‘คมนาคม’ รุกกรีนโลจิสติกส์ ตั้งเป้าลด 40 ล้านตันคาร์บอน พลิกโฉมการขนส่ง

‘คมนาคม’ รุกกรีนโลจิสติกส์ ตั้งเป้าลด 40 ล้านตันคาร์บอน พลิกโฉมการขนส่ง

“สุริยะ” ประกาศนโยบายหนุนคมนาคมสีเขียว เร่งเปลี่ยนขนส่งทางถนนเป็นระบบรางและน้ำ เปลี่ยนอีวีบัส 5,000 คัน ตั้งเป้าลดปล่อยคาร์บอน 40 ล้านตันคาร์บอน ภายในปี 2573 รฟท.ประเดิมเปลี่ยนหัวรถจักรไฮบริด-ไฟฟ้า ทอท.เล็งออกอินเซนทีฟให้สายการบินใช้ SAF

KEY

POINTS

  • “สุริยะ” ประกาศนโยบายหนุนคมนาคมสีเขียว ดันลงทุนโครงการและระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เร่งเปลี่ยนขนส่งทางถนนเป็นระบบรางและน้ำ เปลี่ยนอีวีบัส 5,000 คัน ตั้งเป้าลดปล่อยคาร์บอน 40 ล้านตันคาร์บอน ภายในปี 2573
  • การรถไฟฯ ประเดิมเปลี่ยนหัวรถจักรไฮบริด-ไฟฟ้า ขณะที่ ทอท.เล็งออกอินเซนทีฟให้สายการบินใช้ SAF ด้านการท่าเรือฯ ตั้งเป้าดันกรีนพอร์ตภายใน 10 ปี

“กรุงเทพธุรกิจ” จัดงาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business ระหว่างวันที่ 3-4 ธ.ค.2567 โดยวันที่ 4 ธ.ค.2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานพร้อมกล่าวปาฐกถาในประเด็น “Mobility Infrastructure for Sustainability 's Journey” 

นายสุริยะ กล่าวว่า รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการลงทุนทุกระบบให้มีประสิทธิภาพเพื่อเชื่อมการเดินทางแบบไร้รอยต่อ และลดต้นทุนโลจิสติกส์ควบคู่การสนับสนุนพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“ผมมอบนโบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมพัฒนาโครงข่ายด้านคมนาคม บริการประชาชนเพื่อสร้างโอกาสประเทศ สนองนโยบายรัฐบาล สร้างโอกาสการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้า เชื่อมประสิทธิภาพด้านการคมนาคมให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งทางบก น้ำ รางและอากาศ ตลอดจนเชื่อมต่อการคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้านทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนอย่างยั่งยืน”

‘คมนาคม’ รุกกรีนโลจิสติกส์ ตั้งเป้าลด 40 ล้านตันคาร์บอน พลิกโฉมการขนส่ง

สำหรับการขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว กระทรวงฯ กำหนดกรอบนโยบาย 9 แนวทาง ดังนี้ 

1.สานต่อโครงการตามแผนอแม่บทกระทรวงคมนาคม 2.ส่งเสริมโครงข่ายคมนาคมให้เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ 3.สร้างโอกาสในการลงทุน 4.ให้ประชาชนเข้าถึงระบบขนส่งได้เท่าเทียม 5.เปิดโอกาสให้โลจิสติกส์ไทย 6.สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกรีนโลจิสติกส์เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 

7.เพิ่มความปลอดภัยภาคคมนาคมขนส่งทั้งในช่วงก่อสร้างและการให้บริการ โดยมุ่งเน้นการกำกับดูแลให้ได้มาตรฐาน 8.ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และหลักธรรมาภิบาลที่โปร่งใสตรวจสอบได้ และ 9.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกมิติ

“กระทรวงคมนาคมเน้นเปลี่ยนการขนส่งจากทางถนนเป็นการขนส่งทางรางและทางน้ำ ส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนการเดินทางมาเป็นขนส่งสาธารณะ มุ่งหวังไทยต้องมีคมนาคมขนส่งคนและสินค้าที่มีประสิทธิภาพเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาการจราจรและมลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ที่มีผลต่อสุขภาพ” นายสุริยะ กล่าว

รวมทั้งกระทรวงจะเร่งเสริมให้เอกชน และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งทางบก พัฒนาฟีดเดอร์ที่สนับสนุนระบบราง ด้วยการเปลี่ยนผ่านอีวีบัส รถเมล์ รถโดยสารประจำทาง และรถโดยสาร บขส. ให้ปรับเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันเป็นยานยนต์ไฟฟ้า 

‘คมนาคม’ รุกกรีนโลจิสติกส์ ตั้งเป้าลด 40 ล้านตันคาร์บอน พลิกโฉมการขนส่ง

เปลี่ยนพฤติกรรมสู่ขนส่งสาธารณะ

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมเสวนา Panel Discussion: The Next Chapter of Transportation for Sustainability โดยระบุว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายเพื่อจุดประสงค์ให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งนอกจากการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ รถไฟฟ้า และฟีดเดอร์ต่างๆ แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างผลักดันมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด หรือ Congestion Charge

“โจทย์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยที่ประกาศเป้าหมายไว้ในปี 2573 กว่า 160 ล้านตัน ส่วนของภาคขนส่งได้รับเป้ามา ต้องลดให้ได้กว่า 40 ล้านตัน ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มต้นแล้ว โดยการผลักดันขนส่งพลังงานสะอาด” นายปัญญา กล่าว

อย่างไรก็ดี นโยบายกระทรวงฯ ตั้งแต่อดีตผลักดัน Green & Safe Transport แต่เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงมากขึ้น เห็นได้จากเหตุการณ์น้ำท่วมภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่งเกิดจากภาวะสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทำให้วันนี้กระทรวงคมนาคมต้องทำงานมากขึ้น ไม่เพียงเรื่องความปลอดภัย แต่ต้องคำนึงการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เปลี่ยนเรื่องรถที่ให้บริการจากเชื้อเพลิงน้ำมันมาเป็นยานยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้จะส่งเสริมการเปลี่ยนอีวีบัส ประกอบด้วย รถโดยสารประจำทางไฟฟ้าเขต กทม.และปริมณฑณ จะเพิ่มเป็น 3,100 คันภายในปี 2568 รวมไปถึงการเปลี่ยนรถโดยสารไฟฟ้าของ ขสมก. ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเปลี่ยนรถไฟฟ้า 1,520 คัน และการเปลี่ยนรถโดยสารไฟฟ้าระหว่างเมืองของ บขส. 381 คันโดยทั้งหมด คือ เรื่องของเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่ง

‘คมนาคม’ รุกกรีนโลจิสติกส์ ตั้งเป้าลด 40 ล้านตันคาร์บอน พลิกโฉมการขนส่ง

รฟท.เปลี่ยนหัวจักร“ไฮบริด-ไฟฟ้า”

นายวิริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า วันนี้จะเห็นการเปลี่ยนผ่านของรถไฟไทย ที่กำลังพัฒนาโครงข่ายรถไฟในระยะที่ 1 รวมระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร ซึ่งจะเสร็จทั้งหมดในปี 2568 ตอบโจทย์เรื่องการตรงต่อเวลา และสร้างโอกาสทางการเดินทางมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้ คือ ปรับระบบขนส่งมวลชนรอง (ฟีดเดอร์) มาสนับสนุนการเดินทางเชื่อมต่อรถไฟ

ขณะเดียวกัน รฟท.มีแผนผลักดันเป้าหมายภาคขนส่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากภาพรวมของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทราบว่า 1 ใน 3 มาจากการปล่อยของคมนาคมขนส่ง ซึ่งหากการขนส่งจะไปสู่เป้าหมายนั้น ระบบรางซึ่งเป็นการคมนาคมหลักต้องเปลี่ยนผ่านเรื่องนี้ด้วย

“รถไฟกำลังจะแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจัดซื้อหัวรถจักรไฮบริด ซึ่งจะใช้พลังงานดีเซลลดลง 10-30% โดยหากลดลงได้ 20% ก็ลดการใช้ดีเซล 6 ลิตรต่อกิโล และคาดว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนต่อปีได้กว่า 1 แสนตัน” นายวีริศ กล่าว

นอกจากนี้ หาก รฟท.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะมีการนำไปสู่การสร้างคาร์บอนเครดิต อีกทั้งจะต่อยอดเรื่องการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) เพื่อสร้างพลังงานหมุนเวียนมาใช้ภายในสถานีรถไฟ ซึ่งปัจจุบันได้ติดตั้งที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1 หมื่นตันต่อปี ดังนั้น รฟท.คาดว่าหลังจากนี้แต่ละปีจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซได้เฉลี่ย 1.1 แสนตันต่อปี

นายวีริศ กล่าวว่า การผลักดันให้รถไฟไทยยั่งยืนนั้น ส่วนหนึ่งคือการเปลี่ยนหัวรถจักรมาใช้พลังงานไฟฟ้า แต่การจัดซื้อหัวรถจักรไม่มีทางยั่งยืนได้ เพราะประเทศที่เจริญแล้วมีขีดความสามารถ ต้องสร้างหัวรถจักรได้เอง เนื่องจากการจัดซื้อหัวรถจักร 1 ครั้ง ต้องมีสัญญาซ่อมบำรุงอีกกว่า 10 ปี 

ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้องค์กรยั่งยืน คือการสร้างรถจักรเอง ผลักดันอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเชื่อว่า 2-3 ปีนี้จะได้เห็นการเริ่มเดินหน้า แต่เมื่อเริ่มแล้วทำให้ยืนยาวต้องมีนโยบายสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

‘คมนาคม’ รุกกรีนโลจิสติกส์ ตั้งเป้าลด 40 ล้านตันคาร์บอน พลิกโฉมการขนส่ง

ทอท.จูงใจใช้น้ำมันอากาศยานชีวภาพ

นางสาวปวีณา จริยฐิติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เผยว่า ทอท.มีแผนพัฒนาท่าอากาศยานให้ออกแบบอาคารผู้โดยสารต้องตอบโจทย์ลดคาร์บอน 

อีกทั้งประสานผู้บริการสายการบินในการใช้เทคโนโลยีเพื่อบริการผู้โดยสารใช้เครื่องอัตโนมัติตรวจสอบใบหน้า เพื่อให้ประชาชนและผู้โดยสารเดินทางสะดวก ปลอดภัย ได้รับประสบการณ์ที่ดี

นอกจากนี้ ทอท.ยังติดโซลาร์เซลล์บนอาคารผู้โดยสาร เพื่อนำพลังงานต่างๆ เข้ามาใช้หมุนเวียนในอาคารผู้โดยสารผู้โดยสาร และท่าอากาศยาน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ช่วยให้ ทอท.ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้ามากขึ้น

“อุตสาหกรรมการบินกำลังเปลี่ยนผ่านสู่การเตรียมใช้น้ำมัน SAF ซึ่งไทยจะมีข้อกำหนดให้สายการบินเริ่มใช้ 1% ในปีหน้า ส่วนสนามบินต้องปรับตัวรับเรื่องนี้ โดยกำลังพิจารณาอินเซนทีฟให้กับสายการบิน ที่ใช้น้ำมัน และอากาศยานลดคาร์บอน” นางสาวปวีณา กล่าว

‘คมนาคม’ รุกกรีนโลจิสติกส์ ตั้งเป้าลด 40 ล้านตันคาร์บอน พลิกโฉมการขนส่ง

แหลมฉบัง“กรีนพอร์ต”ภายใน10ปี

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวในหัวข้อ The Green Port: Efficiency of the Future โดยระบุว่า นโยบายสู่การพัฒนาท่าเรือ กทท.ยังมุ่งเดินหน้า 3 ส่วน คือ การพัฒนาท่าเรือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนระบบการขนส่งเป็นยานพาหนะไฟฟ้า และการพัฒนาท่าเรือบางแห่งให้เป็นเขตปลอดการปล่อยคาร์บอน โดยจะเห็นภาพภายในปี 2581 

ทั้งนี้ กทท.เริ่มเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน นำอุปกรณ์รถยก รถหัวลากต่างๆ เปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมพลังงานสะอาดในเขตท่าเรือ และยังมีโครงการติดตั้งแผงโซลาร์ภายในท่าเรือด้วย

นอกจากนี้ หัวใจสำคัญที่ กทท.กำลังพยายามส่งเสริม คือ การสร้างความเข้าใจในองค์กร มุ่งสู่ท่าเรือชั้นนำของโลก ซึ่งการก้าวมาเป็นท่าเรืออันดับที่ 17 ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่เราต้องการมุ่งสู่ Net Zero เพื่อนำพาองค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ท่าเรือแหลมฉบังนับเป็นท่าเรือใหญ่ในไทย ปัจจุบันมี 12 ผู้ประกอบการใช้บริการอยู่ ทั้งท่าเรือขนส่งสินค้า ท่าเรือขนส่งรถยนต์ และท่าเรือท่องเที่ยว โดย กทท.มีนโยบายและแผนงานผลักดันท่าเรือแหลมฉบังสู่ Green & Smart Port ภายใน 10 ปี เพื่อมุ่งสู่การเป็น World class port 

ส่วนท่าเรือกรุงเทพ จะมุ่งสู่เป้าหมาย City Port เป็นท่าเรือสมัยใหม่ลดคาร์บอน มีโปรดักซ์บริการด้านการขนส่งสินค้าทางเรือในรูปแบบใหม่ๆ ที่มีนวัตกรรม เป็นท่าเรืออัตโนมัติ และสร้างกระบวนการขนส่งครบวงจรทุกรูปแบบ

‘คมนาคม’ รุกกรีนโลจิสติกส์ ตั้งเป้าลด 40 ล้านตันคาร์บอน พลิกโฉมการขนส่ง