‘ TDRI ’ ค้านขยายเพดานหนี้ทะลุ 70% ห่วงเสียวินัยการคลัง เร่งรัฐก่อหนี้เพิ่ม

‘ทีดีอาร์ไอ’ ค้านขยายเพดานหนี้สาธารณะ เปิดช่องกู้เพิ่ม ห่วงรัฐบาลใช้จ่ายเกินตัว ชี้ที่ผ่านมารัฐใช้เงินกระตุ้นจีดีพีระยะสั้น ไม่มุ่งการลงทุนระยะยาว
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงแนวคิด และข้อเสนอที่จะให้รัฐบาลขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากเดิม 70% ชั่วคราวว่าเรื่องการขยายเพดานหนี้สาธารณะโดยขาดแผนรองรับถือเป็นเรื่องอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ
เนื่องจากเพดานหนี้สาธารณะถือเป็นหนึ่งในเกณฑ์วินัยทางการเงินที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ประเทศมีเสถียรภาพทางการคลังในระยะปานกลางถึงระยะยาว
ทั้งนี้ในอดีต ประเทศไทยเคยมีภาคการคลังที่เข้มแข็ง มีระดับหนี้สาธารณะเพียงราวๆ 45% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แต่ในช่วงหลังๆ ภาครัฐมีการจ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจเกิดผลดีแค่ในระยะสั้น แต่ทำให้หนี้ภาครัฐเริ่มแย่ลง ประกอบกับวิกฤติการณ์โควิดที่ทำให้มีการยกเพดานหนี้ขึ้นไปเป็น 70%
“การมีหนี้ในระดับสูงเปรียบเสมือนการใช้บัตรเครดิตเต็มวงเงินแล้วเราจ่ายแค่ขั้นต่ำ ทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยแทนที่จะมีเงินไปทำอย่างอื่นอีกมาก”
เมื่อถามว่าการขยายเพดานหนี้ชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจเหมาะสมหรือไม่ นายนณริฏ กล่าวว่า เรื่องนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อหากภาครัฐมีโปรเจกต์ที่จะสามารถสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตในระยะยาวได้ ก็สามารถทำได้
เหมือนกับการเป็นหนี้เพื่อการศึกษาหรือเป็นหนี้ลงทุนซื้อเครื่องจักร เพราะในอนาคตจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่จากที่ผ่านมา รัฐบาลนี้มีแต่ทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ฉาบฉวยไม่ยั่งยืน กลัวจะกลายเป็นหนี้ภาระไม่เกิดมรรคผลในระยะยาว
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่ นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ แนะนำให้รัฐบาลขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 70% ชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศว่าแม้ว่าเรื่องนี้ตนเองจะอยากขยับเพิ่มเพราะปัจจุบันพื้นที่ทางการคลังเหลือน้อย แต่ว่าในแง่ของการบริหารจัดการคิดว่าการที่จะขยายเพดานหนี้นั้นเท่ากับว่าเรายอมให้มีการเพิ่มหนี้ได้
เมื่อมีการเพิ่มหนี้ก็ต้องกลับมาถามตัวเองว่าในแง่การบริหารจัดการนั้นเราบริหารจัดการการใช้เงินอย่างไร วันนี้รัฐบาลมานั่งดูในเรื่องของงบประมาณเต็มที่ว่าระบบงบประมาณที่ผ่านมานั้นเราต้องปรับปรุงตรงไหน นอกจากนั้นในเรื่องของการจัดเก็บภาษีนั้นเราก็ต้องมาดูว่าเราทำได้อย่างทั่วถึงเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือยัง เมื่อดูหมดแล้วเรื่องของการขยับเพดานหนี้จะเป็นทางเลือกสุดท้าย ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา
“ทั้งหมดถ้าเราทำได้ดีขึ้นแล้วเรื่องของการบริหารงบประมาณ เรื่องของการจัดเก็บภาษี แล้วเศรษฐกิจดีขึ้นได้ก็อาจจะไม่ต้องขยับเพดาน ยังไม่ถึงเวลาที่จะขยาย เรื่องนี้เป็นเรื่องท้ายๆ ต้องไปดูว่าเรื่องอื่นๆ เราทำดีแล้วหรือยัง ถ้าทำหมดแล้วจำเป็นต้องขยายชั่วคราวเพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้นค่อยมาคิดอีกที” นายพิชัย กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์