จับตา”สงครามการค้า”ขยายวงกว้าง หลัง“ทรัมป์”ขึ้นภาษี “เหล็ก-อะลูมิเนียม”

จับตา”สงครามการค้า”ขยายวงกว้าง หลัง“ทรัมป์”ขึ้นภาษี “เหล็ก-อะลูมิเนียม”

“ทรัมป์” ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก-อะลูมิเนียม 25% ไทยกระทบน้อย เผย 5 ปีไทยส่งออกเหล็กและอลูมิเนียม ไปสหรัฐเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สนค.เสนอแนวทางรับมือ ใน 4 มิติ

KEY

POINTS

Key Point

  • ทรัมป์  ประกาศขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียม 25% ที่นำเข้าสหรัฐ มีผลบังคับใช้ 4 มี.ค
  • สนค.เผย ช่วง 5 ปี (2563-2567) ไทยส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ไปสหรัฐ และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
  • สนค. ชี้ สิ่งที่ไทยต้องทำคือการรับมือกับการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐ ไม่เพียงแต่เรื่องของเหล็กและอะลูมิเนียม ใน 4  มิติ
  • สรท.ชี้ ห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนของหลายกลุ่มอุตสาหกรรมจะเริ่มปั่นป่วนหลังประกาศมีผลบังคับใช้

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ  ประกาศขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียม 25% ที่นำเข้าสหรัฐ มีผลบังคับใช้ 4 มี.ค.ทั้งนี้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กและอะลูมิเนียมของประเทศ โดยคำสั่งนี้จะมีผลต่อทุกประเทศ ซึ่งกระทบต่อประเทศที่ส่งออกเหล็กและอลูมิเนียมไปยังสหรัฐไม่เว้นแม้แต่ไทย  โดยเฉพาะอะลูมิเนียมที่ไทยเป็นผู้ส่งออกอะลูมิเนียมรายใหญ่อันดับ 10 ให้กับสหรัฐฯ

ข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ช่วง 5 ปี (2563-2567) ไทยส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ไปสหรัฐ และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนี้

1.เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่งออกไปสหรัฐปี 2563 มีมูลค่า 1,015 ล้านดอลลาร์, ปี 2564 มูลค่า 1,397 ล้านดอลลาร์, ปี 2565 มูลค่า 1,503 ล้านดอลลาร์, ปี 2566 มูลค่า 1,494 ล้านดอลลาร์ และปี 2567 มูลค่า 1,205 ล้านดอลลาร์

2.ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ส่งออกไปสหรัฐปี 2563 มูลค่า 190 ล้านดอลลาร์, ปี 2564 มูลค่า 547 ล้านดอลลาร์, ปี 2565 มูลค่า 667 ล้านดอลลาร์, ปี 2566 มูลค่า 251 ล้านดอลลาร์ และปี 2567 มูลค่า 437 ล้านดอลลาร์

“ชัยชาญ เจริญสุข " ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าไปสหรัฐไม่สูงเมื่อเทียบการส่งออกไปอินเดีย จีน มาเลเซียและเกาหลีใต้

ทั้งนี้ อย่างไรก็ตามแม้ไทยจะส่งออกน้อยแต่เหล็กและอะลูมิเนียมถือว่าเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมหลายประเภท ดังนั้นหากเป็นเช่นนี้จะกระทบต่อโครงสร้างการผลิตในห่วงโซ่อุปทาน

“ห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนของหลายกลุ่มอุตสาหกรรมจะเริ่มปั่นป่วนหากนโยบายนี้มีผลบังคับใช้”นายชัยชาญ กล่าว

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย มองว่า การขึ้นภาษีนำเข้า เหล็กและอลูมิเนียม 25% ของสหรัฐฯ ทำให้การส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐฯ อาจได้รับผลกระทบ ทำให้สินค้าไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลง โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ไปยังสหรัฐฯ มูลค่า 1,205 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท

อีกประเด็นหนึ่งที่น่ากังวลคือ ความเสี่ยงที่เหล็กจีนจะทะลักเข้ามาในตลาดไทย เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก มาตรการภาษีสหรัฐฯ ทำให้ต้องมองหาตลาดใหม่ในการระบายสินค้า และไทยอาจตกเป็นเป้าหมายในการส่งออกเหล็กส่วนเกินนี้ หากไม่มีมาตรการป้องกันที่เหมาะสม ไทยอาจเผชิญปัญหา การทุ่มตลาด (Dumping) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศที่ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

ดังนั้น หอการค้าฯ เห็นว่า ภาครัฐควรพิจารณามาตรการควบคุมการนำเข้า และ กำหนดมาตรฐานคุณภาพเหล็กนำเข้า นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการใช้เหล็กภายในประเทศในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าและสร้างความมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมภายในประเทศ และมีการติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดสำหรับการนำเข้าสินค้า หากมีการตรวจพบว่ามีการอุดหนุน หรือ subsidized จากต้นทาง เราควรมีมาตรการตอบโต้ ทั้งการขึ้นภาษี หรือ ขึ้น surcharge อื่นๆเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม กับผู้ผลิตในประเทศ

ในส่วนของภาคเอกชน ต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยปรับปรุงกระบวนการผลิต ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเหล็กไทย เช่น การผลิตเหล็กกล้าคุณภาพสูงที่สามารถใช้ในอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อน นอกจากนี้ ควรขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ญี่ปุ่น และอินเดีย ที่มีความต้องการใช้เหล็กสูง และยังเปิดโอกาสให้ไทยสามารถขยายฐานลูกค้าได้

 

ขณะที่"พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ " ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์  กล่าวว่า สิ่งที่ไทยต้องทำคือการรับมือกับการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐ ไม่เพียงแต่เรื่องของเหล็กและอะลูมิเนียม โดยมองเป็น 4  มิติคือ

1.การรับมือเชิงนโยบาย โดยเริ่มจากวิเคราะห์ผลกระทบอย่างละเอียด ทั้งในด้านโครงสร้างต้นทุน รายสินค้า การประเมินความสามารถในการแข่งขันหลังการปรับภาษี และการวิเคราะห์ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน

2.การปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ให้มีความยึดหยุ่นและพึ่งพาตลาดสหรัฐน้อยลง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของนโยบายระหว่างประเทศ พร้อมทั้งขยายตลาดไปสู่ภูมิภาคอื่นโดยเฉพาะตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูง เช่น แอฟริกา ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา

3.การเจรจาการค้า มุ่งเน้นการเจรจาโควตาพิเศษสำหรับสินค้าสำคัญ และกำหนดเงื่อไขพิเศษสำหรับสินค้าบางประเภทพร้อมทั้งวางแผนการทยอยปรับขึ้นอัตราภาษีให้สอดคล้องกับระยะเวลาการปรับตัวของอุตสาหกรรม

4.ความร่วมมือระดับภูมิภาค ผลักดันให้อาเซียนกำหนดท่าทีและมาตรการรับมือเนื่องจากหลายประเทศได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกัน การรวมกลุ่มจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองและสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาค พร้อมกันนนี้ควรเร่งพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคให้มีความเข้มแข็งและยึดหยุ่นมากขึ้น

การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม 25% ของทรัมป์ เป็นมาตรการที่ 2 หลังประกาศเก็บภาษีจะปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดาและอัตรา 25 %  ไปก่อนหน้านี้แล้ว แม้จะมีการเลื่อนการบังคับใช้ออกไป 1 เดือน ซึ่งการประกาศเก็บภาษีของทรัมป์สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก

คงต้องจับตาจากนี้ไปอีกว่า  ทรัมป์ จะออกมาตรการภาษีอีกหลายมาตรการ ส่งผลให้บางประเทศที่ถูกทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าต้องออกมาตรการตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าเช่นกัน สถานการณ์เช่นนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สงครามการค้าขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆและอาจจะรุนแรงมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างยิ่ง