กทม. เผย 3 ประโยชน์ จ่ายหนี้ 'รถไฟฟ้าสายสีเขียว'

กทม. เผย 3 ประโยชน์ จ่ายหนี้ 'รถไฟฟ้าสายสีเขียว'

กทม. เผย 3 ประโยชน์ หลังจ่ายหนี้ E&M ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” กว่า 2.3 หมื่นล้านบาท หนุนการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บริหารจัดการ การเดินรถกับคู่สัญญามากขึ้น พร้อมประหยัดงบจ่ายดอกเบี้ยวันละ 3 ล้านบาท

นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีที่กรุงเทพมหานคร ได้มีการชำระหนี้งานระบบไฟฟ้า และเครื่องกล (E&M) ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ มูลค่ากว่า 23,312 ล้านบาท โดยระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการชำระแก่ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) โดยได้ชำระไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา

ซึ่งเป็นไปตามที่สภากรุงเทพมหานคร ได้มีมติอนุมัติการรับโอนงานระบบฯ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 จากนั้นสภากรุงเทพมหานคร ได้มีมติอนุมัติข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ในวงเงิน 23,488,692,200 บาท และกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการควบคุมการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ.2567 สำหรับการรับมอบทรัพย์สินระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายส่วนที่ 2

อย่างไรก็ดี กรุงเทพมหานคร ยืนยันว่าการดำเนินการชำระหนี้งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) เป็นไปตามขั้นตอนพิจารณาเพื่อความรอบคอบ และเหมาะสมในการใช้จ่ายงบประมาณของกรุงเทพมหานคร อีกทั้งการใช้จ่ายงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ในครั้งนี้ยังเกิดประโยชน์ต่อกรุงเทพมหานครอีกด้วย ได้แก่

1. กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในงานระบบไฟฟ้า และเครื่องกลอย่างสมบูรณ์ สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มที่ ป้องกันข้อพิพาทในอนาคต

2. อำนาจต่อรองในการบริหารจัดการ การเดินรถกับคู่สัญญามากขึ้น เนื่องจากเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เป็นหัวใจสำคัญของการเดินรถ

3. กรุงเทพมหานคร สามารถประหยัดงบประมาณจากดอกเบี้ยในส่วนของค่างานระบบไฟฟ้า และเครื่องกลได้กว่าวันละ 3 ล้านบาท

“กรุงเทพมหานคร ขอยืนยันว่าได้ดำเนินการทุกอย่างด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และยึดถือประโยชน์ของกรุงเทพมหานครเป็นสำคัญ” โฆษกของ กทม. กล่าวตอนท้าย

 

 

กทม. เผย 3 ประโยชน์ จ่ายหนี้ \'รถไฟฟ้าสายสีเขียว\'

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์