กทท. ชงแผน 'ท่าเรือคลองเตย' 6 เดือนชัดเจน แบ่งพื้นที่ปั้นมิกซ์ยูส

กทท. ชงแผน 'ท่าเรือคลองเตย' 6 เดือนชัดเจน แบ่งพื้นที่ปั้นมิกซ์ยูส

“มนพร” ลั่น 6 เดือนเคาะแผนพัฒนาท่าเรือคลองเตย ตอกเสาเข็มภายในรัฐบาลนี้ ด้านการท่าเรือฯ จ่อเสนอโมเดลปี 2562 ชงลดพื้นที่รับเรือขนส่งสินค้า หันพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส และสมาร์ทคอมมูนิตี้ 2,353 ไร่ วงเงินลงทุนมากกว่า 1 แสนล้านบาท

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีวันคล้ายวันสถาปนา กทท. ครบรอบ 73 ปี พร้อมระบุว่า ขณะนี้กระทรวงฯ ได้รับหนังสือข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อเร่งศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ออกจากพื้นที่กรุงเทพฯ โดยอยู่ระหว่างเตรียมประชุมคณะกรรมการพิจารณาเรื่องดังกล่าวภายในเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน

อย่างไรก็ดี ตนได้สั่งการให้ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) นำผลการศึกษาฉบับล่าสุดในปี 2562 มาเป็นข้อเสนอของการพิจารณาทบทวนแผนพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ โดยภายใต้แผนที่ดำเนินการศึกษามานั้น จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมด 2,353 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่เชิงพาณิชย์ในลักษณะผสมผสาน (Mixed-Use) โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย Smart Community และการพัฒนาท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ เพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว

“ในข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีการระบุให้ย้ายท่าเรือทั้งหมดออกไป แต่เป็นข้อสั่งการให้ศึกษาความเป็นไปได้ โดยปัจจุบันการท่าเรือฯ ก็มีแผนศึกษาความเหมาะสมไว้อยู่แล้ว ในการย่อส่วนของท่าเรือขนส่งสินค้า ปรับให้เป็นท่าเรือระบบไฟฟ้า ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และหันมาพัฒนาท่าเรือเพื่อรองรับเรือสำราญการท่องเที่ยวมากขึ้น”

กทท. ชงแผน \'ท่าเรือคลองเตย\' 6 เดือนชัดเจน แบ่งพื้นที่ปั้นมิกซ์ยูส

นางมนพร กล่าวด้วยว่า คาดว่าคณะกรรมการจะพิจารณาปรับแผนความเหมาะสมของท่าเรือกรุงเทพแล้วเสร็จภายใน 6 เดือนนี้ และมั่นใจว่าจะสามารถเริ่มตอกเสาเข็มก่อสร้างโครงการได้ภายในรัฐบาลนี้ เพราะมีเป้าหมายต้องการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือแห่งนี้ให้เกิดประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่โดยรอบ

นอกจากนี้ ตนยังได้มอบหมายให้ กทท. สร้างรูปแบบธุรกิจและกิจกรรมใหม่ที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการ และตอบสนองความต้องการของผู้นำเข้า - ส่งออก เพื่อให้ท่าเรือกรุงเทพพัฒนาเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ที่สำคัญของประเทศ โดยส่งเสริมให้ท่าเรือกรุงเทพเป็นศูนย์กลางการให้บริการร่วมกับท่าเรือเอกชนในแม่น้ำเจ้าพระยา (Chaophraya Super Port) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และเป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ร่วมกับภาคเอกชน

อีกทั้งยังดำเนินโครงการเขตปลอดอากร (Bangkok Port Free Zone) สร้างมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้า คาดว่าจะมีรายได้จากการดำเนินการ 6-7 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ได้มีแผนในการขยายขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้า คลังสินค้า และศูนย์กระจายสินค้าในอนาคต ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรือฝั่งตะวันตกเป็นท่าเรือกึ่งอัตโนมัติ และโครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าและศูนย์เชื่อมโยงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ

กทท. ชงแผน \'ท่าเรือคลองเตย\' 6 เดือนชัดเจน แบ่งพื้นที่ปั้นมิกซ์ยูส

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย​ (กทท.) เผยว่า กทท.เตรียมเสนอคณะกรรมการพิจารณาแผนพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ เพื่อให้ทบทวนความเหมาะสมของโครงการ และจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ 2,353 ไร่ ซึ่งคาดว่าการประชุมนัดแรกในเดือน พ.ค.นี้ น่าจะเริ่มมีความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลต่อการขับเคลื่อนโครงการ

ขณะที่ผลการศึกษาพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ ก่อนหน้านี้ กทท.เคยศึกษาเป็นฉบับล่าสุดในปี 2562 จะมีการพัฒนาพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งในพื้นที่ท่าเรือ จะปรับปรุงให้เป็นท่าเรือสีเขียว บริการสายการเดินเรือด้วยระบบเทคโนโลยีต่างๆ ส่วนพื้นที่นอกเขตท่าเรือจะมีการพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูส ซึ่งเคยมีการศึกษาไว้ทั้งห้างสรรพสินค้า ศูนย์การประชุม และที่อยู่อาศัยต่างๆ

“ผลการศึกษาก่อนหน้านี้ต้องยอมรับว่าเป็นมุมมองของการท่าเรืออย่างเดียว แต่ในการพิจารณาแผนพัฒนารอบนี้ จะครอบคลุมหลากหลายมุมมองรอบด้าน เพราะคณะกรรมการจะมีตัวแทนหลายภาคส่วน ทำให้แผนพัฒนาท่าเรือกรุงเทพจะเป็นประโยชน์สูงสุด”

กทท. ชงแผน \'ท่าเรือคลองเตย\' 6 เดือนชัดเจน แบ่งพื้นที่ปั้นมิกซ์ยูส

นายเกรียงไกร กล่าวด้วยว่า ท่าเรือกรุงเทพปัจจุบันแบ่งพื้นที่ภายใต้ผังเมืองเก่าที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน การปรับปรุงแผนพัฒนาในครั้งนี้จึงถือเป็นการปรับผังเมืองในรอบ 73 ปีของการท่าเรือ จะพิจารณาใช้ทุกพื้นที่อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่ของการท่าเรือ จะหารือประชาชนถึงความต้องการ และหาทางออกของการพัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกัน

ทั้งนี้ ข้อเสนอของ กทท.ในการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ เบื้องต้นจะมีโครงการใหม่ที่เกิดขึ้น อาทิ กิจการท่าเรือรองรับเรือสำราญเพื่อการท่องเที่ยว และการปรับปรุงท่าเรือชายฝั่ง และท่าเรือขนส่งทางทะเล ให้เป็นระบบอัตโนมัติ ถือเป็นการย่อส่วนท่าเรือขนส่งสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหา ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก แต่สามารถจัดสรรระบบขนส่งสินค้าให้รองรับตู้ขนส่งสินค้าในปริมาณเท่าเดิม ลดจำนวนรถบรรทุกเข้าออกพื้นที่ท่าเรือ เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดและสร้างมลภาวะ

“วันนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าท่าเรือกรุงเทพจะย้ายไปในรูปแบบใด เพราะหากพิจารณาตามคำสั่งคือการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของการย้ายท่าเรือกรุงเทพ ดังนั้นการท่าเรือฯ เราจึงจะเสนอแผนที่เคยศึกษาไว้แล้ว ในการย่อส่วนท่าเรือขนส่งให้เล็กลงด้วยเทคโนโลยี เพิ่มพื้นที่เพื่อรองรับเรือสำราญ พัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ และยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชน โดยท้ายที่สุดคงต้องรอดูผลการพิจารณาของคณะกรรมการก่อน”

กทท. ชงแผน \'ท่าเรือคลองเตย\' 6 เดือนชัดเจน แบ่งพื้นที่ปั้นมิกซ์ยูส

ผังโครงการแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือคลองเตยของ กทท. บนที่ดินรวม 2,353 ไร่ มีมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านบาท ก่อนหน้านี้ถูกจัดสรรออกเป็น 5 กลุ่มพัฒนา ประกอบด้วย

กลุ่มพัฒนาพื้นที่ A

  • อาคารสำนักงานท่าเรือใหม่และอาคารสำนักงานเช่าเอกชน
  • โครงการที่พักอาศัย
  • โครงการพัฒนา Medical Hub
  • อาคารสำนักงาน
  • Smart Community
  • อาคารอยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการพนักงานการท่าเรือ
  • อาคารอยู่อาศัยประเภทเช่า
  • Retail Mixed use

กลุ่มพัฒนาพื้นที่ B

  • Smart Port (กึ่งอัตโนมัติ)
  • ท่าเทียบเรือตู้สินค้าฝั่งตะวันออก
  • ท่าเทียบเรือสินค้าชายฝั่ง

กลุ่มพัฒนาพื้นที่ C

  • พื้นที่ Cruise Terminal
  • Retail Mixed use
  • อาคารสำนักงาน
  • พื้นที่พาณิชย์ Duty Free
  • โรงแรม
  • พื้นที่พาณิชยกรรม
  • อาคารจอดรถ
  • ศูนย์ฝึกอบรม
  • พื้นที่ศูนย์อาคารแสดงสินค้า
  • อาคารสาธารณูปโภค

พื้นที่รองรับในการพัฒนาอนาคต X

  • พื้นที่คลังเก็บสินค้า
  • สำนักงาน E- Commerce
  • พื้นที่จอดรถบรรทุก
  • พื้นที่ ปตท.เช่าใช้

กลุ่มพัฒนาพื้นที่ G

  • Sport Complex
  • สวนสาธารณะ