สุญญากาศ 'รัฐบาล' ฉุดความเชื่อมั่น ‘เอกชน’ หวั่นแผนฟื้นเศรษฐกิจสะดุด

สุญญากาศ 'รัฐบาล' ฉุดความเชื่อมั่น ‘เอกชน’ หวั่นแผนฟื้นเศรษฐกิจสะดุด

“เอกชน” จับตาเสถียรภาพรัฐบาล ส.อ.ท.ระบุ นักลงทุนแห่กังวลโครงการต่างๆ ที่นายกฯ เดินทางไปเชิญชวน “หอการค้า”ชี้ ศาลไม่สั่งนายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นเรื่องดี “สมาคมนักวิเคราะห์” ชี้ตลาดทุนยังไม่ให้น้ำหนักมากนัก ‘ธุรกิจท่องเที่ยว’ ลุ้นเศรษฐาอยู่ต่อ

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่โตต่ำกว่าศักยภาพ รวมถึงจีดีพีไตรมาส 1 ปี 2567 ขยายตัว 1.5% ถือว่าต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้ขยายตัวได้ในระยะยาว

ในขณะที่ปัจจัยทางการเมืองเป็นอีกประเด็นที่นักธุรกิจให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นเสถียรภาพรัฐบาลหลังจากที่มีรัฐมนตรียื่นใบลาออก 3 คน ภายใน 1 เดือน 

รวมถึงล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากรับวินิจฉัยสถานะนายกรัฐมนตรีกรณีผิดจริยธรรมในการตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณา ซึ่งแม้จะไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่อาจส่งผลต่อการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในช่วงที่ยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมา

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กรณีคำสั่งรับพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่ากระทบกับความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ เพราะก่อนหน้านี้ที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่พิจารณาได้มีการสอบถามมาทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติเกี่ยวกับเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ทราบว่าผลการวินิจฉัยจะออกมาเป็นอย่างไร โดยมีการรับคำฟ้องแต่ไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น การรับคำฟ้องก็ทำให้เกิดความเสี่ยงขึ้นมา เพราะไม่รู้ว่าขบวนการในการสอบสวนจะออกมาอย่างไร ทำให้ความกังวลของทั้งต่างชาติ และนักลงทุนเริ่มมีความกังวล ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัดสินใจลงในการลงทุนจะเป็นอย่างไรต่อไป อีกทั้ง อาจจะส่งผลให้เกิดการลังเลใจ และชะลอการตัดสินใจ เพื่อรอดูสถานการณ์ต่อไป

นอกจากนี้ จะเกี่ยวโยงถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตหรือการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าหรือไม่นั้น ยอมรับว่าตอบยากเพราะไม่ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาเร็วหรือช้า ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์เพราะมีความไม่แน่นอนมาก โดยนายกรัฐมนตรีจึงอยู่ในสถานะที่มีความเสี่ยง เพราะอะไรที่ไม่แน่นอนถือเป็นความเสี่ยง และขึ้นอยู่กับคนหรือนักลงทุนจะดูว่าเสี่ยงมากหรือน้อย เพราะของแต่ละคนแต่ละประเทศให้ความสำคัญแตกต่างกันไป

ยึดเสถียรภาพทางการเมืองสำคัญ

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์อยู่ในช่วงของความท้าทายต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เมื่อมีรัฐบาลใหม่ก็หวังว่าจะเข้ามาเร่งฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากการที่นายกฯ ได้เดินทางเชิญชวนนักลงทุนจากทั่วโลกมาลงทุนในโครงการต่างๆ 

รวมทั้งเมื่อข่าวนี้แพร่ไปทั่วโลกจะส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศอาจกังวลไม่แน่ใจว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป สิ่งเหล่านี้หากมองลึกๆ แล้ว ไม่เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่น เพราะสิ่งที่สำคัญของปัจจัยที่เขาะมาลงทุนคือเรื่องความมีเสถียรภาพทางการเมืองที่มีความสำคัญมาก

“โครงการที่รับปากไว้จะเป็นอย่างไรไม่มีใครตอบได้ คดีนี้จะใช้เวลาในการตัดสินนานแค่ไหน ทำให้สถานะนายกฯ รวมทั้งรัฐบาลมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น สร้างความกังวลและความไม่สบายใจให้กับนักลงทุนโดยเฉพาะประเทศที่เดินทางไป" นายเกรียงไกร กล่าว

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าตัวเลขสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ขณะนี้สูงที่สุดในรอบ 5 ปี แต่กรณีนี้จะทำให้นักลงทุนกังวลไม่สบายใจและไม่แน่ใจ และส่งผลต่อความเชื่อมั่นหลดลงด้วย

“หอการค้า”ขอทุกคนเคารพมติศาล

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาหอการค้าฯ เห็นว่าในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติออกมานั้น ทุกฝ่ายก็ต้องเคารพในคำสั่งของศาล ซึ่งได้มีการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วในประเด็นคำสั่งศาลที่ไม่ได้สั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยสภาหอการค้าฯ มองว่าสิ่งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่จะทำให้นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลขับเคลื่อนได้ต่อเนื่อง

อย่งไรก็ตาม วันนี้ ทุกฝ่ายเห็นแล้วว่าจากจีดีพีในไตรมาส 1 เติบโตได้เพียง 1.5% ซึ่งเติบโตน้อยกว่ากลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันเอง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีนโยบายต่างๆ เข้ามาสนับสนุนอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ ทราบว่า นายกฯ ได้สั่งการให้มีการจัดประชุม ครม.เศรษฐกิจ ในวันที่ 27 พ.ค.2567 โดยสภาหอการค้าฯ เห็นด้วย และเห็นว่าน่าจะมีการเชิญภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือด้วย 

“หากรัฐบาลให้หอการค้าร่วมหารือ จะเป็นการร่วมกันปรับรูปแบบการทำงานเชิงรุก โดยภาคเอกชนพร้อมสนับสนุนการทำงานกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันมาตรการที่เหมาะสม ซึ่งเชื่อว่าน่าจะช่วยทำให้เกิดทิศทางที่ดีแก่เศรษฐกิจไทยต่อไป” นายสนั่น กล่าว

‘ไพบูลย์’ ชี้ตลาดทุนยังไม่ให้น้ำหนักมาก

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) และกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า กรณีดังกล่าวตลาดทุนไทยยังไม่ให้ “น้ำหนัก” ผลกระทบดังกล่าวมากขึ้น แต่ยอมรับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด 

ทั้งนี้ เนื่องจากมองว่ากระบวนการยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะมีข้อสรุป ซึ่งปัจจัยกระทบตลาดทุนไทยยังอยู่ที่ผลดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.)

ขณะที่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจมองว่าปัจจุบันรัฐบาลมีทีมเศรษฐกิจใหม่ ดังนั้นเชื่อว่าการทำงานไม่น่าจะสะดุด แต่คงต้องรอประเมินผลอีกครั้ง แต่หากดูในตอนนี้ถือว่าตลาดทุนไทยไม่ได้อ่อนไหวในประเด็นดังกล่าวมาก ด้วยอาจจะมีความชัดเจนออกมาในระดับหนึ่งแล้ว

‘ท่องเที่ยว’ ลุ้น ‘เศรษฐา’ อยู่ต่อ

นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวว่า ผลสรุปออกได้ทั้ง 2 หน้า ส่วนจะออกทางไหนไม่มีใครรู้ ทำให้ตอนนี้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต้องพิจารณาดูแลความเรียบร้อยของ ครม.และเตรียมแผนต่อไปว่าถ้านายเศรษฐาพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องทำอย่างไรให้เกิดความต่อเนื่องในการบริหารประเทศ

เอกชนท่องเที่ยวอยากให้นายเศรษฐาเป็นนายกฯ ต่อ เพราะที่ผ่านมาน่าจะเป็นนายกฯ คนแรกๆ ที่นำภาคการท่องเที่ยวมาเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ใส่เกียร์สุดกว่าเมื่อเทียบกับคนอื่น" 

ทั้งนี้ เห็นได้จากการผลักดันมาตรการด้านท่องเที่ยว เช่น ยกเว้นวีซ่า (วีซ่าฟรี) ให้ตลาดเป้าหมาย โดยมอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมเดินหน้าจนสำเร็จ ซึ่งต้องชื่นชมตรงจุดนี้และถ้านายเศรษฐาได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อ ภาคเอกชนท่องเที่ยวเห็นว่าเมื่อมีข้อเสนอหรือได้สะท้อนความเห็นถึงนายกรัฐมนตรี และหากนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยก็พร้อมนำไปผลักดันต่อช่วยภาคท่องเที่ยว