ส่องอำนาจ ‘8 อรหันต์ OSA’ บอร์ดใหญ่คุม นโยบายดันไทย 'ศูนย์กลางการเงิน'

ส่องอำนาจ ‘8 อรหันต์ OSA’  บอร์ดใหญ่คุม นโยบายดันไทย 'ศูนย์กลางการเงิน'

 นโยบายส่งเสริมไทยเป็น Financial Hub กำกับดูแลธุรกิจการเงินต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จเป็นนโยบายที่รัฐบาลผลักดันครม.เห็นชอบในกฎหมายฉบับนี้แล้วคาดว่าจะเข้าสู่สภาได้ภายใน 2 เดือน การกำหนดนโยบายนี้จะอยู่ที่บอร์ดOSA ซึ่งมีรมว.คลังเป็นประธาน

KEY

POINTS

  •  นโยบายส่งเสริมไทยเป็น Financial Hub กำกับดูแลธุรกิจการเงินต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จเป็นนโยบายที่รัฐบาลผลักดัน
  • ครม.เห็นชอบในกฎหมายฉบับนี้แล้วคาดว่าจะเข้าสู่สภาได้ภายใน 2 เดือน 
  • การกำหนดนโยบายนี้จะอยู่ที่บอร์ดOSA ซึ่งมีรมว.คลังเป็นประธาน และมีกรรมการใน 8 หน่วยงานสำคัญทางด้านธุรกิจการเงินอยู่ในบอร์ดนี้
  • อำนาจบอร์ด OSA ครอบคลุมการกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์ในการส่งเสริมธุรกิจการเงินกำหนดประเภทการอนุญาต การอนุมัติหรือเพิกถอนใบอนุญาต และติดตามประเมินผลการดำเนินงาน และให้สิทธิประโยชน์ 

 

นับเป็นความคืบหน้าที่สำคัญหลังจากที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2567 โดยหนึ่งในนโยบายสำคัญด้านเศรษฐกิจคือการผลักดันให้ไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (Financial Hub) โดยรัฐบาลพิจารณาเห็นว่าไทยมีปัจจัยที่สามารถดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินต่างประเทศ เช่น ค่าครองชีพที่ต่ำกว่า ทักษะแรงงานไทย โครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินไทยที่พัฒนามากกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เป็นต้น การพัฒนาไทยให้เป็น Financial Hub จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะสามารถดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศได้โดยการผลักดันการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความเป็นสากล โปร่งใส และเอื้อต่อ การประกอบธุรกิจ

ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ...ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาในช่องทางฟาสต์แทรกซ์ภายใน 50 วัน ก่อนที่จะเสนอให้สภาฯพิจารณาต่อไป

ร่างกฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญคือ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงินของโลก (Financial Hub) และดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินจากต่างประเทศให้มาประกอบธุรกิจในไทย ผ่านกลไกในการส่งเสริม กำกับดูแล และการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการที่เข้ามาประกอบธุรกิจ เป้าหมายใน Financial Hub เพื่อให้บริการแก่นิติบุคคลหรือบุคคลที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในไทย (Non-residents)

8 ธุรกิจเข้าข่ายขออนุญาต

ครอบคลุม 8 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจบริการการชำระเงิน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล  ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ และธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจทางการเงินตามที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงินประกาศกำหนด

ทั้งนี้จะเป็นการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายใน Financial Hub ให้บริการเฉพาะผู้ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในไทย (non-residents) เท่านั้น ยกเว้นการให้บริการเป็นตัวแทน นายหน้า ค่าจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศ ได้แก่

1.นิติบุคคลที่ตั้งอยู่นอกไทยและจัดตั้งตามกฎหมายของต่างประเทศ

2.องค์กรของรัฐบาลต่างประเทศที่ตั้งอยู่นอกไทย

3.สำนักงานสาขาของนิติบุคคลไทยที่ตั้งอยู่นอกไทย

4. ตัวแทนของนิติบุคคลไทยที่ตั้งอยู่นอกไทย และจัดตั้งตามกฎหมายของต่างประเทศ

และ 5.บุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทย และไม่มีใบต่างด้าวหรือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ในไทยให้กับผู้ประกอบการไทยในลักษณะธุรกิจต่อธุรกิจ (Business to Business) (ได้แก่ ด้านประกันภัย ด้านตลาดทุน ด้านสถาบันการเงิน ด้านธุรกิจการบริการการชำระเงิน และด้านธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงิน)"

 

ส่องอำนาจ ‘8 อรหันต์ OSA’  บอร์ดใหญ่คุม นโยบายดันไทย \'ศูนย์กลางการเงิน\'

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่ารัฐบาลเห็นความสำคัญในการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินครบวงจร และทันท่วงที จึงออกเป็น พ.ร.บ. Financial Hub ขึ้น ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ สาระสำคัญคือการตั้งหน่วยงานกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน หรือ OSA เป็นสำนักงาน ควบคู่กับคณะกรรมการ 8 ตำแหน่ง ทั้งสองส่วนนี้ จะทำงานควบคู่กัน มีอำนาจเบ็ดเสร็จครบวงจร ตั้งแต่การกำหนดเงื่อนไขการประกอบธุรกิจ, การกำหนดประเภทธุรกิจที่จะได้รับใบอนุญาต 8 ชนิด

สำหรับการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลธุรกิจตามที่กฎหมายกำหนด ตาม พ.ร.บ.ได้กำหนดให้มี การตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (One Stop Authority: สำนักงาน OSA ) ขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (End to end) เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็น Financial Hub และดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินเข้ามาลงทุน และมีคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (หรือคณะกรรมการ OSA)

องค์ประกอบคณะกรรมการ OSA 

โดยคณะกรรมการ OSA จะประกอบไปด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ กรรมการปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบปรามการฟอกเงิน และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน แต่ไม่เกิน 5 คน โดยต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน ด้านกฎหมายทางการเงิน และด้านบัญชี ด้านละ 1 คน

อำนาจหน้าที่บอร์ดOSA 

สำหรับอำนาจหน้าที่ของ “บอร์ด OSA” คือ

1.กำหนหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น Financial Hub

2.กำหนดแนวทางการส่งเสริมธุรกิจเป้าหมาย กำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาตในการประกอบธุรกิจ

3.กำหนดเป้าหมาย กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนใช้ในการขออนุญาต และพิจารณาการอนุญาต รวมทั้งการเพิกถอน การอนุญาต กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการส่งเสริมและสิทธิประโยชน์ในการประกอบธุรกิจ

4.ติดตามและประเมินผลการดำเนินการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น Financial Hub และกำกับดูแลสำนักงาน

5.กำหนดเงื่อนไขการประชุมคณะกรรมการและการวินิจฉัยขี้ขาดของที่ประชุม

6.การดำเนินการกรณีกรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณา กำหนดให้คณะกรรมกรรมการอาจแต่งตั้งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้

นายเผ่าภูมิได้กล่าวสรุปด้วยว่าอำนาจหน้าที่ของบอร์ด OSA จะทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย กำหนดแนวทางการส่งเสริม กำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาต หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการขออนุญาต และการอนุญาต การเพิกถอน และการกำกับดูแลธุรกิจการเงินที่จะเข้ามาทำธุรกิจในไทย โดยต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนด หรือมาตรฐานเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) ที่เป็นมาตรฐานสากลด้วย