ไม่ใช่แค่ ‘GDP’ โตต่ำ ‘FDI’ ไทยก็ต่ำมาก สัญญาณอุตสาหกรรมแข่งขันยากในอนาคต

ไม่ใช่แค่ ‘GDP’ โตต่ำ ‘FDI’ ไทยก็ต่ำมาก  สัญญาณอุตสาหกรรมแข่งขันยากในอนาคต

ส่องตัวเลข FDI ไทยต่ำสุดในกลุ่มประเทศสำคัญอาเซียนปี 66 ไม่ถึง 3 พันล้านดอลลาร์ อินโดฯสูงสุด 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์ มาเลฯ 1.85 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนเวียดนาม 8.9 พันล้านดอลลาร์ สศช.ชี้สัญญาณกระทบการผลิตและส่งออกชะลอตัว ระบุสัมพันธ์การส่งออกหากการลงทุนต่ำการส่งออกไม่สดใส

KEY

POINTS

  • ข้อมูลการลงทุนทางตรง (FDI)ในปี 2566 เข้าไทยน้อยที่สุดในอาเซียนกลุ่มประเทศเศรษฐกิจสำคัญอาเซียน
  • FDI ไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากการลงทุนในอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น ปิโตรเคมี ลดลง
  • FDI ที่ลดลงจะกระทบกับการผลิตและภาคการส่งออกของไทย และกระทบกับจีดีพีไทยที่มีแนวโน้มเติบโตลดลง

การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 /2567 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2567 ที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ผ่านมาขยายตัวได้ 1.5% แม้ว่าจะสูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์แต่ สศช.ก็มีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจลงจากประมาณ 2.7% มาอยู่ที่ 2.5%  ตัวเลขดังกล่าวทำให้เกิดความตื่นตัวจากหลายๆฝ่ายเพราะนอกจากเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน ยังต่ำกว่าศักยภาพเศรษฐกิจของไทยที่ควรจะเป็น

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการข้ามประเทศให้เตรียมการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หรือ (ครม.เศรษฐกิจ) ในวันจันทร์ที่ 27 พ.ค.นี้เป็นครั้งแรกของรัฐบาลนี้ และจะประชุมกันทุกวันจันทร์ ขณะที่พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลังกล่าวใน ครม.ว่าแม้เศรษฐกิจเราจะโตต่อเนื่องจากปีก่อนที่ขยายตัวได้ 1.9% มาเป็น 2.5% ในปีนี้ก็ยังไม่น่าพอใจ เพราะตัวเลขยังต่ำกว่าอีกหลายประเทศที่เป็นคู่แข่งของเรา รวมทั้งพูดถึงโจทย์สำคัญคือการปรับโครงสร้างการผลิตให้สามารถผลิตสินค้าไฮเทคที่มีมูลค่าสูงเป็นที่ต้องการที่จะส่งออกไปยังตลาดโลกได้มากขึ้น

หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยพยายามที่จะดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทยโดยได้มีการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีการเดินทางไปโรดโชว์ในต่างประเทศ กำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ออกมาตรการจูงใจส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริษัทชั้นนำของโลกเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าสูง ที่ผ่านมาตัวเลขการขอส่งเสริมการลงทุนที่นักลงทุนยื่นขอกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อยู่ที่ประมาณ  6 – 8 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตามหากดูจากตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ที่เข้ามายังประเทศไทยเมื่อเทียบกับหลายประเทศยังน้อยมาก โดย FDI ของไทยยังต่ำสุดในกลุ่มประเทศสำคัญในอาเซียน โดยในปี 2566 FDI NetFlow ของประเทศต่างๆในอาเซียน มีดังนี้    

  •  อินโดนีเซีย 21,70 1 ล้านดอลลาร์
  • มาเลเซีย 18,500 ล้านดอลลาร์
  • เวียดนาม  8,255 ล้านดอลลาร์
  • ไทย 2,969 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ในรายงานของ สภาพัฒน์ยังระบุว่า FDI ของไทยยังมีทิศทางปรับตัวลูดลงต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนในอุตสาหกรรมดั้งเดิมของไทยอย่างอุตสาหกรรมปิโตรเลียมมีการลงทุนลดลงอย่างเห็นได้ชัดและถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 3 ปี สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรมที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอดีตที่ผ่านมาเริ่มมีบทบาทต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทยลดต่ำลงภายใต้สถานการณ์การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของไทยและขีดความสามารถในการส่งออกสินค้าที่ลดต่ำลงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสำคัญในอาเซียน

ทั้งนี้การที่ FDI ลดลงยังส่งผลต่อการผลิตและการส่งออกของไทยในอนาคตด้วย เพราะหากการลงทุนลดลงการผลิตเพื่อส่งออกก็จะลดลงด้วย จากข้อมูลในปี 2566 การส่งออกสินค้าของไทยมีสัดส่วนคิดเป็น 54.5% ของ GDP ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยปรับตัวลดลง1% สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมซึ่งลดลง 3.7% ลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 6 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งออก

จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องสร้างแรงจูงใจและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคการผลิตยกระดับเทคโนโลยีการผลิตไปสู่การผลิตสินค้าที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางภายในประเทศ รวมทั้งการผลิตกำลังคนและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยให้ภาคการผลิตและการส่งออกไทยยังคงรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป