ตึงเครียดตะวันออกกลางฉุดเศรษฐกิจ ‘สภาพัฒน์’ จับตา 5 ผลกระทบไทย

ตึงเครียดตะวันออกกลางฉุดเศรษฐกิจ ‘สภาพัฒน์’ จับตา 5 ผลกระทบไทย

อิหร่านโจมตี-อิสราเอล ตอกย้ำปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกเปราะบาง “เศรษฐา” สั่งหน่วยงานเกาะติดสถานการณ์ รายงานตรงหากเกิดเหตุรุนแรง "สศช."มองสถานการณ์ไม่บานปลายซ้ำรอยสงครามอ่าวเปอร์เซีย แต่จับตาผลกระทบ 5 ด้าน จับตาราคาพลังงานโลกพุ่ง กระทบการตรึงราคาในประเทศ

KEY

POINTS

  • การโจมตีโต้กลับของอิหร่านต่ออิสราเอล ตอกย้ำปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกเปราะบาง
  • นายกรัฐมนตรีสั่งหน่วยงานเกาะติดสถานการณ์ รายงานตรงหากเกิดเหตุรุนแรง
  • "สศช."มองสถานการณ์ยังไม่บานปลายซ้ำรอยสงครามอ่าวเปอร์เซีย
  • รัฐบาลจับตาผลกระทบ 5 ด้าน หวั่นกระทบการตรึงราคาในประเทศ

อิหร่านโจมตี-อิสราเอล ตอกย้ำปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกเปราะบาง “เศรษฐา” สั่งหน่วยงานเกาะติดสถานการณ์ รายงานตรงหากเกิดเหตุรุนแรง "สศช."มองสถานการณ์ไม่บานปลายซ้ำรอยสงครามอ่าวเปอร์เซีย แต่จับตาผลกระทบ 5 ด้าน จับตาราคาพลังงานโลกพุ่ง กระทบการตรึงราคาในประเทศ

สถานการณ์ระหว่างอิหร่านและอิสราเอลที่ตรึงเครียดมากขึ้นในช่วง 1 - 2 วันที่ผ่านมาหลังจากที่อิหร่านเปิดฉากโจมตีอิสราเอลด้วยโดรนเพื่อตอบโต้ที่อิสราเอลถล่มสถานกงศุลของอิหร่าน ในกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย แม้จะไม่ได้สร้างความเสียหายต่ออิสราเอลมากนัก แต่สถานการณ์นี้ตอกย้ำว่าความไม่สงบในตะวันออกกลาง รวมทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ของโลกเผชิญสภาวะเปราะบางและอาจปะทุเป็นสงครามได้ทุกเมื่อ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังได้ติดตามสถานการณ์ในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด ภายหลังจากที่สถานการณ์ระหว่างอิหร่านและอิสราเอลตรึงเครียดมากขึ้น รวมทั้งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านต่างประเทศ ความมั่นคง และเศรษฐกิจรายงานตรงทันทีหากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่รุนแรงขึ้น และมีแนวโน้วว่าจะส่งผลกระทบกับประเทศไทย และประชาชนไทย เพื่อที่จะมีมาตรการรับมือและช่วยเหลือได้ทันทีหากมีความจำเป็น

รายงานข่าวจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าสถานการณ์ระหว่างอิหร่านและอิสราเอลที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าจะบานปลายเป็นความรุนแรง เนื่องจากในขณะนี้การทำสงครามระหว่างประเทศต่างๆมีการประเมินล่วงหน้าถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้านโอกาสที่สงครามจะขยายวงไปเป็นสงครามระดับภูมิภาคนั้นยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้สะท้อนความไม่แน่นอนของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยปัจจัยในเรื่องของความขัดแย้งเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ก็เป็นหนึ่งในประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2567 ที่สศช.ได้รายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐบาลรับทราบแล้วว่าจะต้องติดตามสถานการณ์ในภูมิภาคนี้อย่างใกล้ชิด 

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ สศช.ได้มีการจัดทำผลการประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางจากกรณีความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาสเมื่อปลายปี 2566 ซึ่งสาระสำคัญระบุว่าเหตุการณ์ในตะวันออกกลางนั้นยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป โดยมีผลกระทบ 5 ด้านที่ต้องจับตาได้แก่

1. ผลกระทบโดยตรงหากเกิดความขัดแย้งมากขึ้นในตะวันออกกลาง โดยการส่งออกสินค้าของไทยในประเทศสำคัญในตะวันออกกลาง คิดเป็น 2.8% ของการส่งออกของไทยทั้งหมด ในส่วนของการนำเข้า คิดเป็น 10.7% ของการนำเข้าของไทยทั้งหมด โดยมีสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปรวมถึงก๊าซธรรมชาติ

2.ผลกระทบด้านการลงทุนโดยตรงจากตะวันออกกลางมายังไทย โดยผลกระทบด้านนี้อาจจะได้รับผลกระทบไม่มาก เนื่องจากสัดส่วนมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิจากภูมิภาคตะวันออกกลางมีสัดส่วนที่ต่ำ แต่ก็อาจส่งผลให้เกิดการชะลอการลงทุนในโครงการที่อยู่ในแผนการลงทุนได้

ส่วนผลกระทบด้านการท่องเที่ยวสัดส่วนของนักท่องเที่ยวจากอิสราเอลรวมถึงประเทศอื่น ๆ ในตะวันออกกลางช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วน 2.3% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด สะท้อนว่าการลดลงของนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางจะไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวกลุ่มตะวันออกกลางมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าค่าเฉลี่ยนักท่องเที่ยวทั้งหมด จึงอาจส่งผลต่อรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยได้

2. ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ทั้งนี้จะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทยอาจผ่านช่องทางการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ราคา LPG และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังระดับราคาสินค้าภายในประเทศและต้นทุนการผลิตในระยะถัดไป คือ

- ราคาน้ำมัน หากความขัดแย้งมีการลุกลามหรือยืดเยื้อ อาจจะทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันในประเทศไทยโดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลยังคงถูกตรึงราคาไว้จากการสนับสนุนของกองทุนน้ำมันบางส่วน แต่ก็ต้องดูว่าจะสามารถตรึงราคาต่อไปได้หรือไม่หากราคาปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ความสามารถในการพยุงราคาน้ำมันในประเทศก็มีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสาขาการผลิตที่พึ่งพิงพลังงานในสัดส่วนสูง เช่น สาขาการขนส่งฯ สาขาอุตสาหกรรมการผลิต สาขาการไฟฟ้า ก๊าซฯ เป็นต้น

- ราคา LPG หากสถานการณ์ขยายขอบเขตออกไป ราคา LPG อาจจะมีแนวโน้มกลับมาสูงขึ้นในระยะถัดไป ซึ่งฐานะของกองทุนน้ำมันที่น่ามาอุดหนุนราคา LPG ยังคงขาดทุนอยู่อย่างต่อเนื่อง อาจจะส่งผลให้การผยุงราคา LPG มีข้อจ่ากัดในการดำเนินการมากขึ้น ซึ่งการเพิ่มขึ้นของราคา LPG จะส่งผลต่อภาคการขนส่งและภาคครัวเรือนเป็นสำคัญ

3.ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์

- ราคาปุ๋ย ประเทศไทยมีการนำเข้าปุ๋ย (รวมปุ๋ยที่มีแร่โพแทสเซียม) จากอิสราเอลในปี 2565 ทั้งสิ้น 64.7 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 2.1% ของการนำเข้าปุ๋ยทั้งหมด

ซึ่งหากสงครามกระจายวงกว้าง ราคาปุ๋ยในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรในประเทศ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังนำเข้าปุ๋ยจากกาตาร์เป็นสัดส่วนถึง 7% ของการนำเข้าปุ๋ยทั้งหมด

- ราคาเหล็กและทองแดง ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันยังไม่ส่งผลกระทบต่อทั้งราคาเหล็กและทองแดงมากนัก

4. ผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงินโลก

สถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้นักลงทุนต่อเศรษฐกิจและการเงินโลกและนำไปสู่การปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุน โดยมีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์สำคัญทั่วโลก ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลัก ๆ ปรับตัวลดลง เช่นเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ส่งผลให้มีเงินลงทุนระหว่างประเทศเคลื่อนย้ายออกจากประเทศกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยนักลงทุนจะหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมากขึ้น ส่งผลให้ระดับราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้นและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น

ทั้งนี้ ในระยะสั้น ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคจะเผชิญกับความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนจากการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุน และการไหลออกของเงินลงทุนระหว่างประเทศดังกล่าว

5. ผลกระทบจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก การประเมินผลกระทบด้านนี้ โดยสศช.ให้ความสำคัญกรณีที่เกิดผลกระทบบานปลาย และส่งผลต่อการขนส่งพลังงานผ่านช่องแคบฮอร์มุซ (Strait ofHormuz)

ซึ่งช่องแคบนี้ตั้งอยู่ระหว่างอิหร่านและโอมานซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่ออ่าวเปอร์เซียกับมหาสมุทรอินเดียอันเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะต่อการขนส่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากประเทศในอ่าวเปอร์เซีย ก่อนที่ก่อนหน้านี้มีปัญหาวิกฤติทะเลแดงมาแล้ว