พาณิชย์ โชว์ผลงานปราบ นำเข้าสินค้าไร้คุณภาพ เสียหายกว่า 1.1 พันล้านบาท

พาณิชย์ โชว์ผลงานปราบ นำเข้าสินค้าไร้คุณภาพ เสียหายกว่า 1.1 พันล้านบาท

พาณิชย์ โชว์ผลปราบนำเข้าสินค้าไร้คุณภาพ สั่งซื้อผ่านออนไลน์ ช่วงเดือนก.ย.-ธ.ค.67 จับกุมดำเนินคดีได้ 2.1 หมื่นคดี ความเสียหายกว่า 1.1 พันล้านบาท ตั้งคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบสินค้าห่วยวางขายในท้องตลาดทั่วประเทศ รับลูก ส.อ.ท. แก้ปัญหาสินค้าไร้มาตรฐานต่อ

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SME ไทยและแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ ครั้งที่ 3/68 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการแก้ปัญหาการนำเข้าสินค้าไร้คุณภาพในระยะสั้นตั้งแต่เดือนก.ย.-ธ.ค.67

โดยเฉพาะการนำเข้าผ่านการสั่งซื้อออนไลน์ ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้มงวดตรวจสอบการนำเข้า และดำเนินคดีกับผู้นำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานได้ 21,227 คดี ความเสียหาย 1,137 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งอาหารเสริม อาหาร ยาและเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า ปลั๊กพ่วง พาวเวอร์แบงก์ ฯลฯ

สำหรับแผนดำเนินงานระยะกลาง และยาวนั้น ทุกหน่วยงานอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยเพิ่มความเข้มงวด และความถี่ให้การตรวจสอบให้มากขึ้น

 อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานดังกล่าว เป็นการตรวจสอบคุมเข้มสินค้าที่นำเข้าผ่านการสั่งซื้อทางออนไลน์ ที่ประชุมจึงมีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานปราบปรามสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยมีร.ต.จักรา ยอดมณี รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และมีทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบทั้งสินนำเข้าไร้มาตรฐาน ที่วางขายในท้องตลาดทั่วไป และตรวจสอบนอมินี ธุรกิจที่เข้าข่ายผิดกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวทั่วประเทศ เพื่อทำให้ปัญหาดังกล่าวหมดไปโดยเร็ว

โดยจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ที่มีรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน และคาดจะประชุมราวกลางเดือนมี.ค.นี้ พิจารณาเห็นชอบต่อไป

พาณิชย์ โชว์ผลงานปราบ นำเข้าสินค้าไร้คุณภาพ เสียหายกว่า 1.1 พันล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพิจารณาข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ใน 4 ประเด็น คือ

 1.มาตรฐานสินค้าและการดำเนินธุรกิจ ขอให้รัฐเพิ่มความเข้มงวดใช้กฎหมายฉลากสินค้าและมาตรฐานกำกับดูแลแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และพิจารณามาตรการสนับสนุนผู้ผลิตในประเทศ

2.มาตรการทางการค้า ทั้งอำนวยความสะดวกการเข้าถึงมาตรการตอบโต้ทางการค้า และทบทวนอัตราภาษี

3.พิธีการศุลกากรและช่องทางการนำเข้า ขอให้เข้มงวดกับการกำกับดูแลสินค้านำเข้า 

4.ส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ โดยพิจารณาสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพิ่มแต้มต่อจัดซื้อจัดจ้าง และขยายตลาด รวมถึงยังพิจารณาข้อเสนอเพิ่มเติม ที่ให้ติดฉลากเสื้อผ้าเด็ก  ทั้งสินค้าในประเทศและสินค้านำเข้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

 

“ข้อเสนอดังกล่าว จะนำเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาผลักดันในด้านต่างๆ พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการให้เข้มงวดมากขึ้น ส่วนเรื่องติดฉลากเสื้อผ้าเด็ก ขอให้ผู้ประกอบการไทย ปรับตัวด้วย เพราะสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางดำเนินการโดยคำนึงถึงผู้บริโภคและผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย ขณะเดียวกัน จะผลักดันความร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อกำกับดูแลการจำหน่ายสินค้าบนออนไลน์ให้มีคุณภาพมาตรฐานด้วย”นายนภินทร กล่าว