เศรษฐกิจไทยในสายตาธนาคารโลก และข้อเตือนใจ

เศรษฐกิจไทยในสายตาธนาคารโลก และข้อเตือนใจ

อาทิตย์ที่แล้ว รายงานเศรษฐกิจของธนาคารโลกสองฉบับ เจาะลึกเศรษฐกิจไทยแบบตรงไปตรงมา พูดถึงแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศไทยที่เสื่อมลงต่อเนื่อง และความจำเป็นที่ผู้ทํานโยบายจะต้องเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อดึงเศรษฐกิจให้กลับไปสู่การขยายตัวที่เข้มแข็ง

ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ตอกย้ำว่าในสายตาต่างประเทศ เศรษฐกิจเราขณะนี้เป็นกรณีศึกษาของสิ่งที่ไม่ควรทำในแง่นโยบายเศรษฐกิจ ที่ทำให้ประเทศอยู่ในวังวนของการขยายตัวตํ่าไม่จบสิ้น นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ฉบับแรก รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียและแปซิฟิก เดือนเมษายน 2024 ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือร้อยละ 2.8 สูงกว่าร้อยละ 1.9 ปีที่แล้ว ที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวตํ่าสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ชี้ถึงความอ่อนแอทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยมี

ทําให้เศรษฐกิจไทยไม่ไปไหน ถูกประเทศอื่นที่พูดได้ว่าเคยตามเราล้วนแซงหน้าและขยายตัวดีกว่าเรา ฟิลิปปินส์ปีที่แล้วขยายตัวร้อยละ 5.6 อินโดนีเซียร้อยละ 5 เวียดนามร้อยละ 5 ล้วนสูงกว่าไทยถึง 3 เปอร์เซ็นต์

ธนาคารโลกวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากโควิดช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านถึง 14 เปอร์เซ็นต์ในแง่ระดับการผลิต ปีที่แล้วเศรษฐกิจไทยขยายตัวตํ่าเพราะภาคส่งออกอ่อนแอและความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณ ทำให้ต้องพึ่งการบริโภคในประเทศและการท่องเที่ยวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่เศรษฐกิจที่อ่อนแอ ราคาน้ำมันโลกที่ลดลง มาตรการอุดหนุนราคานํ้ามันของภาครัฐ ทําให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศติดลบ

ปีนี้ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและข้อจำกัดก็จะเหมือนปีที่แล้ว คือภาคส่งออกและการลงทุนภาครัฐอ่อนแอ ต้องพึ่งการบริโภคและการท่องเที่ยวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ความท้าทายระยะปานกลางมาจากสังคมสูงวัย ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อน ทําให้การปฏิรูปเศรษฐกิจ และการมีพื้นที่การคลังที่เพียงพอจะสําคัญมากต่อการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

รายงานฉบับที่สอง "เปลี่ยนเกียร์ไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนและความมั่งคั่งที่ทั่วถึง" (Shifting Gears: Toward Sustainable Growth and Inclusive Prosperity) เป็นรายงานเฉพาะประเทศไทย การวิเคราะห์ออกมาในแนวเดียวกับฉบับแรกแต่เจาะลึกปัญหาเชิงโครงสร้างและชี้ถึงความจําเป็นที่ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อปูทางไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนและทั่วถึง

ธนาคารโลกให้ความเห็นว่าวิกฤติโควิด ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และภาวะโลกร้อน สร้างแรงกดดันมากต่อเศรษฐกิจไทยและคนไทย ทําให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าสุดในภูมิภาค

ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจพึ่งการท่องเที่ยวและการส่งออกมาก ขณะที่การลงทุนในประเทศลดลง ความสามารถหรือผลิตภาพการผลิตของประเทศลดลง ซํ้าเติมด้วยปัญหาสังคมสูงวัย ทั้งหมดทําให้การขยายตัวของเศรษฐกิจอ่อนแอและความอ่อนแอได้ผ่านมาถึงจุดที่จะรุนแรงมากขึ้นจากนี้ไป ทำให้เศรษฐกิจไทยจะเป็นขาลงต่อเนื่อง (Enduring downturn) ทางออกคือการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อดึงเศรษฐกิจกลับสู่เส้นทางการขยายตัวที่เข้มแข็ง

ในรายงาน ธนาคารโลกชี้เป้าการปฏิรูป 5 ด้านที่จะนําประเทศไทยไปสู่ความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจ มีนวัตกรรม และเติบโตอย่างทั่วถึง

1.การศึกษาที่ต้องสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะและความรู้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและเศรษฐกิจ

2.สร้างภาคการผลิตที่เข็มแข้งในเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีโดยนโยบายที่สร้างการแข่งขัน มีบุคลากรมืออาชีพสนับสนุน และมีแหล่งเงินทุนให้ธุรกิจขนาดกลางและเล็กเข้าถึงได้เพื่อสร้างพลังทางเศรษฐกิจ

3.ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจโดยเน้นความยั่งยืนของภาคเกษตรและการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบ

4.รับมือกับภาวะโลกร้อนด้วยการใช้พลังงานและบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อความยั่งยืน

นี่คือสิ่งที่ต้องปฏิรูปและการขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นต้องมาจากระบบราชการและการทําหน้าที่ของสถาบันในภาครัฐที่เข้มแข็ง

ดังนั้นด้านที่ 5.คือปฏิรูประบบราชการเพื่อให้ประเทศสามารถเผชิญกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หมายถึงระบบราชการที่ทำหน้าที่ด้วยจิตสำนึกของความรับผิดชอบต่อประเทศและส่วนรวม โปร่งใส และมีระบบงานที่เชื่อมการทํางานของส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เสมอภาค

ต้องขอบคุณธนาคารโลกที่ตอกย้ำเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจและความสำคัญของการปฏิรูปที่ประเทศไทยจำเป็นต้องทําเพื่อหยุดความถดถอยของเศรษฐกิจ ให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมา

เรื่องปฏิรูปนี้สำคัญมากแต่เป็นเรื่องที่ผู้ทํานโยบายประเทศเราทั้งนักการเมืองและข้าราชการประจำไม่จริงจังและละเลยมาตลอด ทําให้เศรษฐกิจของประเทศถดถอยอย่างที่เห็นและเป็นตัวอย่างของประเทศที่ล้มเหลวในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตในระดับที่สูงขึ้น ไม่สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นต่อเนื่องแม้ประเทศจะมีศักยภาพและเติบโตได้ดีในอดีต

ในสายตานักเศรษฐศาสตร์ ไทย คือตัวอย่างประเทศที่ติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง คือพัฒนาจากประเทศรายได้ตํ่ามาเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้ แต่ไม่สามารถไปต่อเป็นประเทศรายได้สูงหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างสิงคโปร์ หรือเกาหลีใต้ได้

เพราะไม่พัฒนาเรื่องการศึกษา คุณภาพคน การบังคับใช้กฎหมาย ความเข้มแข็งของสถาบันราชการ การแข่งขัน และธรรมาภิบาล ทําให้ประเทศขาดโครงสร้างที่เข้มแข็ง ไม่สามารถผลักดันประเทศไปสู่ระดับที่สูงขึ้นได้

ในสายตาผู้ที่ครํ่าหวอดกับนโยบายเศรษฐกิจ เช่น ไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก ไทยกําลังเป็นตัวอย่างของประเทศที่ไม่ตอบสนองกับปัญหาที่ประเทศมี คือไม่พร้อมปฏิรูป ทําให้ความถดถอยจะยิ่งมีมากขึ้น และการปฏิรูปถ้าล่าช้าก็จะยิ่งทํายากเพราะประเทศจะเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ ทําให้ไม่มีทรัพยากรที่จะใช้แก้ปัญหา

ต่างกับเกาหลีใต้ที่ปฏิรูปเศรษฐกิจมาตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปี 40 ทําให้ประเทศพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดดและเข้มแข็งที่จะเผชิญกับสังคมสูงวัย

สำหรับนักการเมืองและข้าราชการในภูมิภาคเอเชีย ประเทศไทยเป็นข้อเตือนใจของสิ่งที่ต้องระวังในแง่การเมืองที่ห้ำหั่นกันเพื่อประโยชน์ส่วนตนกับนโยบายเศรษฐกิจที่ละเลยประโยชน์ส่วนรวมที่สามารถทําให้ประเทศหมดอนาคตทางเศรษฐกิจได้ นั่นคือ คุณอยากเป็นอย่างประเทศไทยหรือ

นี่คือประเทศเรา ด้วยเหตุนี้ ข้อเสนอของธนาคารโลกจึงสำคัญ และต้องรีบทำก่อนจะหมดโอกาส

เศรษฐกิจไทยในสายตาธนาคารโลก และข้อเตือนใจ

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]