พาประเทศไปเป็น ‘ฮับ’ (Hub)ในด้านต่างๆ

พาประเทศไปเป็น ‘ฮับ’ (Hub)ในด้านต่างๆ

ช่วงที่ผ่านมาเราจะได้ยินท่านนายกรัฐมนตรีประกาศชูประเทศไทยเป็น ‘ฮับ’ ด้านต่างๆ มากมาย โดยเริ่มจากการแถลงวิสัยทัศน์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ท่านนายกฯ ประกาศเป้าหมายให้ไทยเป็นฮับ 8 ด้าน

ได้แก่ ศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ ศูนย์กลางอาหาร ศูนย์กลางการบิน ศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค ศูนย์กลางยานยนต์แห่งอนาคต ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิตัล และศูนย์กลางการเงิน 

ผู้เขียนไม่กังขาความต้องการที่จะนำพาประเทศเป็นฮับ และเห็นด้วยว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นฮับในหลายๆ ด้าน อย่างไรก็ดี หากจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในด้านต่าง ๆ ได้จริงนั้น ผู้เขียนก็คงจะต้องขอย้ำแล้วย้ำอีก เขียนแล้วเขียนอีก ว่าเรื่องเร่งด่วนประการหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายนั้นคือ ‘ทรัพยากรมนุษย์’ ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีกำลังคนที่มีทักษะที่เหมาะสม และในจำนวนที่เพียงพอ

ปัจจุบัน อัตราการว่างงานของไทยอยู่ในระดับต่ำมาก โดยเยาวชนช่วงอายุระหว่าง 15-24 ปี ซึ่งมีอัตราการว่างงานมากกว่าช่วงอายุอื่น ก็ว่างงานอยู่ที่ระดับต่ำ คือประมาณร้อยละ 5-6 เท่านั้น เพียงแค่นี้ คำถามแรกที่อาจเกิดในใจคือ ถ้าเราจะเป็นฮับ จะมีจำนวนแรงงานเพียงพอไหม คำถามนี้เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง เมื่อลงไปดูในรายละเอียดพบว่าเกือบครึ่งของเยาวชนที่ว่างงานดังกล่าวเป็นผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา หรือว่านี่คือความไม่สอดคล้องของกำลังคนที่ระบบการศึกษาผลิตออกมากับความต้องการของตลาดแรงงาน ขณะที่เรากำลังจะมุ่งพัฒนาความเป็นฮับด้านต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องใช้แรงงานทักษะเฉพาะและทักษะสูง ประเทศไทยได้ผลิตแรงงานที่มีทักษะเหล่านั้นแล้วหรือไม่อย่างไร

นวัตกรรมและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พฤติกรรมการอุปโภคบริโภคของผู้คนก็เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ภาคอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นการผลิตหรือบริการก็ปรับเปลี่ยนไปอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาและจะยิ่งพลิกโฉมเร็วมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วอุปทานแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ของประเทศปรับตัวตามทันหรือไม่  ผู้เขียนได้อ่านรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลอุปสงค์และอุปทานแรงงานระดับประเทศปี 2566 ของกระทรวงแรงงาน พบว่า อุตสาหกรรมที่มีอัตราขยายตัวของความต้องการแรงงานเฉลี่ยมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ (1) อันดับหนึ่งเท่ากัน  คือ ‘การจัดหาน้ำ การจัดการและการบำบัดน้ำเสีย ของเสียและสิ่งปฏิกูล’ และ ‘ศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ’ (2) คือ ‘กิจกรรมการบริหารและการบริการสนับสนุน’ และ (3) คือ ‘ไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำ และระบบปรับอากาศ’ ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า สาขาที่ความต้องการแรงงานขยายตัวมากนี้ ยังไม่ใช่อุตสาหกรรมที่เรากำลังจะมุ่งไปสู่ความเป็นฮับ ซึ่งคงไม่ได้หมายความว่าเรามีแรงงานเพียงพอในอุตสาหกรรมที่เราต้องการเป็นฮับแล้ว แต่การลงทุนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาสู่ความเป็นฮับยังไม่เกิดขึ้นมากต่างหาก และเมื่อกระบวนการพัฒนาฮับเกิดขึ้นตามที่ท่านนายกฯ กล่าว ภาพความต้องการแรงงานจะเปลี่ยนไปอย่างไร การจำแนกประเภทอุตสาหกรรมเพื่อการวิเคราะห์อุปสงค์ของแรงงานนั้น จะมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้อง สะท้อน และส่งผ่าน ไปยังภาคการผลิตอุปทานแรงงานของประเทศอย่างไร และเรามีเวลาแค่ไหน

รายงานการวิเคราะห์ข้อมูลอุปสงค์และอุปทานแรงงานฯ นำเสนอผลการวิเคราะห์ทักษะที่สถานประกอบการต้องการสูงสุดใน 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) ทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า (2) ทักษะความสามารถเฉพาะวิชาชีพ และ (3) ทักษะความขยันหมั่นเพียร  การแบ่งประเภทของทักษะนี้ มีความแตกต่างจากการวิเคราะห์ทักษะในการศึกษาวิจัยด้านทรัพยากรมนุษย์ที่ผู้เขียนคุ้นเคยอยู่บ้าง อย่างไรก็ดี ข้อมูลนี้น่าจะไม่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใด และพื้นฐานที่สำคัญของทักษะเหล่านี้ คือ ‘ทักษะทุนชีวิต’ ซึ่งจากการประเมิน Adult Skills Assessment ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและธนาคารโลกร่วมกันศึกษา กำหนดองค์ประกอบไว้ 3 ประการ คือ การรู้หนังสือ ทักษะดิจิทัล และทักษะด้านอารมณ์และสังคม ความน่ากังวลอยู่ที่ว่าเรากำลังประสบกับวิกฤตทักษะทุนชีวิตของเยาวชนและแรงงานไทย โดยร้อยละ 64.7 ของเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน มีทักษะการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งหมายถึงการไม่สามารถอ่านและทำความเข้าใจข้อความสั้นๆ เพื่อแก้ปัญหาขั้นพื้นฐานได้ ร้อยละ 74.1 แสดงทักษะดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์ คือไม่สามารถทำงานพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลออนไลน์เพื่อแก้ปัญหา และร้อยละ 30.3 คิดว่าตนเองไม่มีแนวโน้มที่จะมีความกระตือรือร้นและความคิดริเริ่มต่อสังคม

ผู้เขียนอยากเห็นประเทศไทยเป็น ‘ฮับ’ ด้านต่าง ๆ อย่างที่ท่านนายกฯ ปักธงไว้ จึงขอฝากให้ผู้บริหารประเทศทั้งภาคการเมืองและข้าราชการประจำ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงานฯ แต่เพียงหน่วยเดียว กรุณาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างบูรณาการ ครอบคลุมครบทุกด้านและมีความต่อเนื่อง จะเพียงเร่งพัฒนาทักษะเฉพาะด้านด้วยการ reskill upskill ก็คงไม่พอ เพราะปัญหานี้หยั่งรากลึกกว่าด้านทักษะวิชาชีพ การพัฒนารากฐานด้านการศึกษาและทุนมนุษย์ของเยาวชนและประชากรวัยทำงานของไทย เป็นเรื่องที่ต้องบริหารจัดการในระยะยาว เงินทุนหรืองบประมาณที่ท่านจะใช้ในการพัฒนาฮับบางด้านที่อาจจะยากเกินจะเห็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมนั้น อาจจะเกินพอและเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า หากนำมาลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ ...หากรากฐานไม่มั่นคงเสียแล้ว พายุพัดมาวูบเดียว ‘ฮับ’ ก็อาจ ‘พับ’ ได้