“ตลาดข้าวไทย” ในทวีปแอฟริกา | สกล หาญสุทธิวารินทร์

“ตลาดข้าวไทย” ในทวีปแอฟริกา | สกล หาญสุทธิวารินทร์

ประเทศไทยส่งออกข้าวไปขายทั่วโลกในทุกทวีปรวมทั้งหมดประมาณ 175 ประเทศ โดยมีประเทศในทวีปแอฟริกาเป็นลูกค้าข้าวไทย ประมาณ 41 ประเทศ ข้าวที่ประชาชนในประเทศในทวีปแอฟริกานิยมบริโภคคือ ข้าวนึ่ง รองลงมาคือข้าวขาว ชั้นต่างๆ บริโภคข้าวหอม และข้าวเหนียวบ้าง

ถึงแม้ข้าวไทยจะมีราคาที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม อินเดีย แต่ผู้บริโภคในประเทศทวีปแอฟริกาก็ยังนิยมบริโภคข้าวไทย เนื่องจากมั่นใจในคุณภาพของข้าวไทย 

จากสถิติข้าวไทยที่ส่งออกไปยังประเทศในทวีปแอฟริกา ที่ผ่านการตรวจสอบของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (ซึ่งไม่รวมถึงข้าวหอมมะลิไทย)  

 ปี 2565 ประเทศที่นำเข้าข้าวไทยปริมาณสูงสุด  3 อันดับแรกคือ
             อันดับ1    แอฟริกาใต้  เป็นข้าวขาว100% 19,041.73ตัน ข้าวขาว5% 17,111.75 ตัน ข้าวขาว 35-45% ผสม 2,169.00 ตัน ปลายข้าว 5,281.00 ตัน ข้าวเหนียว 95.43 ตัน  ข้าวนึ่ง   802,096.47ตัน ข้าวกล้อง 71.17ตัน รวม 845,835.55 ตัน มูลค่า350,463,501.65เหรียญสหรัฐ หรือ  12,159,218,628.14 บาท

     อันดับ 2 เบนิน  เป็นข้าวขาว100%  96.00 ตัน ข้าวขาว5%  23,050.00 ตัน ข้าวขาว 35-45% ผสม9,000.00 ตัน ปลายข้าว 7,523.00 ตัน ข้าวนึ่ง 293,259.14 ตัน รวม332,908.14 ตัน มูลค่า137,553,210.28 เหรียญสหรัฐหรือ 4,829,300,089,91บาท

         อันดับ3 แคเมอรูน  เป็นข้าวขาว100% 178.00 ตัน ข้าวขาว 5% 56,697.78 ตัน  ข้าวขาว35-45 % ผสม 91,625.28 ตัน ปลายข้าว11,536.00 ตัน ข้าวนึ่ง70,205.00 ตัน รวม230,242.06 ตัน มูลค่า97,798,122.82 เหรียญสหรัฐหรือ  2,949,062,633.01บาท  

ปี 2566 ประเทศที่นำเข้าสูงสุด3อันดับแรกคือ

        อันดับ 1 แอฟริกาใต้  เป็นข้าวขาว100% 13,179.00 ตัน ข้าวขาว5%  20,050.00  ตัน ข้าวขาว10% 25.00  ตัน ข้าวขาว 35-45% ผสม 1,844,.50  ตัน ปลายข้าว 9,477.00 ตัน ข้าวเหนียว 74.50 ตัน  ข้าวนึ่ง 802,022.92ตัน ข้าวกล้อง  5.04 ตัน รวม  846,678.46 ตัน มูลค่า  440,179,830.07 เหรียญสหรัฐ หรือ 15,129,543.525.86 บาท

        อันดับ 2  โมซัมบิค  เป็นข้าวขาว100%  5,530.00 ตัน ข้าวขาว5%  75,767 .69 ตันข้าวขาว 25% 15,964.00ตัน ข้าวขาว35-45% ผสม 104,256.00 ตัน  ข้าวนึ่ง 2,801.00 ตัน ข้าวกล้อง 125.60 ตัน  รวม204,444.29 ตัน มูลค่า  103,820,395,59 เหรียญสหรัฐหรือ 3,601,423,931.92 บาท

       อันดับ3 แคเมอรูน เป็นข้าวขาว 100%  228.00 ตัน ข้าวขาว 5% 19,116.50 ตัน  ข้าวขาว 25% 15,392.00 ตัน ข้าวขาว35-45 % ผสม 62,057.19 ตัน ปลายข้าว 24,743.60 ตัน ข้าวนึ่ง 30,600.00 ตัน รวม 152,137.29 ตัน มูลค่า  74,733,780.67 เหรียญสหรัฐหรือ 2,590,389,454.02 บาท

 

“ตลาดข้าวไทย” ในทวีปแอฟริกา | สกล หาญสุทธิวารินทร์

จะเห็นได้ว่าการส่งออกข้าวนึ่งมีปริมาณสูงสุด รองลงมาคือ ข้าวขาว ชั้นและชนิดต่างๆ ตั้งแต่ ชั้นสูงสุด จนถึงชั้นล่างสุด 

การให้ความสำคัญกับตลาดข้าวในทวีปแอฟริกา

ในอดีตที่ผ่านมา ทางราชการไทยให้ความสำคัญกับตลาดข้าวไทยในทวีปแอฟริกาไม่แพ้ภูมิภาคอื่นๆ ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา มีการส่งข้าราชการไปเยี่ยมเยียนประเทศนำเข้าข้าวในทวีปแอฟริกา เกือบทุกประเทศ เพื่อรักษาความสัมพันธ์และขยายการส่งออกข้าวไทยในภูมิภาคแอฟริกา ส่วนภาคเอกชนก็จัดให้มีคณะผู้แทนผู้แทนไปเยี่ยมเยียนลูกค้าอยู่ตลอดเช่นกัน

สิ่งที่สำคัญประการหนึ่งคือ การให้ความมั่นใจกับผู้นำเข้าว่า ไม่ว่าข้าวที่ส่งออกไปยังประเทศในทวีปแอฟริกา จะเป็นข้าวประเภทหรือชนิดหรือชั้นใด ข้าวที่ส่งออกจะต้องผ่านการตรวจสอบว่ามีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด ที่รู้จักกันเป็นสากลว่า Thai Rice Standards 

คือหากเป็นข้าวหอมมะลิไทย กฎหมายบังคับให้ผู้ส่งออกต้องจัดให้มีการตรวจสอบ ถ้าให้เซอร์เวย์เอกชนเป็นผู้ตรวจสอบ ต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า

ส่วนพนักงานผู้ตรวจสอบก็ต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานมาตรฐานสินค้า เช่นกัน แล้วนำผลการตรวจสอบนั้นไปขอใบรับรองมาตรฐานสินค้าเพื่อนำไปแสดงต่อพนักงานศุลกากรจึงจะส่งออกได้

แต่ถ้าเป็นข้าวอื่นที่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิไทย การจะกำหนดให้ต้องมีเซอร์เวย์เอกชนที่มีประสบการณ์ตรวจสอบคุณภาพข้าวระหว่างประเทศ เป็นผู้ตรวจสอบหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความตกลงระหว่างผู้ส่งออกและผู้ซื้อ

แต่ไม่ว่าจะมีการกำหนดให้มีเซอร์เวย์เอกชนตรวจสอบหรือไม่ก็ตาม ข้าวที่ส่งออกนั้นต้องมีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานข้าวที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด และต้องผ่านการตรวจสอบจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยก่อนทุกครั้งที่ส่งออก 

ทั้งนี้เป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการส่งออกข้าวไปนอกราชอาณาจักร ด้วยเหตุนี้ จึงมั่นใจได้ว่าข้าวที่ส่งออกไปยังประเทศในทวีปแอฟริกา จะเป็นข้าวที่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานข้าวที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด

นอกจากการตรวจสอบคุณภาพข้าวก่อนส่งออกดังกล่าวแล้ว ก็อาจมีข้อกำหนดให้การส่งออกข้าวไปยังประเทศในทวีปแอฟริกาบางประเทศ ต้องมีเอกสารที่เรียกว่า Health Certificate ที่ออกโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สำแดงว่าข้าวที่ส่งออกนั้น ปราศจากแมลงมีชีวิต และเหมาะแก่การบริโภค ไปแสดงในการนำเข้าด้วย 

หน่วยงานที่มีหน้าที่ออกเอกสารรับรองของสภาหอการค้าดังกล่าว จะพิจารณาจากผลการตรวจสอบคุณภาพข้าวของผู้ตรวจสอบว่าถูกต้องตามมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด และเอกสารรับรองการปลอดจากศัตรูพืช Phytosanitary certificate ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเกณฑ์

คนไทยปลูกข้าวและส่งออกข้าวเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญมาช้านาน คนไทยบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักตั้งแต่เป็นทารกจนสูงอายุ มีความรู้สึกและความเข้าใจฝังอยู่ในสายเลือดว่าข้าวเป็นอาหารของมนุษยชาติ 

การส่งออกข้าวไทยไปจำหน่ายให้ผู้บริโภคในต่างประเทศ จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจว่า ข้าวเป็นอาหารของมนุษยชาติ ข้าวที่ส่งออกต้องเป็นข้าวที่มีคุณภาพถูกต้องตามมาตรฐานข้า วหรือเงื่อนไขที่กำหนดโดยผู้ซื้อ และเหมาะแก่การบริโภค.