สัญญาณส่งออกไตรมาส 2 ฟื้น หวั่น ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ดันค่าระวางเรือ

สัญญาณส่งออกไตรมาส 2 ฟื้น หวั่น ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ดันค่าระวางเรือ

พาณิชย์ เผย ส่งออกเดือนเม.ย.มูลค่า 23,278 ล้านดอลลาร์ ขยาย 6.8 % คาดพ.ค.ยังเป็นบวกต่อเนื่อง หวังผลไม้ดันส่งออกจีนกลับมาเป็นบวกหลังติดลบต่อเนื่อง 3 เดือน คงเป้าทั้งปี 1-2 % ด้านสรท. คาดไตรมาส 2 ขยายตัวได้ 1 % เผยปัญหาทะเลแดงปะทุขึ้นอีกครั้งดันค่าระวางเรือพุ่ง

การส่งออกสินค้าของไทยในเดือน เม.ย.2567 ได้กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้ง โดยมีมูลค่า 23,278 ล้านดอลลาร์ ขยาย 6.8% หลังจากเมื่อเดือน มี.ค.2567 ที่ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ซึ่งสอดคล้องกับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นส่งผลดีต่อภาคการผลิตทั่วโลก

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน เม.ย.2567 มีมูลค่า 23,278 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วขยาย 6.8 % พลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้ง และหากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 11.4% 

ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 24,920 ล้าน ขยายตัว 8.3.% ส่งผลให้ขาดดุล 1,641 ล้านดอลลาร์ 

ขณะที่ภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-เม.ย.) การส่งออก มีมูลค่า 94,273 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 1.4 % การนำเข้า มูลค่า 100,390.7 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 4.9% ขาดดุลการค้า 6,116.9 ล้านดอลลาร์

สำหรับการส่งออกไทยพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในเดือน เม.ย.2567 สอดคล้องกับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยโลกที่ชะลอตัวลง ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นส่งผลดีต่อภาคการผลิตทั่วโลก โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นหลายรายการ 

ขณะที่ปัญหาภัยแล้งจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง แต่อานิสงส์ด้านราคาจึงทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรบางรายการยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง

สัญญาณส่งออกไตรมาส 2 ฟื้น หวั่น ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ดันค่าระวางเรือ

สำหรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มขึ้นของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 2% กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน 

สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้น 12.7% แต่สินค้าเกษตรลดลง 3.8% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ ข้าว ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ไก่แปรรูป เครื่องดื่ม ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และสิ่งปรุงรสอาหาร 

สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ทั้งนี้ 4 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 0.8%

สินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 9.2% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ 

ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ทั้งนี้ 4 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 1.8%

ตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา 

ตลาดหลัก เพิ่มขึ้น 6.7% ดังนี้ ตลาดสหรัฐ เพิ่มขึ้น 26.1% CLMV เพิ่มขึ้น 5.1% อาเซียน (5 ประเทศ) เพิ่มขึ้น 3.7% และสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) เพิ่มขึ้น 20.2% แต่จีน ลดลง 7.8% และญี่ปุ่น ลดลง 4.1% 

ตลาดรอง เพิ่มขึ้น 14.4% โดยตลาดทวีปออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 18.6% เอเชียใต้ เพิ่ม 13% ตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้น 17.8% แอฟริกา เพิ่มขึ้น 32.1% ลาตินอเมริกา เพิ่มขึ้น 41.9% รัสเซียและกลุ่ม CIS เพิ่มขึึน 8.6% แต่สหราชอาณาจักร ลดลง 33.7% ตลาดอื่น ๆ ลดลง 68.5% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ลดลง 79.3%

สัญญาณส่งออกไตรมาส 2 ฟื้น หวั่น ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ดันค่าระวางเรือ

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับตลาดจีนที่ติดลบต่อเนื่อง 3 เดือนมาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง และปัญหาจากภาคอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าในเดือน พ.ค. การส่งออกไทยไปจีนน่าจะพลิกกลับมาเป็นบวกจากผลไม้ไทยที่ส่งออกจีนมากขึ้น 

อีกทั้ง แนวโน้มการส่งออกเดือน พ.ค.2567 คาดว่าจะยังคงขยายตัวเป็นบวกได้ต่อเนื่อง โดยสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งข้าว ยางพารา จะยังส่งออกได้ดี และผลไม้จะเป็นเดือนที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น หลังผลผลิตออกสู่ตลาดมาก 

ขณะที่ไตรมาส 2 ทั้งไตรมาสน่าจะเป็นบวกได้ 0.8-1% มีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว เงินเฟ้อเริ่มเบาลง ส่งผลดีต่อกำลังซื้อของหลายประเทศ มีความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตร เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร

อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มขยายวงกว้าง เพราะอาจจะมีผลกระทบต่อการส่งออกได้ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามประเมินสถานการณ์เป็นระยะต่อไป

ส่วนการขาดดุลการค้า เจาะลึกดูแล้ว เป็นการขาดดุลจากการนำเข้าสินค้าพลังงานที่ราคาสูงขึ้น แต่มีข้อดี คือ การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบ รวมกันถึง 66% ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการผลิตและส่งออกในอนาคต และเป้าหมายทั้งปี ยังคงยืนยันที่ 1-2% เหมือนเดิม ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกเดือน พ.ค.2567 คาดว่า จะยังคงขยายตัวได้ดี เพราะสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งข้าว ยางพารา และผลไม้ ที่จะกลับมาส่งออกได้ดีขึ้น จะช่วยผลักดันมูลค่าการส่งออก 

ขณะที่สินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ก็จะยังเติบโตได้ดี โอกาสที่การส่งออกของเดือน พ.ค.และ มิ.ย. น่าจะทำได้ 24,500 ล้านดอลลาร์ มีโอกาสเป็นไปได้ และไตรมาส 2 จะขยายตัวได้ที่ 1% 

อย่างไรก็ตามยังต้องจับตาปัญหาความตึงเครียดในทะเลแดงทำให้สายเดินเรือหลายสายเริ่มเดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮปมากขึ้นเพื่อความปลอดภัย ทำให้ค่าระวางเรือเริ่มปรับสูงขึ้นและมีความผันผวนมากขึ้น กลับมาเกือบเท่ากับช่วงต้นปี เช่น เส้นทางไปยุโรป ค่าระวางเรืออยู่ที่ 2,500 ดอลลาร์ต่อตู้ 20 ฟุต จากเดิม 1,800 ดอลลาร์ต่อตู้ 20 ฟุต หรือเพิ่มขึ้น 37%

ส่วนสัปดาห์หน้าที่จะมีการประชุมทูตพาณิชย์จากทั่วโลกในไทย โดย สรท.ต้องการให้รัฐบาลเร่งดูแลเรื่องการลดต้นทุนการผลิต, การเร่งหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพเนื่องจากตลาดเดิมเช่น จีน และสหรัฐยังชะลอตัวและ การเร่งโปรโมทสินค้าซอฟพาวเวอร์ในกลุ่มอาหารและสิ่งทอ