เอกชนเกือบ 200 องค์กร ออกโรง ‘คัดค้าน’ ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ
“เศรษฐา” ชิงประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศ 1 ต.ค.นี้ ยืนยันการเมืองไม่ได้แทรกแซง ฝ่ายลูกจ้างยื่นข้อเสนอบางกิจการเกิน 400 บาท นายจ้างเสนอเลื่อนขึ้นค่าจ้าง ด้านองค์กรเอกชนทั่วประเทศ หอการค้าจังหวัด ส.อ.ท.สมาคมการค้า สภานายจ้างเกือบ 200 องค์กร ออกโรงค้านนโยบายรัฐบาล
รัฐบาลเดินหน้านโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ทั่วประเทศ โดยจะปรับขึ้นรอบที่ 3 ของปี 2567 ในวันที่ 1 ต.ค.2567 หลังจากปรับขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ม.ค.2567 วันละ 2-16 บาท โดยภูเก็ตมีค่าจ้างสูงสุด ปรับจาก 354 บาท เป็น 370 บาท และค่าจ้างต่ำสุด 3 จังหวัด ประกอบด้วย นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ปรับจาก 328 บาท เป็น 330 บาท
หลังจากนั้นประกาศปรับครั้งที่ 2 วันที่ 13 เม.ย.2567 เป็นวันละ 400 บาท ใน 10 จังหวัด (บางอำเภอ) เฉพาะธุรกิจโรงแรม 4 ดาว ขึ้นไป ซึ่งการที่รัฐบาลต้องการปรับขึ้นครั้งที่ 3 ในปีนี้ กำลังสร้างแรงคัดค้านจากองค์กรเอกชนทั่วประเทศคัดค้านเกือบ 200 องค์กร ประกอบด้วย
- คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย , สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย
- หอการค้าจังหวัด 76 แห่ง
- สมาคมการค้า 95 แห่ง
- สภาองค์กรนายจ้าง 16 แห่ง
สำหรับข้อเสนอของภาคเอกชนคัดค้านการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ โดยไม่ต้องการให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงการปรับค่าแรงขั้นต่ำ รวมทั้งต้องการให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
วมทั้งให้ยกระดับรายได้ลูกจ้างด้วยอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน และการปรับค่าจ้างขั้นต่ำบางพื้นที่และบางธุรกิจควรรับฟังความเห็นเอกชน
ทั้งนี้ ประเด็นการแทรกแซงของการเมืองถูกนำมาตั้งข้อสังเกต เพราะมาตรา 79 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 บัญญัติให้คณะกรรมการค่าจ้างมีอำนาจกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามความเหมาะสมแก่สภาพเศรษฐกิจและสังคม
ในขณะที่รัฐบาลกำหนดให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ทั่วประเทศ ก่อนที่คณะกรรมการค่าจ้างจะมีมติ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 (เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร) จ.เพชรบุรี รับทราบตามที่กระทรวงแรงงานรายงานการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากัน 400 บาท ทั่วประเทศ มีผลบังคับใช้ในเดือน ก.ย.-ต.ค.2567
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลจะไม่ถอยการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ 400 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2567 และจะติดตามผลกระทบเพื่อหาเยียวยาโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ซึ่งกระทรวงแรงงานจะหารือผู้ประกอบการเพื่อรับฟังข้อเสนอ
รวมถึงกระทรวงพาณิชย์จะดูแลผลกระทบราคาสินค้า และกระทรวงการคลังจะดูมาตรการภาษีช่วยผู้ประกอบการ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่กระทบการขึ้นราคาสินค้าทุกรายการ ทั้งนี้ต้องดูต้นทุนแต่ละรายสินค้าที่ชี้แจงได้ และกรมการค้าภายในจะดูแลเรื่องนี้
“การขึ้นค่าแรงไม่ใช่จะทำให้สินค้าขึ้นราคาทั้งหมด ต้องดูเงื่อนไขและรายละเอียด จะอ้างการขึ้นค่าแรงไม่ได้ ต้องดูต้นทุนว่ามาจากส่วนไหนเท่าไหร่” นายภูมิธรรมกล่าว
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงวันละ 400 บาท ไม่ส่งผลภาคเกษตร เพราะการจ้างงานภาคเกษตรสูงกว่าวันละ 400 บาท
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กำลังรวบรวมประเด็นที่กระทบภาคอุตสาหกรรม ซึ่งครอบคลุมค่าแรงขั้นต่ำ, มาตรการภาษีคาร์บอนที่เป็นกติกาใหม่ของโลก
รวมทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือด้านแหล่งทุนแลการปรับเปลี่ยนกิจการเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
“ไตรภาคี”ขึ้น 1 ต.ค.ตามรัฐบาลประกาศ
รายงานข่าวระบุว่า การรายงาน ครม.ดังกล่าวมีขึ้นในช่วงเช้า ในขณะที่ในช่วงบ่ายวันที่ 14 พ.ค.2567 คณะกรรมการค่าจ้างกลางได้ประชุมพิจาณาการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ทั่วประเทศ ใช้เวลารวม 4 ชั่วโมง
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน และประธานคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 กล่าวหลังการประชุมว่า ได้นำข้อเสนอนายจ้างและลูกจ้างมาพิจารณาหลังมีการประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ต.ค.2567
ทั้งนี้ และคณะกรรมการไตรภาคียืนยันว่าไม่เป็นเครื่องมือของการเมือง ดังนั้น จึงมีมติให้คณะอนุกรรมการแต่ละจังหวัดพิจารณาว่าควรขึ้นค่าจ้างเท่าใด กิจการใดต้องขึ้นค่าจ้างและเห็นด้วยหรือไม่ที่ต้องขึ้นภายในวันที่ 1 ต.ค.2567 มาภายในเดือน ก.ค.นี้
“ไตรภาคีพิจารณาโดยไม่มีอำนาจใดมาแทรกแซง เป็นไปตามกรอบพิจารณาสภาพเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและราคาสินค้าในตลาด เพราะบริบทแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน ซึ่งเข้าใจว่าบางกิจการ เช่น เอสเอ็มอี ค้าปลีก ค้าส่ง ชาวสวนชาวไร่ อาจะไม่พร้อมขึ้นค่าแรง จึงให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองและเสนอมาคณะกรรมการไตรภาคีเคาะครั้งสุดท้ายให้ทันตามไทม์ไลน์ที่กำหนด”นายไพโรจน์ กล่าว
ยืนยันการเมืองไม่ได้แทรกแซง
นายไพโรจน์ กล่าวว่า คณะกรรมการไตรภาคีพิจารณาให้มีความเหมาะสม ถูกต้อง ครบถ้วน และตรงกับความต้องการลูกจ้างและนายจ้าง ซึ่งการยกเลิกสูตรเดิมและใช้สูตรค่าแรงลอยตัว ไม่กำหนดตัวเลขค่าแรงแก่คณะอนุกรรมการไตรภาคีเพื่อให้มีเสรีภาพ และอิสระในแต่ละพื้นที่ที่ไม่เหมือนกัน
อีกทั้งฝ่ายลูกจ้างต้องการปรับค่าแรงมากกว่า 400 บาท บางกิจการ โดยค่าแรงแต่ละพื้นที่จึงขึ้นกับคณะอนุกรรมการจังหวัดนำเสนอ แต่เมื่อมาเข้าสู่คณะกรรมการไตรภาคีจะมีสูตรการคำนวณให้เหมาะสมทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง
“ฝ่ายนายจ้างมีข้อเสนอว่า การนำเสนอข้อมูลของคณะอนุกรรมการจังหวัดควรกำหนดเวลาถึงปลายปี แต่มองว่านานเกินไป 2 เดือนก็พอไม่ต้องเก็บข้อมูลถึง 6 เดือน และยืนยันว่าไม่ได้เป็นไปตามข้อเสนอการเมือง แต่เป็นช่วงเวลาที่ควรทำ” นายไพโรจน์ กล่าว
ส่วนที่มีข้อเสนอว่าค่อยปรับขึ้นค่าแรงในปี 2568 ต้องพิจารณาคณะอนุกรรมการจังหวัดเสนอมาอย่างไร และคณะกรรมการไตรภาคีชุดใหญ่จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะปรับขึ้นวันไหนอย่างไร
โวยไตรภาคีเร่งรัดปรับขึ้นค่าแรง
นายอรรถยุทธ ลียะวณิช คณะกรรมการค่าจ้าง ฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า ฝ่ายเลขานุการเสนอให้ศึกษาวิจัยว่าภาคอุตสาหกรรมใดควรปรับขึ้นค่าแรงอย่างไร รวมถึงประเภทธุรกิจที่จะปรับขึ้น เพื่อนำมาเสนออีกครั้งในวันที่ 19 มิ.ย.2567
“นายจ้างมีข้อสังเกตว่าการพิจารณาขึ้นค่าแรงเร่งรีบกว่าปกติ ซึ่งเดิมจะให้คณะอนุกรรมการจังหวัดเสนอภายในเดือน ส.ค.เพราะต้องเก็บข้อมูลตลอดปลายปี 2566 จนถึงวันที่ 31 ส.ค.2567 และต้องรอข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ที่จะออกมาในเดือน ก.ย.ก่อนเสนอคณะอนุกรรมการวิชาการกลั่นกรองเดือน ต.ค.และประกาศใช้เดือน ม.ค.2568” นายอรรถยุทธ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติ 7 ต่อ 5 ยกเลิกสูตรคำนวณค่าจ้างใหม่ที่มีมติเห็นชอบเดือน ก.พ.2567 ซึ่งนายจ้างรับไม่ได้เพราะเป็นสูตรที่อิงไปตามปริมาณและอัตราที่ไม่มีเพดาน ส่วนสูตรใหม่ต้องพิจารณาวันที่ 19 มิ.ย.นี้”
16 องค์กรนายจ้างค้านปรับค่าแรง
สภาองค์การนายจ้าง 16 แห่ง ได้ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และประธานคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อคัดค้านการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท พร้อมกันทั่วประเทศ
นายเนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ระบุว่า ประเทศอยู่ช่วงเปราะบางมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อ ค่าเงินบาท ราคาพลังงาน มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ
รวมทั้งที่สำคัญขีดความสามารถในการแข่งขันด้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้น เศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ ไม่พร้อมที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศอย่างแน่นอน