สัญญาณที่ดีจากตัวเลขภาคการผลิต

สัญญาณที่ดีจากตัวเลขภาคการผลิต

ภาคการผลิตของไทยกลับมาขยายตัวตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น กอปรกับการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีกว่าที่คาด เศรษฐกิจไทยก็มีโอกาสที่จะเติบโตได้ดีกว่าที่คาดมาก

ตัวเลขภาคการผลิตของประเทศเศรษฐกิจหลักในเดือนมีนาคม บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตทยอยกลับเข้าสู่โซนของการขยายตัว หลังจากที่ก่อนหน้านี้หดตัวต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากสะท้อนว่าอุปสงค์ทั่วโลกฟื้นตัวเป็นวงกว้าง

ทั้งนี้ ในช่วงก่อนหน้านี้ ดัชนีภาคการผลิตที่หดตัวในหลายๆ ประเทศ ท่ามกลางตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง อาจเป็นการส่งสัญญาณว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวประสบปัญหาในภาคการผลิต เพราะการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แข็งแกร่งท่ามกลางตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง บ่งชี้ว่าผู้บริโภคมีความสามารถในการใช้จ่าย แต่การใช้จ่ายของผู้บริโภคอาจเปลี่ยนแปลงไปจากการพัฒนาของเทคโนโลยี รวมถึงการเปลี่ยนรูปแบบการใช้จ่ายหลังการระบาดของโควิดสิ้นสุดลง เช่น อาจให้ความสำคัญกับการเดินทางท่องเที่ยวก่อนการใช้จ่ายในด้านอื่นๆ หลังจากที่ไม่ได้เดินทางท่องเที่ยวมานาน เป็นต้น ส่งผลให้ภาคการผลิตในหลายส่วนที่อาจไม่ตอบโจทย์ของผู้บริโภคเกิดการชะลอตัว

ในสหรัฐ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต ของสถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) ขยับขึ้นสู่ 50.3 ในเดือนมีนาคม จาก 47.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยดัชนีอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 16 เดือน จากแรงหนุนจากคำสั่งซื้อใหม่ และคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออก ทั้งนี้ ในช่วงก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวแข็งแกร่งกว่าที่คาด โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งสวนทางกับตัวเลขภาคการผลิตที่หดตัวต่อเนื่อง

ทางด้านยุโรป การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงแข็งแกร่ง และอัตราการว่างงานอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ PMI ภาคการผลิตของยูโรโซนกลับปรับตัวลดลงในเดือนมีนาคม และยังคงบ่งชี้ถึงการหดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขนส่งในทะเลแดงได้รับผลกระทบจากปัญหาความวุ่นวายในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ดี สาเหตุหลักของการหดตัวของภาคการผลิตของยูโรโซนมาจากการหดตัวของภาคการผลิตของเยอรมนี (PMI อยู่ที่ 41.9) และฝรั่งเศส (PMI อยู่ที่ 46.2) ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีและฝรั่งเศสกำลังประสบปัญหารุนแรง ในขณะที่ PMI ภาคการผลิตของอิตาลีและสเปน บ่งชี้ถึงการขยายตัวต่อเนื่อง เป็นสัญญาณว่าภาคการผลิตของสเปนและอิตาลีอาจตอบโจทย์ของผู้บริโภคในช่วงนี้ได้ดีกว่า

ในส่วนของจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่และมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานในตลาดโลก ดัชนี PMI ภาคการผลิตที่จัดทำโดยทางการ ซึ่งเน้นสำรวจบริษัทขนาดใหญ่ในภาครัฐ และ PMI ภาคการผลิตที่จัดทำโดยไฉซิน ซึ่งเน้นสำรวจบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กในภาคเอกชน ต่างบ่งชี้ว่าภาคการผลิตขยายตัวในทุกภาคส่วนในเดือนมีนาคม โดยได้แรงหนุนจากคำสั่งซื้อใหม่จากทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ อุปสงค์ภายในประเทศของจีนมีแนวโน้มดีขึ้น ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น และแรงหนุนจากมาตรการภาครัฐ ในขณะที่อุปสงค์จากต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนว่าภาคการผลิตทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น อย่างไรก็ดี ตัวเลข PMI ในเดือนมีนาคมของจีน เป็นตัวเลขที่ถูกสำรวจหลังจากวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลตรุษจีนในเดือนก่อนหน้า จึงอาจมีความคลาดเคลื่อนจากปัจจัยทางฤดูกาลอยู่บ้าง แต่หากพิจารณาจากการใช้จ่ายในช่วงตรุษจีน ก็พอจะมั่นใจได้ว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคของจีนปรับตัวดีขึ้นจริง และน่าจะส่งผลให้ภาคการผลิตกลับมาขยายตัวต่อเนื่อง

ส่วน PMI ภาคการผลิตของญี่ปุ่นยังคงบ่งชี้ถึงการหดตัวเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน แต่เป็นการหดตัวน้อยลง หลังคำสั่งซื้อใหม่หดตัวน้อยที่สุดในรอบ 5 เดือน และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน

การฟื้นตัวของภาคการผลิตทั่วโลกน่าจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากภาคการผลิตมีสัดส่วนราว 25% ของจีดีพีในปี 2566 ทั้งนี้ การหดตัวของภาคการผลิตในปีที่แล้ว เป็นปัจจัยหลักที่ฉุดจีดีพี ตามด้วยการหดตัวรุนแรงของภาคการก่อสร้างในไตรมาส 4/66 ซึ่งฉุดให้ตัวเลขภาคก่อสร้างตลอดปี 2566 หดตัว ในขณะที่ภาคอื่นๆในปีที่แล้วขยายตัวได้ดี โดยภาคค้าปลีกและค้าส่งโต 3.8% ภาคขนส่งและโกดังสินค้าโต 8.4% ภาคที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโต 18.0% ภาคเทคโนโลยีและการสื่อสารโต 3.3% ภาคการเงินโต 3.1% และภาคเกษตรกรรมโต 1.9% 

นอกจากนี้ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในปีที่แล้วเพิ่มขึ้นสูงถึง 7.1% ซึ่งนับเป็นการขยายตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555 โดยที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนมีสัดส่วนเกือบ 60% ของจีดีพี แต่ภาคการผลิตกลับหดตัวสวนทางกับอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง โดยมีสาเหตุหลักจากอุปสงค์จากต่างประเทศอ่อนแอ และโครงสร้างภาคการผลิตของไทยอาจไม่ตอบโจทย์เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป 

ดังนั้น หากภาคการผลิตของไทยกลับมาขยายตัวตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น กอปรกับการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีกว่าที่คาด เศรษฐกิจไทยก็มีโอกาสที่จะเติบโตได้ดีกว่าที่คาดมาก