สิ่งที่เราควรทำจากบทวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกของเวิลด์แบงก์

สิ่งที่เราควรทำจากบทวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกของเวิลด์แบงก์

สองอาทิตย์ก่อน ธนาคารโลกหรือเวิลด์แบงก์ออกรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกปี 2024 ชี้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอต่อเนื่องปีนี้

และแนะนำประเทศตลาดเกิดใหม่ให้ลดผลกระทบ โดยการปฏิรูปเศรษฐกิจและเพิ่มการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสให้เศรษฐกิจเติบโตและลดความยากจน

เป็นคําแนะนำที่ตรงประเด็นมากสำหรับเศรษฐกิจไทย ที่นักการเมืองและผู้ทํานโยบายควรรับฟังและผลักดันโดยเฉพาะรัฐบาลชุดนี้ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของธนาคารโลกล่าสุด เผยแพร่ 9 มกราคม ขึ้นหัวอย่างน่าตกใจว่าเศรษฐกิจโลกครึ่งแรกของทศวรรษนี้ คือปี 2020-2025 อาจอ่อนแอมากสุดในรอบ 30 ปี โดยเนื้อหารายงานและความเห็นเกี่ยวกับประเทศตลาดเกิดใหม่สรุปได้ดังนี้

หนึ่ง ปีนี้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวต่อเนื่องเป็นปีที่สาม ขยายตัวร้อยละ 2.4 ลดลงจากร้อยละ 2.6 ปีที่แล้ว และร้อยละ 3 ปีก่อนหน้า ทําให้เศรษฐกิจโลกช่วงห้าปีแรกของทศวรรษนี้อาจขยายตัวตํ่าสุดในรอบสามสิบปี

การชะลอตัวสะท้อนความอ่อนแอของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรม ยกเว้นสหรัฐ ซึ่งเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และการค้าโลกที่ถดถอยซึ่งโยงกับภูมิศาสตร์การเมือง

สำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่ การขยายตัวยังไม่ดีมากแต่ไม่ถดถอย ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังตํ่ากว่าช่วงก่อนโควิด ผลคือความยากจนเพิ่มสูงขึ้น โดยหนึ่งในสี่ของประเทศตลาดเกิดใหม่มีจํานวนประชากรในเกณฑ์ยากจนเพิ่มมากขึ้น

สอง ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกระยะข้างหน้าเป็นด้านลบ ที่ดีหน่อยคืออัตราเงินเฟ้อลดลงซึ่งจะสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ

ธนาคารโลกแนะนำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่ใช้โอกาสนี้สร้างฐานการเติบโตใหม่ด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจและลงทุน ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

สิ่งที่เราควรทำจากบทวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกของเวิลด์แบงก์

การปฏิรูปควรมุ่งไปที่การทําให้ภาคการคลังของประเทศมั่นคง ขยายโอกาสประเทศในเรื่องการค้าและการลงทุน เพิ่มความข้มแข็งให้กับสถาบันด้านการคลังและการเงิน และสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้ภาคธุรกิจลงทุน

ธนาคารโลกมองว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจและการลงทุนเป็นทางเลือกทางนโยบายที่สามารถทําได้ แม้ตระหนักว่าท้ายสุดนโยบายแบบประชานิยมและชาตินิยมอาจเป็นตัวเลือกของฝ่ายการเมือง

สาม การปฏิรูปเศรษฐกิจและลงทุนที่ธนาคารโลกแนะนำไม่ใช่เรื่องใหม่ นักเศรษฐศาสตร์พูดกันมานาน รวมถึงในบ้านเราว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจและการลงทุนคือเงื่อนไขหลักที่จะทําให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตและหลุดพ้นจากกับดักความยากจนและกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

ที่ธนาคารโลกยํ้าในรายงานคือ ถ้าการปฏิรูปเศรษฐกิจและการลงทุนสามารถออกแบบได้ดี ทําได้ดีเท่ากับหลายประเทศในอดีตที่ประสบความสำเร็จ

ผลที่จะได้น่าจะเพียงพอที่จะกู้คืนความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด รวมทั้งปูพื้นฐานให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตต่อไปในอนาคต ดังนั้น สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือการผลักดันและการทําจริงจังในสองเรื่องโดยภาครัฐและเอกชน คือการปฏิรูปเศรษฐกิจและการลงทุน

สิ่งที่เราควรทำจากบทวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกของเวิลด์แบงก์

ความเห็นของผมในเรื่องนี้ก็ไม่ต่าง คือคําแนะนำดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่น่าสนใจและนํามาเป็นประเด็นเขียนวันนี้คือ เกือบทุกเรื่องที่ธนาคารโลกพูดถึงประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงคําแนะนําที่ให้ ตรงกับสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศเราขณะนี้

คือเศรษฐกิจเราสูญเสียมากช่วงโควิด อัตราการขยายตัวติดลบในปีที่โควิดรุนแรงสุด จากนั้นเศรษฐกิจก็ขยายตัวในอัตราที่ตํ่าประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ความยากจนกลับมาเพิ่มสูงขึ้น

ซึ่งไทยอาจเป็นไม่กี่ประเทศในโลกที่ความยากจนเพิ่มขึ้นพร้อมการขยายตัวของเศรษฐกิจ เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ก่อนโควิด

ชี้ถึงปัญหาความเหลื่อมลํ้าของประเทศที่รุนแรง ส่วนภาคธุรกิจก็ไม่ลงทุนหรือลงทุนน้อย ทําให้ประเทศขาดการพัฒนาหรือต่อยอดด้านอุตสาหกรรม ไม่มีนวัตกรรมและสินค้าใหม่ๆ ที่จะส่งออกแข่งขันกับต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้

ส่วนภาครัฐที่ผ่านมาหลายยุคสมัยก็เหมือนกันคือ ไม่ลงทุนอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างเศรษฐกิจ ไม่ปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อยกระดับผลิตภาพ คุณภาพการศึกษา ทักษะแรงงาน ประสิทธิภาพระบบราชการ เพื่อเพิ่มความสามารถในการเเข่งขัน 

เน้นการใช้เงินบรรเทาความเดือดร้อน ควบคุมอุดหนุนราคาสินค้า และผ่อนปรนกฎระเบียบ เป็นแนวทางหลักของการทํานโยบาย ไม่จริงจังที่จะแก้ปัญหาที่ประเทศมี

ผลคือเศรษฐกิจไม่มีกลไกที่จะขับเคลื่อนการเติบโตและสร้างรายได้ให้ประชาชน เป็นอย่างนี้มาต่อเนื่อง ทําให้เศรษฐกิจโตตํ่า

สิ่งที่เราควรทำจากบทวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกของเวิลด์แบงก์

ที่สําคัญการละเลยไม่แก้ปัญหาเริ่มส่งผลให้เห็นต่อคุณภาพประเทศและความเป็นอยู่ของคนวัยทำงานที่ไม่สามารถหางานที่ดีทําได้ เพราะความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษที่มีไม่ดีพอ คนเหล่านี้คืออนาคตของประเทศ

ผมคิดว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทํานโยบาย ไม่ว่าฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำ และภาคธุรกิจตระหนักดีว่าประเทศมีปัญหามากและต้องแก้ไข เพราะหมายถึงอนาคตและความเป็นความตายของประเทศ

ที่อยากยํ้าคือการแก้ปัญหาต้องเริ่ม ต้องจริงจัง ต้องมีการลงทุน มีการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างที่ธนาคารโลกพูดถึง และเวลาที่เรามีที่จะทําสิ่งเหล่านี้อาจเหลือไม่มาก

ซึ่งถ้ายิ่งช้าต้นทุนต่อเศรษฐกิจจะยิ่งมีมากและการแก้ปัญหาก็จะยิ่งยากขึ้น ดังนั้นควรเริ่มทันทีโดยรัฐบาลชุดนี้ที่มีศักยภาพและบารมีที่จะผลักดันเรื่องยากๆ และสำคัญๆ ให้เกิดขึ้น

ขอเรียนว่า การแก้ปัญหา การปฏิรูปเศรษฐกิจ และการลงทุน เป็นการสร้างเงื่อนไขและสร้างโอกาสให้เศรษฐกิจเติบโต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศ

สิ่งที่เราควรทำจากบทวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกของเวิลด์แบงก์

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต 

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]