กลยุทธ์คงสมดุลเปลี่ยนผ่านอุตฯยานยนต์ ขยายเวลาผลิตชดเชยEV3-หนุนใช้HEV
ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนม.ค.-ต.ค.2567 รถยนต์มียอดขาย 476,350 คัน ลดลงจากปี 2566 ในระยะเวลาเดียวกัน 26.24% สะท้อนสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยว่ากำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งในหลายรูปแบบ
เมื่อเร็วๆนี้ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หารือกับคณะผู้บริหาร บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด และคณะผู้บริหาร บริษัท บีวายดี ออโต้ (ประเทศไทย) จำกัด เกี่ยวกับมาตรการ ทิศทาง แนวทาง นโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ รวมถึงชี้แจงแนวทางในการลงทุนของบริษัทฯ
“ขอบคุณที่ทางบีวายดีเลือกมาลงทุนที่ไทย พร้อมมีการแต่งตั้งบริษัทเรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัดเป็นผู้จำหน่าย และให้บริการหลังการขายรถยนต์ในตลาดประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยมีโชว์รูมและศูนย์บริการ รวม 31 แห่งทั่วประเทศ เกิดการจ้างงาน มีการสนับสนุนสินค้าและบริการท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก”
ในส่วนการหารือในครั้งนี้ได้ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับทิศทางพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้เข้ากับเศรษฐกิจในปัจจุบันเพิ่มขึ้น ทั้งการเปลี่ยนมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์พลังงานทางเลือก และยังคงรักษาฐานของการผลิตรถยนต์สันดาป เพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ การออกแบบภาษีให้เหมาะสม รวมถึงการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีแก่สถานศึกษาเพื่อให้ต่อยอดเป็นแรงงานคุณภาพสูงในอนาคตด้วย
ล่าสุดคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน( บีโอไอ) ได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนโครงการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งการผลิตรถยนต์ BEV แบตเตอรี่ และชิ้นส่วนสำคัญ รวมทั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมเงินลงทุนกว่า 81,000 ล้านบาท
ในส่วนของมาตรการ EV3 และ EV3.5 โดยกรมสรรพสามิต มีผู้เข้าร่วมมาตรการจำนวน 26 บริษัท คิดเป็นจำนวนยานยนต์ทุกประเภทรวมกันกว่า 133,000 คัน สำหรับยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.2567) มีจำนวน 59,746 คัน เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า จดทะเบียน 21,657 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
การประชุมคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ บอร์ดอีวี ที่มีแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ประชุมได้หารือข้อเสนอดังกล่าว โดยพิจารณาสถานการณ์ตลาดรถยนต์ของไทยในปัจจุบันที่อาจมีความเสี่ยงจากภาวะอุปทานล้นตลาด (Oversupply) ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามราคาที่รุนแรงมากขึ้น และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ บอร์ดอีวี
“จึงมีมติให้ปรับปรุงเงื่อนไขมาตรการรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) หรือ มาตรการ EV3 ที่เดิมกำหนดให้ต้องผลิตรถยนต์เพื่อชดเชยการนำเข้าในอัตราส่วน 1 : 1 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 1 คัน) ภายในปี 2567 หรือ 1 : 1.5 เท่า ภายในปี 2568 นั้นให้เป็นผู้ประกอบการสามารถขยายเวลาผลิตชดเชยตามมาตรการ EV3 ไปผลิตชดเชยภายใต้เงื่อนไขของมาตรการ EV3.5 ได้ หรือ ผลิตชดเชย 2 เท่า ภายในปี 2569 หรือ 3 เท่า ภายในปี 2570”
ทั้งนี้ การขยายเวลาการผลิตชดเชยตามมาตรการ EV3 ซึ่งเป็นข้อเสนอจากกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ให้พิจารณาขยายเวลาเงื่อนไขการผลิตชดเชยสำหรับผู้ผลิตที่ได้รับเงินสนับสนุนตามมาตรการ EV3 ซึ่งเดิมกำหนดว่าต้องผลิตให้ครบถ้วนตามสัญญาภายในปี 2567 - 2568 เนื่องจากยอดขายของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศอยู่ในภาวะหดตัว จากปัญหาความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)ในฐานะกรรมการ และเลขานุการบอร์ดอีวี กล่าวว่าที่ประชุมเห็นชอบมาตรการ 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.มาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโดยปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับผลิตรถยนต์ Hybrid (HEV) และ Mild Hybrid (MHEV) และ2.การขยายเวลาการผลิตชดเชยตามมาตรการ EV3โดยให้สามารถโอนไปผลิตชดเชยตามเงื่อนไขมาตรการ EV3.5 และระงับการให้เงินอุดหนุน จนกว่าจะผลิตชดเชยได้ครบถ้วน
“โดยทั้งสองมาตรการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสมดุลการแข่งขัน และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนทั้งระบบ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น “ศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลกในทุกประเภท” ในระยะยาว”
สำหรับ“มาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า”บอร์ดอีวี ได้เห็นชอบการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารขนาดที่นั่งไม่เกิน 10 คน เพื่อสนับสนุนการลงทุนในกลุ่มรถไฮบริดแบบ HEV
( Hybrid electric vehicle (HEV) คือรถยนต์ที่ใช้ขุมพลัง 2 ระบบ คือเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ทำงานประสานกับมอเตอร์ไฟฟ้าจ่ายไฟโดยแบตเตอรี่ เพื่อขับเคลื่อนรถยนต์) และ MHEV (Mild hybrid : ลักษณะการทำงานของระบบไฮบริดจะเป็นการเสริมกำลังในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์เท่านั้น ไม่สามารถขับเคลื่อนรถยนต์ได้โดยอิสระด้วยแบตเตอรี่) ซึ่งผลิตในประเทศ โดยคาดว่าจะดึงการลงทุนได้ประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท
การเปลี่ยนผ่านที่กำลังเกิดขึ้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันประคับประคองให้อุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีขนาดใหญ่และค้ำยันเศรษฐกิจไทยมานานไม่ล่มสลายลงในชั่วพริบตาเพียงเพราะการเปลี่ยนแปลง แต่ทุกฝ่ายจะต้องพลิกเกมส์การเปลี่ยนแปลงที่กำลังถาโถมเข้ามาแรงขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยคงสถานะศูนย์กลางการผลิตแห่งภูมิภาคได้ต่อไป