‘ITD’ บริหาร ‘แบ็คล็อค’ ฝ่าวิกฤติ จับมือ ‘เจ้าหนี้‘ แก้ปัญหา ยันบริษัทไม่ล้ม

‘ITD’ บริหาร ‘แบ็คล็อค’ ฝ่าวิกฤติ  จับมือ ‘เจ้าหนี้‘ แก้ปัญหา ยันบริษัทไม่ล้ม

“ITD” เผยผลประกอบการปี 66 ขาดทุนสุทธิ 1.07 พันล้าน รายได้งานก่อสร้างหด 2.71 พันล้าน 'ผู้สอบบัญชี' งดแสดงความเห็นต่องบการเงิน กาง 4 แผนรียกความเชื่อมั่น'แบงก์' ตั้งทีมบริหารสภาพคล่องรายโปรเจ็กต์ก่อนหนี้สูญ เน้นจัดลำดับใช้จ่าย ส่งมอบงาน ชี้แบ็กล็อกที่ช่วยพยุงธุรกิจ 

KEY

POINTS

  • “ITD” เผยผลประกอบการปี 66 ขาดทุนสุทธิ 1.07 พันล้าน เซ่นรายได้งานก่อสร้างหด 2.71 พันล้าน “ผู้สอบบัญชี” งดแสดงความเห็นต่องบการเงิน
  • บริษัทกาง 4 แผนชำระหนี้เรียกความเชื่อมั่นฟื้นธุรกิจขณะที่ “แบงก์” ในฐานะเจ้าหนี้ตั้งทีมอุ้มช่วยบริหารสภาพคล่องรายโปรเจ็กต์ก่อนหนี้สูญ
  • การบริหารงานเน้นจัดลำดับใช้จ่าย นำรายได้จ่ายผู้รับเหมา ส่งมอบงานทันได้เงินหมุนเข้าบริษัท เชื่อแบ็กล็อกที่มีทำให้บริษัทยังมีกระแสเงินสดช่วยพยุงธุรกิจไม่ให้ล้ม 

“ITD” เผยผลประกอบการปี 66 ขาดทุนสุทธิ 1.07 พันล้าน รายได้งานก่อสร้างหด 2.71 พันล้าน 'ผู้สอบบัญชี' งดแสดงความเห็นต่องบการเงิน กาง 4 แผนรียกความเชื่อมั่น'แบงก์' ตั้งทีมบริหารสภาพคล่องรายโปรเจ็กต์ก่อนหนี้สูญ เน้นจัดลำดับใช้จ่าย ส่งมอบงาน ชี้แบ็กล็อกที่ช่วยพยุงธุรกิจ 

สิ้นสุดการรอคอย ภายหลังบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD รายงานงบการเงินของปี 2566 ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าขาดทุนสุทธิ 1,072 ล้านบาท ลดลง 77% จากปี 2565 ที่ขาดทุนสุทธิ 4,759 ล้านบาท โดยสาเหตุจากรายได้จากการให้บริการรับเหมาก่อสร้าง 56,936 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 2,719 ล้านบาท 

ทั้งนี้เนื่องจากการลดลงของรายได้จากการให้บริการก่อสร้างของโครงการที่ใกล้แล้วเสร็จ รวมถึงการปรับปรุงรายได้จากการให้บริการก่อสร้างเนื่องจากต้นทุนการให้บริการรับเหมาก่อสร้างบางรายการ ยังไม่ส่งมอบบริการให้ลูกค้าทำให้ไม่สามารถรับรู้เป็นรายได้จากการให้บริการก่อสร้าง และปรับปรุงต้นทุนดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ต้นทุนการทำงานให้เสร็จสิ้นตามสัญญา ส่วนรายได้จากการขายและให้บริการ ลดลง 986 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลดลงของรายได้จากการให้บริการโครงการเหมืองแร่

ขณะที่กำไรขั้นต้น 3,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีอัตรากำไรขั้นต้นในปี 2566 เท่ากับ 6.26% เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่มีอัตรากำไรขั้นต้น เท่ากับ 4% เพราะกำไรเพิ่มขึ้นของบริษัทย่อยบางแห่ง รวมถึงการลดลงของผลขาดทุนจากการให้บริการก่อสร้างในต่างประเทศ

ทั้งนี้ จากงบการเงินปี 2566 ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของบริษัทตรวจสอบและรับรองงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการของกลุ่มบริษัท โดยไม่แสดงความเห็นด้วยเหตุที่ได้พิจารณาสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานต่อเนื่องของกลุ่มบริษัท

ตามหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 1.2 ระบุว่า สำหรับปีสิ้นสุด 31 ธ.ค.2566 กลุ่มบริษัทขาดทุนหลังภาษี 421.54 ล้านบาท และ 194.87 ล้านบาท ตามลำดับ มีขาดทุนสะสม 6,426.67 ล้านบาท และ 5,390.66 ล้านบาท ตามลำดับ (2565 : 4,475.58 ล้านบาท และ 3,622.58 ล้านบาท) อีกทั้งมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน 26,711.54 ล้านบาท และ 29,977.68 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับหนี้สินหมุนเวียนส่วนใหญ่ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้น จากตั๋วสัญญาใช้เงิน และทรัสต์รีซีต/เลตเตอร์ออฟเครดิต และเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินที่ถูกจัดประเภทเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น หุ้นกู้และหุ้นกู้ที่ถูกจัดประเภทเป็นหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี ณ วันที่ 31ธ.ค.2566 บริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้ในการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น ซึ่งคำนวณจากงบการเงินรวมที่ถูกกำหนดในสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงินบางแห่ง 

การผิดเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ดังกล่าวข้างต้น แบงก์มีสิทธิเรียกชำระคืนเงินกู้ยืม ทั้งนี้ แบงก์ไม่ได้ดำเนินการลักษณะดังกล่าวและได้รับหนังสือจากแบงก์ให้ความยินยอมและผ่อนผันเงื่อนไขในวันที่ 29 ก.พ.2567 และ 18 มี.ค.2567

แม้กลุ่มบริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนงานธุรกิจและกลยุทธ์การเงินเพื่อให้เชื่อมั่นว่าจะมีสภาพคล่องเพียงพอและชำระหนี้เมื่อครบกำหนดและดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง แต่ปัจจัยด้านสภาพคล่องของกลุ่มบริษัทขึ้นกับการเรียกใช้สิทธิเรียกให้ชำระคืนเงินกู้ยืมของแบงก์และหุ้นกู้ 

อย่างไรก็ตามความสำเร็จในการดำเนินการตามแผนดังกล่าว การจัดหาแหล่งเงินทุนอื่นเพิ่มเติมเพื่อใช้ดำเนินงาน การปรับปรุงแผนธุรกิจและการดำเนินงานในอนาคต และความสามารถในการจ่ายชำระเงินกู้ยืมและหุ้นกู้ได้ตามวันครบกำหนดใหม่ 

รวมถึงการสนับสนุนของวงเงินสินเชื่อต่อเนื่อง และเจราจาเรียกเก็บเงินค่าก่อสร้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับการลงทุนหลายโครงการ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวแสดงถึงความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญหลายประการ ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ที่จะกระทบงบการเงินเพิ่มขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของกลุ่มบริษัท 

“ไอทีดี” เปิด 4 แนวทางเรียกเชื่อมั่น 

ทั้งนี้ บริษัทกำลังดำเนินการตามแผนการธุรกิจและกลยุทธ์ทางการเงิน เพื่อให้เชื่อมั่นได้กลุ่มบริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอและชำระหนี้เมื่อครบกำหนดและดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง โดยมีแนวทางดำเนินการสำคัญ ดังนี้

1.วันที่ 17 ม.ค.2567 ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 5 รุ่น ได้แก่ ITD242A , ITD24DA ,ITD254A , ITD266A และ ITD24DB ซึ่งยอดเงินต้นค้างชำระรวม 14,445 ล้านบาท โดยที่ประชุมอนุมัติขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้แต่ละรุ่นไป 2 ปี นับจากวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิม 

รวมถึงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขอื่น โดยเมื่อขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้แต่ละรุ่นออกไปอีก 2 ปีนับจากวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิมแล้ว หนี้สินหมุนเวียนที่ถึงกำหนดชำระใน 1 ปี ในไตรมาส 1 ปี 2567 จะลดลง

นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ทั้ง 5 รุ่น ได้มีมติอนุมัติผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นตามที่กำหนดในข้อกำหนดสิทธิ โดยมีผลตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบปีบัญชี 2566 จนถึงวันสิ้นสุดรอบปีบัญชี 2568 และผ่อนผันให้ผู้ออกหุ้นกู้ดำเนินการเจรจาหรือเข้าทำสัญญาใดๆ กับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ

เจรจาแบงก์ขอสินเชื่อระยะสั้น-ยาว

2.ขอผ่อนผันเงื่อนไขการดำรงสัดส่วนทางการเงินกับแบงก์บางแห่ง และได้รับการผ่อนผันจากธนาคารแล้ว โดยได้รับหนังสือแจ้งอนุโลมการปฏิบัติเงื่อนไขดังกล่าววันที่ 29 ก.พ.2567 และวันที่ 18 มี.ค.2567 จากการไม่สามารถดำรงสัดส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นดังกล่าว แบงก์มีสิทธิเรียกชำระคืนเงินกู้ยืม แต่แบงก์ไม่ได้ดำเนินการลักษณะดังกล่าว

ดังนั้น การไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำรงสัดส่วนการเงินจึงไม่เป็นเหตุให้บริษัทปฏิบัติผิดเงื่อนไขสัญญากู้ยืมเงินกับแบงก์ โดยจะจัดการปัญหาการขาดสภาพคล่องที่กำลังเจรจาข้อตกลงกับกลุ่มเจ้าหนี้ธนาคารหลัก เพื่อขอรับสนับสนุนสินเชื่อทั้งระยะสั้นและยาว เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ได้ทยอยรับสินเชื่อบางส่วนแล้ว โดยบริษัทและกลุ่มเจ้าหนี้ธนาคารหลักจะตกลงเรื่องสัญญาการให้สินเชื่อจนเสร็จสิ้นเรียบร้อยเพื่อให้บริษัทดำเนินธุรกิจต่อได้

3.อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนระบบทำงานและระบบควบคุมเพื่อลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขัน และมีกำไรจากผลการดำเนินงาน โดยกำหนดเป้าหมายชัดเจนและรายงานผลประจำทุกเดือน และมีแผนขายสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ในการดำเนินงานเพื่อลดภาระหนี้

4.เชื่อมั่นในศักยภาพและโอกาสที่จะได้รับงานโครงการก่อสร้างขั้นพื้นฐานที่ภาครัฐและเอกชนกำลังประกาศจัดซื้อจัดจ้างจำนวนมาก  เพราะมีประสบการณ์และผลงานในอดีตที่แข่งขันได้ทุกประเภท ดังนั้นหากบริษัทได้รับงานโครงการก่อสร้างจากรัฐและเอกชนจะสร้างรายได้ต่อเนื่อง

เงื่อนไข“แบงก์”ช่วยบริหารรายโครงการ

แหล่งข่าวจาก ITD กล่าวว่า การแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องของ ITD ขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ปัญหา โดยความช่วยเหลือของธนาคารเจ้าหนี้ของ ITD ซึ่งคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) เห็นชอบให้บริหารงานด้านการเงินผ่านคำแนะนำจากคณะทำงานที่ธนาคารที่เจ้าหนี้แต่งตั้งมาช่วยบริหาร 

ทั้งนี้ธนาคารเข้ามาช่วยบริหารเป็นลักษณะการบริหารการเงินเป็นรายโปรเจ็กต์ เพื่อให้กระแสเงินสดที่เข้ามาในบริษัทจ่ายออกไปยังผู้รับเหมารายย่อยที่ ITD ว่าจ้าง เพื่อให้โครงการดำเนินการได้ต่อเนื่อง และส่งมอบงวดงานได้ตามสัญญาที่กำหนดไว้ เพื่อช่วยให้บริษัทมีสภาพคล่องเข้ามาต่อเนื่อง และทำให้ผ่านวิกฤติช่วงนี้ได้

ยืนยันไม่ถึงขั้นฟื้นฟูกิจการ

แหล่งข่าว กล่าวถึงสถานการณ์ ITD ปัจจุบันจำเป็นต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการหรือไม่ ว่า ITD ยังสามารถบริหารต่อได้ โดยยังไม่ถึงขั้นเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ โดยการบริหารงานใน ITD ขณะนี้มีการบริหารบางส่วนจากธนาคารเจ้าหนี้ ซึ่งได้ออกกฎเกณฑ์ในการจัดลำดับการใช้จ่าย การลดต้นทุนด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงาน โดยต้องรัดเข็มขัดมากที่สุดเพื่อให้นำเงินที่ได้รับมาบริหารธุรกิจหลักบริษัท

ทั้งนี้การขาดสภาพคล่องในช่วงที่ผ่านมามีปัญหาทั้งการได้รับค่างวดงานช้าจากการก่อสร้างที่ถูกเลื่อนหลายโครงการช่วงโควิด-19 เช่นเดียวกับปัญหางบประมาณล่าช้า บวกกับอัตราดอกเบี้ยสูงทำให้การทำธุรกิจที่ผ่านมาไม่ง่าย แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหลังจากแก้ปัญหาตรงนี้มีธนาคารเข้ามาช่วยดูการบริหารสภาพคล่องและกระแสเงินสดเพื่อให้ ITD ดำเนินโครงการตาม Backlog ที่มีอยู่ได้

“ธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้คงไม่ปล่อยให้เราล้ม ตอนนี้ก็ทำงานร่วมกันเขาในฐานะเจ้าหนี้ก็ให้คนเข้ามาช่วย เชื่อว่าเขาไม่ปล่อยให้เราล้ม เพราะถ้าล้มไปหนี้ก็สูญไปด้วย ธนาคารแต่ละแห่งก็ไม่อยากที่จะสูญหนี้ในส่วนนี้จึงเข้ามาช่วยให้เราทำงานได้สามารถที่จะจ่ายดอกเบี้ย และจ่ายคืนเงินต้นได้”แหล่งข่าว กล่าว

มั่นใจ“ไอดีที”ผ่านวิกฤติไปได้

แหล่งข่าว กล่าวว่า ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งถือว่าหนัก เพราะตอนนั้นมีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ และเมื่อค่าเงินบาทถูกลอยตัว ส่งผลให้หนี้ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว แต่ในตอนนั้นแทบทุกบริษัทในวงการรับเหมาก่อสร้างโดนกันหมดแต่ ITD ก็ผ่านมาได้ ซึ่งในครั้งนี้ก็มั่นใจว่าจะผ่านไปได้แต่อาจต้องใช้เวลามากหน่อย

สำหรับปัญหาการขาดสภาพคล่องของ ITD เป็นปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่ในอดีต โดยยอมรับว่าที่ผ่านมาบริษัทมีการไปลงทุนโดยการใช้เงินจำนวนมากในต่างประเทศ เช่น เมียนมา อินโดนิเซีย มาดาร์กัสกา เป็นต้น 

ทั้งนี้การลงทุนมีมุมมองว่าการลงทุนในการเป็นผู้พัฒนาโครงการ (Developer) พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นธุรกิจที่มองว่าเป็นอนาคตของบริษัทแต่แทบทุกโครงการที่เข้าไปลงทุนนั้นไม่มีผลตอบแทนในรูปตัวเงินกลับมา

ส่วนโครงการที่ใช้เงินลงทุนมากที่สุด คือ โครงการเขตพัฒนาพิเศษทวาย ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นโครงการที่บริษัทเข้าไปลงทุนหลักหมื่นล้านบาท และโครงการนี้ในปัจจุบันไม่สามารถเข้าไปดำเนินการอะไรได้เลย เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองและความไม่สงบในเมียนมา แม้แต่จะนำเอาเครื่องจักรและอุปกรณ์ออกมาจากพื้นที่ก็ยังทำไม่ได้ 

รวมทั้งในอนาคต ITD คงไม่เข้าไปลงทุนในธุรกิจแบบนี้ในต่างประเทศอีกแล้ว เพราะบริหารความเสี่ยงได้ยาก โดยในแต่ละพื้นที่มีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น การเมืองและนโยบายของแต่ละรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้อง