ครม.เศรษฐกิจ ถกสินเชื่ออุตสาหกรรม - SMEs เล็งฟื้น B10 แก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ

ครม.เศรษฐกิจ ถกสินเชื่ออุตสาหกรรม - SMEs เล็งฟื้น B10 แก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ

"เศรษฐา" เรียกประชุม ครม.เศรษฐกิจ ครั้งที่ 2  ลุยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เตรียมเคาะมาตรการสนับสนุนสินเชื่อให้กับภาคอุตสาหกรรม และ SMEs บสย.ค้ำประกันเงินกู้ตามโครงการ PGS 11 50,000 ล้านบาท "ออมสิน" ชงสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท ช่วย SMEs เคาะฟื้น B10 เพิ่มการใช้ปาล์มในประเทศ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2567 ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (10 มิ.ย.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ซึ่งเป็นไปตามกำหนดการที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้มีการรายงานความคืบหน้า และมาตรการต่างๆ ที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการชุดนี้ รวมทั้งติดตามความคืบหน้าทุก 2 สัปดาห์ โดยในการประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีฝ่ายเลขานุการ ร่วมจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นฝ่ายเลขาฯ การประชุมร่วมกัน

สำหรับวาระการประชุม ครม.เศรษฐกิจที่น่าสนใจได้แก่ การกลั่นกรองวาระเศรษฐกิจที่มีความสำคัญก่อนเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เต็มคณะในวันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2567 เช่น มาตรการสนับสนุนสินเชื่อให้กับภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) โดยกระทรวงการคลังเสนอให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันเงินกู้ตามโครงการ PGS 11 วงเงินสูงสุดรายละไม่เกิน 40 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งโครงการ 50,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน

ด้านธนาคารออมสิน เตรียมเสนอมาตรการให้สินเชื่อวงเงิน 5,000 ล้านบาท แก่ผู้ประกอบการขนาดเล็กใน 8 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญตามแนวนโยบาย “IGNITE THAILAND” ของนายกรัฐมนตรีโดยมี บสย.ร่วมค้ำประกันเงินกู้ให้

นอกจากนี้ยังมีวาระในการพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เสนอมาตรการแก้ปัญหาราคาปาล์มในประทศตกต่ำ โดยให้ผู้ค้าน้ำมันปรับส่วนผสมไบโอดีเซล (บี100) ในน้ำมันดีเซลจากเดิม 7% (บี7) เป็น 10% หรือน้ำมันบี10 เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี100  ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำในขณะนี้ได้

ทั้งนี้การปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันบี100 เพื่อผสมในน้ำมันดีเซลเป็นไบโอดีเซล จาก 7% เป็น 10% จะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เพิ่มได้มากถึงประมาณ 5 หมื่นตันต่อเดือน นอกจากนี้การเปลี่ยนมาผลิตน้ำมันไบโอดีเซลบี10 จะช่วยลดสัดส่วนของปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มในประเทศที่มีอยู่กว่า 2.23 แสนตัน ซึ่งก็จะส่งผลให้มีความต้องการใช้ผลผลิตน้ำมันปาล์มจากผลปาล์มสดมากขึ้น

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์