแรงเสริมสำคัญสำหรับการลงทุนข้ามพรมแดน”
นอกจากนี้ รายงานยังเล่าถึงการลงทุนในรูปแบบการควบรวมและซื้อกิจการ (M&As)ที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งมากขึ้น โดยมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและการเปลี่นแปลงภาคส่วนต่างๆ เป็นตัวกำหนดรูปแบบของFDI
“การลงทุนในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น AI คลาวด์คอมพิวติ้ง และไซเบอร์ซีเคียวริตี้ มีแนวโน้มที่จะควบคุมกระแสการลงทุนFDI เนื่องจากบริษัทต่างๆ ได้ทำการปรับปรุงและนำการดำเนินงานไปดิจิทัล โครงการศูนย์ข้อมูลและการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เป็นโครงการลงทุนอันดับต้นๆ อยู่แล้ว”
แม้ว่าการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดรูปแบบการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเช่นกัน โครงการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน ไฮโดรเจนสีเขียว และห่วงโซ่อุปทานของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทำให้จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ในทางกลับกันพบว่าการลงทุนระหว่างประเทศด้านพลังงานหมุนเวียนจะชะลอตัวลงในช่วงสองปีนี้
ด้านนโยบายการค้าโลก ภาษีศุลกากร และนโยบายอุตสาหกรรมที่มุ่งดึงดูดกำลังการผลิต อุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์จะยังคงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการลงทุนFDI
รายงานยังชี้อีกว่า การแยกตัวของเศรษฐกิจโลกกำลังทำให้การตัดสินใจลงทุนเลือกที่ลงพื้นที่ในประเทศมากกว่าที่จะมองหาการลงทุนนอกบ้าน หรือ ไม่ก็ต้องให้สอดคล้องกับทิศทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขการติดสินใจที่ต่างไปจากก่อนหน้านี้ ที่มองเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การเข้าถึงตลาดเป็นสำคัญ
“อีกปัจจัยที่สำคัญ คือ รัฐบาลใหม่ของสหรัฐอาจปรับกฎระเบียบทางธุรกิจให้คล่องตัวและสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุน ขณะเดียวกันกฎระเบียบการลงทุนก็จะเข้มงวดมากขึ้นกับกลุ่มการลงทุนที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน หรือ การป้องกันประเทศ โดยเทรนด์สำคัญของผู้เล่นหลักๆ คือ สหรัฐ ที่มุ่งลงทุนในบ้าน ตรงข้ามกับจีนที่ยังคงมุ่งลงทุนนอกประเทศต่อไป”
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนนัดแรกของปี 2568 ที่มี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ที่ีประชุมเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนปี 2568 มุ่งสู่ Hub 5 ด้าน ได้แก่ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมด้าน BCG (Bio-Circular-Green Industries Hub) ศูนย์กลางเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Tech Hub) ซึ่งจะครอบคลุมหลายสาขา เช่น รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล ศูนย์รวมบุคลากรทักษะสูงจากทั่วโลก (Talent Hub) ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์และธุรกิจระหว่างประเทศ (Logistics & International Business Hub) และศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Soft Power and Creative Hub)
ท่ามกลางสถานการณ์การค้าและการลงทุนที่ผันผวนและคาดการณ์ได้ยากมาก ข้อมูลจากรายงานการลงทุนของอังค์ถัดพอจะบอกใบ้ถึงทิศทางการลงทุนโลกที่หากไทยมองเห็นสถานการณ์อย่างชัดแจ้งก็จะส่งให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามเป้าหมาย