‘พ.ร.บ.ซอฟต์พาวเวอร์‘เข้าสภาฯสมัยหน้า ‘รัฐบาล’ ปักหมุดตั้ง ‘THACCA’ ปี 68

‘พ.ร.บ.ซอฟต์พาวเวอร์‘เข้าสภาฯสมัยหน้า ‘รัฐบาล’ ปักหมุดตั้ง ‘THACCA’ ปี 68

รัฐบาลดัน "พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์" เข้าสภาฯสมัยหน้า ดันตั้งสำนักงาน “THACCA” ขึ้นตรงนายกฯ ภายในปี 2568 ทำหน้าที่บริหาร พร้อมจัดสรรงบประมาณ ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่สากล “จุลพันธ์” ยันนโยบายคืบหน้า “เศรษฐา” ให้ความสำคัญจัดงบฯด้วยตัวเอง จับตาจัดสรรงบฯปี68

KEY

POINTS

  • ซอฟต์พาวเวอร์เป็นนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา มีเป้าหมายเพิ่มรายได้ให้คนไทยโดยเพิ่มทักษะและความรู้เพื่อผลักดันการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้คนไทย 20 ล้านครอบครัว ครัวเรือนละ 2 แสนบาทต่อปี หรือปีละกว่า 4 ล้านล้านบาท 
  • รัฐบาลอยู่ระหว่างการผลักดันกฎหมายซอฟต์พาวเวอร์ผ่าน "พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์" ตั้งเป้าเข้าสภาฯสมัยหน้า และตั้งเป้าจัดตั้งสำนักงาน “THACCA” ภายในปี 2568
  • THACCA จะทำหน้าที่บริหาร พร้อมจัดสรรงบประมาณ มีภารกิจผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่สากล  

รัฐบาลดัน "พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์" เข้าสภาฯสมัยหน้า ดันตั้งสำนักงาน “THACCA” ขึ้นตรงนายกฯ ภายในปี 2568 ทำหน้าที่บริหาร พร้อมจัดสรรงบประมาณ ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่สากล “จุลพันธ์” ยันนโยบายคืบหน้า “เศรษฐา” ให้ความสำคัญจัดงบฯด้วยตัวเอง จับตาจัดสรรงบฯปี68

นโยบายซอฟต์พาวเวอร์เป็นนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา โดยมีเป้าหมายเพิ่มรายได้ให้คนไทยและสร้างรายได้ให้ประชาชนปีละ 4 ล้านล้านบาท จากการเพิ่มทักษะและความรู้เพื่อผลักดันการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้คนไทย 20 ล้านครอบครัว สู่รายงานขั้นสูงและแรงงานในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีรายได้เพิ่มขึ้นครัวเรือนละ 2 แสนบาทต่อปี

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์อย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มตั้งแต่การเปิดตัวการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ครอบคลุม 11 อุตสาหกรรมเมื่อเดือน ก.ย.2566 

จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ รวมทั้งสิ้น 29 คน เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2566 ตามมาด้วยการตั้งคณะอนุกรรมการ 11 สาขา 

ทั้งนี้รัฐบาลได้ตั้งเป้าแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องและจัดทำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ในวันที่ 25 ต.ค.2566 ก่อนที่ในเดือนต่อมาคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เห็นชอบกรอบงบประมาณ 5,164 ล้านบาท ในปี 2567 โดยอยู่ในงบประมาณของแต่ละกระทรวง เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยทั้ง 11 ด้าน

สำหรับการดำเนินการนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลในระยะต่อไป นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังคลัง เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลถือว่ามีความคืบหน้า โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธ์ศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้ประชุมหารือเรื่องนี้บ่อยครั้ง และติดตามงานต่อเนื่อง

ส่วนกฎหมายการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ หรือ Thailand Creative Content Agency (THACCA) ซึ่งจะเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลมีความคืบหน้าไปมาก 

เร่งเสนอ ครม.อนุมัติร่างกฎหมาย

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการออกแบบโครงสร้างองค์กรและขั้นตอนของกฎหมาย โดยในส่วนร่างกฎหมายรัฐบาลร่างเสร็จแล้วโดยขณะนี้อยู่ในชั้นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามมาตรา 77 โดยมีการกำหนดระยะเวลาไว้ตามกฎหมายหลังจากนั้นจะได้ส่งเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอน

ทั้งนี้ หลังจาก ครม.เห็นชอบจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาตามขั้นตอนกฎหมายที่ต้องดำเนินให้ครบถ้วนก่อนส่งสภาผู้แทนราษฎร หวังว่าจะเสนอได้ในสมัยประชุมถัดไป โดยสภาผู้แทนราษฎรจะได้พิจารณาจัดตั้งโครงสร้างให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

สำหรับงบประมาณที่รัฐบาลจะนำมาสนับสนุนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ยืนยันว่านายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณ แต่มีหลายนโยบายที่เป็นกลไกที่ต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินงานของภาคเอกชน เพราะเอกชนเป็นช่องทางขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งจะเสนอความเห็นทางธุรกิจและนำเสนอรูปแบบโครงการที่จะเกิดประโยชน์กับแต่ละธุรกิจ

“เป็นความฝันของรัฐบาลที่อยากให้มีส่วนร่วมของภาคประชาชนและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนธุรกิจ เมื่อภาคเอกชนเสนอเสนอแนะมายังภาครัฐ ซึ่งอยู่ในการดูแลของสำนักงบประมาณและจากนั้นจะต้องโครงการที่ริเริ่มจากภาครัฐที่จะเสริมเติมเข้าไป ซึ่งจะเห็นอีกครั้งเวลาที่มีการเสนองบประมาณปี 2568 ต่อสภาผู้แทนราษฎร” นายจุลพันธ์ กล่าว

 

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่าการผลักดันกฎหมายเพื่อจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์โดยตรง THACCA ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่รวบรวมงบประมาณและภารกิจที่เคยใช้สนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไว้ที่เดียว

นายกฯ คุมเองดันซอฟต์พาวเวอร์

ทั้งนี้ THACCA จะเป็นหน่วยงานใหม่ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ภายใต้การกำกับดูแลโดยตรงของนายกรัฐมนตรี เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ โดยเมื่อจัดตั้งองค์กรแล้วเสร็จจะเข้ามาทำหน้าที่แทน “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ” ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศในขณะนี้

นอกจากนี้ THACCA จะสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ อาทิ จัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนการทำงาน ซึ่งสนับสนุนทุกอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ให้ไปในทิศทางเดียวกัน

รวมทั้งในอนาคตเมื่อจัดตั้งองค์กรแล้วเสร็จจะมีหน้าที่โดยตรงในการรับผิดชอบจัดการฝึกอบรม Upskill / Reskill ทักษะด้านอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ตามโครงการ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) สนับสนุนด้านการเงิน 

ทั้งนี้จะมีการตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ โดยที่มาของกองทุนมาจากทุนประเดิมจากรัฐบาล รวมถึงงบประมาณประจำปี การเก็บจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการโอนเงินมาจากกองทุนหมุนเวียน 7 กองทุน

รวมถึงกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนทุกอุตสาหกรรม สนับสนุนองค์ความรู้ โดยการ รวบรวมข้อมูลเชิงลึกด้านการตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศ

นอกจากนี้จะสนับสนุนการเผยแพร่และสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ สร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่และส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขัน โดยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา รับรองมาตรฐานอาชีพ ให้คำปรึกษาทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ และกำหนดมาตรการส่งเสริมการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม 

และเป็นศูนย์อำนวยความสะดวกเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ที่ให้เอกชนติดต่อประสานงานหรือขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐในการทำงานของอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์แบบครบวงจรจบในที่เดียว รวมทั้งทำงานร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ส่งเสริม11กลุ่มซอฟต์พาวเวอร์

สำหรับ THACCA จะสนับสนุนอุตสาหกรรม 11 กลุ่ม ที่กำหนดใน พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ประกอบด้วย 1.การจัดงานเทศกาล 2.การท่องเที่ยว 3.กีฬาและการแข่งขัน 4.เกมอิเล็กทรอนิกส์และอีสปอร์ต 5.งานแฟชั่น งานอัญมณี งานประดิษฐ์เครื่องสำอาง 6.งานออกแบบสถาปัตยกรรม ผลิตภัณฑ์ กราฟิก

7.ดนตรี 8.ภาพยนตร์แอนิเมชัน ละคร การแสดงรายการโทรทัศน์ 9.ศิลปะและศิลปะการแสดง 10.หนังสือ วรรณกรรม การ์ตูนสื่อสิ่งพิมพ์ 11.อาหารและเครื่องดื่ม 

รวมทั้งจะมีการกำหนดประเภทอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์เพิ่มเติม ในขณะที่ความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ โดยคาดว่าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆนี้ และจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนส่งกลับมายัง ครม. 

เตรียมเสนอ ครม.เคาะร่างกฎหมาย

หลังจากนั้นจะนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่จะเปิดขึ้นอีกครั้งในเดือน มิ.ย.2567 และคาดว่าจะผ่านทั้ง 3 วาระ ในปี 2567 จากนั้นจะเข้าสู่ชั้นของวุฒิสภาในเดือน ม.ค.2568 และคาดว่าหากผ่านในชั้นของวุฒิสภาจะประกาศใช้ พ.ร.บ.เพื่อจัดตั้งองค์กรได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ได้ระบุถึงประเทศไทยมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมเข้มแข็งและมีทรัพยากรบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทุนสำคัญที่ใช้ในการสร้างมูลค่าให้แก่อุตสาหกรรม และขยายฐานเศรษฐกิจและฐานรายได้ใหม่ให้ประเทศ 

ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ จึงสมควรกำหนดให้มีกลไกและมาตรการเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมดังกล่าว รวมถึงยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งเสริมบทบาทความเป็นผู้นำของไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยจะเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ

หนุนแข่งขันธุรกิจ‘ซอฟต์พาวเวอร์’เสรี

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ได้ระบุให้ภาครัฐจัดให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการตาม 4 หลักการ ดังนี้

1.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมของประเทศให้มีความหลากหลายและเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศ รวมทั้งแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ โดยต้องไม่แทรกแซงเสรีภาพของผู้ประกอบอาชีพ

2.สนับสนุนการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบอาชีพและผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ให้สอดคล้องความต้องการในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมสร้างสรรค์ โดยต้องคำนึงถึงการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมและไม่เป็นการเอาเปรียบผู้ประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์

3.จัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอและใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณอย่างเป็นระบบเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์อย่างมียุทธศาสตร์ โดยต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ผูกขาดและการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงแหล่งทุนภาครัฐ และต้องป้องกันมิให้มีความซ้ำซ้อนในการจัดสรรเงินของหน่วยงานของรัฐ

4.สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทในการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่นเพื่อเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมและทางความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในระดับประเทศ