กฎใหม่จัดซื้อจัดจ้างรัฐ“SME-ของไทย”ได้แต้มต่อเพิ่ม

ประเทศไทยมีวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและขนาดย่อยหรือ MSME (Micro, Small and Medium Enterprise)เมื่อปี 2566 จำนวน 3,225,743 ราย
มีสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีประเทศเมื่อ ไตรมาส 3/2567 มูลค่า 1.62 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ มีผู้ประกอบการไทยที่เป็น SME-GP หรือ การขึ้นทะเบียน SME ที่จัดโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ SME สามารถเข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ง่ายขึ้น จำนวน 167,281ราย
เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไป รวมทั้งให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสสว.ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
สำหรับสาระสำคัญ ร่างกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐฯ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ.2563 โดยแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุส่งเสริมวิสาหกิจและการประกอบอาชีพกรณีการส่งเสริมหรือสนับสนุนผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และพัสดุส่งเสริมการผลิตในประเทศ ให้ได้แต้มต่อด้านราคาในการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐ แล้วแต่กรณี
ทั้งนี้ สามารถแบ่งกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการแก้ไขข้อกฎหมายนี้ เป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย สำหรับกลุ่ม SMEs (หมวด 2 พัสดุส่งเสริมวิสาหกิจและการประกอบอาชีพ) ให้ยกเลิกกรณีการให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยให้ใช้งบประมาณดังกล่าวไม่น้อยกว่า 30% ของงบประมาณสำหรับการจัดซื้อ จัดจ้างพัสดุนั้นๆ และให้เปลี่ยนเป็น1. กรณีใช้วิธีe-bidding กับวิธีการคัดเลือก ให้หน่วยงานให้แต้มต่อ10%กับผู้ประกอบการ SMEs (ประเภท Micro และ Small เท่านั้น)แทน
2. กรณีผู้ประกอบการ SMEs (ประเภท Micro และ Small) มีการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ จนมีวงเงินสัญญาสะสมตามปีปฏิทิน เมื่อนำมารวมกับราคาที่เสนอในครั้งนี้แล้วมีมูลค่าเกินกว่าที่กฎกระทรวงฉบับนี้กำหนด คือ ภาคการผลิต รายได้เกิน 500 ล้านบาท ภาคการค้าและภาคบริการรายได้เกิน 300 ล้านบาท แล้วนั้นจะไม่ได้รับสิทธิในการได้รับแต้มต่อดังกล่าว
3. กรณีการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินไม่เกินวงเงินตามกฎกระทรวงกำหนดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง วงเงินการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ทำข้อตกลงเป็นหนังสือ และวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างในการแต่งตั้งผู้ตรวจรับพัสดุ พ.ศ. 2560 ซึ่งไม่เกิน 5 แสนบาท ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างกับผู้ประกอบการ SMEs ประเภท Micro และ Small เป็นลำดับแรกก่อน
หากเปรียบเทียบหลักเกณฑ์ในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุส่งเสริมวิสาหกิจและการประกอบอาชีพกรณีการส่งเสริมหรือสนับสนุน
ผู้ประกอบการSMEsที่ครม.อนุมัติใหม่นี้ จะพบว่าในส่วนประเด็นหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างนั้น เดิม ให้จัดสัดส่วนสำหรับSMEsไว้ที่ 30%ของของงบประมาณ และจัดซื้อจาก SMEs ภายในจังหวัดโดยวิธีการคัดเลือก แต่หลักเกณฑ์ใหม่ ให้หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ เปลี่ยนเป็นให้แต้มต่อ 10% ในการแข่งขันกับ SMEsโดยไม่มีเงื่อนไข แต่หลักเกณฑ์ใหม่นี้ กำหนดให้ต้องพิจารณาวงเงินสัญญาสะสมตามปีปฏิทินไม่เกินที่กฎกระทรวงกำหนด โดยหากเป็นภาคการผลิต รายได้เกิน 500 ล้านบาท และภาคการค้าและการบริการ รายได้เกิน 300 ล้านบาท แล้วนั้นจะไม่ได้รับแต้มต่ออีก นอกจากนี้ได้กำหนดการจัดซื้อจัดจ้างแบบโดยวิธีการเฉพาะเจาะจง (ไม่เกิน 5 แสนบาท)นั้น ให้จัดซื้อจัดจ้างกับ SMEs ประเภท Micro และ Small เป็นลำดับแรกก่อน
สำหรับกลุ่มการผลิตภายในประเทศ (หมวด 7/1 พัสดุส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ) ซึ่งได้กำหนดคำนิยาม“พัสดุที่ผลิตในประเทศ” หมายความว่า พัสดุที่ผลิตและจำหน่ายภายในประเทศซึ่งไม่จำเป็นต้องได้รับการรับรองจากสภาอุตสาหกรรม(สอท.)
จากการเปรียบเทียบนิยามใหม่พบว่า “พัสดุที่ผลิตในประเทศ”หมายความว่า พัสดุที่ผลิตและจำหน่ายภายในประเทศและกำหนดให้พัสดุที่ผลิตในประเทศเป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมและสนับสนุน
ต่างจากนิยามเดิมที่กำหนดว่าเป็นพัสดุที่ได้รับรองและออกเครื่องหมายสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand) และกำหนดให้พัสดุส่งเสริมการผลิตภายในประเทศที่ได้ขึ้นบัญชีไว้กับสอท. เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมและสนับสนุน
กรณีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีe-biddingกับวิธีการคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอ(เป็นผู้ประกอบการ ทั่วไป)ได้เสนอพัสดุที่เป็นพัสดุที่ผลิตภายในประเทศที่ได้รับการรับรองและออกเครื่องหมายสินค้าที่ผลิตภายในประเทศไทย (Made in Thailand) จากสอท.ได้รับแต้มต่อ5%
แต่หากเป็นผู้ประกอบการ SMEs ประเภท Micro และ Smallและมีเครื่องหมายMade in Thailandจะได้แต้มต่อในด้านราคาไม่เกิน15%
ทั้งนี้ การปรับแก้ไขดังกล่าว เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังขาดศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันกับผู้ประกอบการทั่วไปให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐได้