เศรษฐกิจไทยปี 67 ไม่ง่าย GDP โตต่ำ 3% ปัญหาศักยภาพโตต่ำ หรือ โตต่ำกว่าศักยภาพ

เศรษฐกิจไทยปี 67 ไม่ง่าย GDP โตต่ำ 3%  ปัญหาศักยภาพโตต่ำ หรือ โตต่ำกว่าศักยภาพ

เศรษฐกิจไทยปี 67 ยังไม่สดใส หน่วยงานเศรษฐกิจ - สำนักวิจัย เดินหน้าหั่นจีดีพีปีนี้โตต่ำกว่า 3% แม้เศรษฐกิจปีก่อนฐานต่ำโตแค่ 1.9% ทีดีอาร์ไอชี้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพที่ระดับ 3.6 - 3.8% ต่อปี รับศักยภาพเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด แนะปรับโครงสร้างจริงจัง

KEY

POINTS

  • เศรษฐกิจไทยปี 67 ยังไม่สดใส หน่วยงานเศรษฐกิจ - สำนักวิจัย เดินหน้าหั่นจีดีพีปีนี้โตต่ำกว่า 3%
  • ทีดีอาร์ไอชี้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพที่ระดับ 3.6 - 3.8% ต่อปี ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด
  • ชี้หากไม่มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจริงจังเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ต่ำลงเรื่อยๆและแข่งขันลำบาก  

เศรษฐกิจไทยปี 67 ยังไม่สดใส หน่วยงานเศรษฐกิจ - สำนักวิจัย เดินหน้าหั่นจีดีพีปีนี้โตต่ำกว่า 3% แม้เศรษฐกิจปีก่อนฐานต่ำโตแค่ 1.9% ทีดีอาร์ไอชี้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพที่ระดับ 3.6 - 3.8% ต่อปี รับศักยภาพเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด แนะปรับโครงสร้างจริงจัง

เข้าสู่เดือนที่ 3 ของปี 2567 กำลังจะสิ้นสุดไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ สัญญาณความยากลำบากของเศรษฐกิจในปีนี้ก็ปรากฎให้เห็นผ่านการปรับประมาณการเศรษฐกิจลดลงของสำนักวิจัย และหน่วยงานที่มีหน้าที่ติดตามภาวะเศรษฐกิจต่างปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยลง และมีหลายหน่วยงานที่ปรับตัวเลขการขยายตัวของจีดีพีไทยในปีนี้ลงมาต่ำกว่า 3% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำมากโดยเฉพาะเมื่ออยู่บนข้อมูลที่ว่าเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาขยายตัวเพียง 1.9%

หน่วยงานต่างๆที่ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ลงเช่นสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่ จากเดิมที่คาดว่า จะขยายตัวได้ในระดับ 2.7-3.7%  หรือค่ากลางขยายตัวได้ประมาณ 3.2% เหลือขยายตัวเพียง 2.2 – 3.2% หรือค่ากลางขยายตัวได้ประมาณ 2.7% เท่านั้น  ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจาก 3.2% เหลือ 2.5 – 3%

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2567 ลงมาอยู่ที่ 2.8% จาก 3.1% ขณะที่สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย ได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2567 ลงเหลือ 2.3% จากเดิมที่ประมาณการว่าจะขยายตัวได้ 3.1% ขณะที่ SCB EIC ก็ปรับจีดีพีไทยจาก 3% เหลือ 2.7% โดยชี้ว่าเศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาโครงสร้างที่ฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว

จะเห็นว่าหลายหน่วยงานปรับจีดีพีของไทยในปีนี้ลงมาต่ำกว่า 3% ซึ่งสะท้อนปัญหาของเศรษฐกิจไทยที่โตต่ำกว่าศักยภาพที่ควรอยู่ที่ระดับ 3 – 5% โดยการเติบโตของเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องนั้นก็สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างทำให้ศักยภาพเศรษฐกิจโตต่ำ

ทีดีอาร์ไอชี้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิจัยอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าการที่จีดีพีไทยขยายตัวได้ต่ำกว่า 3.6 - 3.8% จะถือว่าเศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่งยิ่งตัวเลขการขยายตัวต่ำกว่า 3.6 - 3.8% มากเท่าไหร่แสดงว่าเศรษฐกิจไทยอ่อนแอมากเท่านั้น

อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากังวลใจ คือ ตัวเลขศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่ควรเติบโตที่ 3.6-3.8% ต่อปี เป็นตัวเลขที่ประมาณการศักยภาพการเติบโตในช่วงก่อนโควิด-19 จะยังคงเป็นตัวเลขที่เหมาะสมอยู่หรือไม่ โดยในภายหลังเริ่มมีนักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มมองว่าตัวเลขที่เหมาะสมของศักยภาพเศรษฐกิจไทยอาจจะต่ำลงมากกว่านั้น ความหมายก็คือเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจไทยโตต่ำต่อเนื่องมาหลายปี และมีความเสี่ยงที่อาจจะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว ที่จะเป็นปัญหาที่ใหญ่และไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาเองได้โดยง่าย

เศรษฐกิจไทยปี 67 ไม่ง่าย GDP โตต่ำ 3%  ปัญหาศักยภาพโตต่ำ หรือ โตต่ำกว่าศักยภาพ

“หากไม่สามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เศรษฐกิจไทยก็อาจไม่สามารถกลับไปเติบโตเฉลี่ยที่ระดับ 3.6 แบบในช่วงก่อนโควิด-19 ได้ และเศรษฐกิจไทยนั้นมีความเสี่ยงที่จะโตต่ำๆ แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆครับ” นายนณริฏ กล่าว

สศช.แนะ 7 ประเด็นบริหารเศรษฐกิจปี 67 

ทั้งนี้ สศช.ได้เสนอแนะประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2567 ควรให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆดังนี้

1. การติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังการทุ่มตลาด รวมทั้งการใช้มาตรการและวิธีการทางการค้า ที่ไม่เป็นธรรมจากประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ควบคู่ไปกับการทบทวนมาตรการทางภาษีให้มีความเหมาะสม และการปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าให้มีความรัดกุมมากขึ้น รวมทั้งการดำเนินการ อย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย หลบเลี่ยงภาษี หรือใช้ช่องว่างทางกฎหมายต่าง ๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจ

2. การยกระดับศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMES) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าผ่านการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเป็นกลไกหลักในการสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างเอกลักษณ์ของสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปรวมทั้งใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ควรสร้างการรับรู้และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SMES เตรียมความพร้อมในการเข้าถึงสินเชื่อดิจิทัลแฟ็กเตอริงเพื่อเป็นทางเสือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอีกทาง

3.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า ขณะเดียวกันควรเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในประเทศให้มีความพร้อมในการรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสามารถเชื่อมโยงสินค้าที่ผลิตได้ภายในประเทศกับห่วงโซ่การผลิตโลกได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ควรให้ผู้ประกอบการสินค้าที่มีสัญญาณการลดลงของความต้องการในตลาดโลกและมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำต่อเนื่องพิจารณาทบทวนและปรับเปลี่ยนแผนการผลิตและการส่งออกสินค้า ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้ามูลค่าสูงที่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาและมีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดและข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมให้สามารถปรับตัวสู่ภาคการผลิตในอนาคต

แนะเร่งการลงทุนจริง

4. การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2564 – 2566 ควบคู่ไปกับการเร่งรัดอนุมัติโครงกรที่ได้เสนอขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงก่อนหน้า รวมทั้งการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงนสามารถเริ่มประกอบกิจการให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะโรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดการเพิ่มกำลังการผลิต การจ้างงาน และการลงทุนใหม่ นอกจากนี้ยังควรมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะขั้นตอนกระบวนการ และข้อบังคับ/กฎหมาย ร่วมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ควบคู่ไปกับการพัฒนากำลังแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

5. การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยจัดทำปฏิทินการท่องเที่ยวตลอดทั้งปีและการสร้างการรับรู้ต่อมาตรการ Lons-term resident visa (LTR) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูงโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการเข้ามาพำนักระยะยาว นอกจากนี้ ควรเร่งรัดการส่งเสริมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศในเอเชีย ยุโรปและอเมริกาเหนือ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพที่สำคัญ อาทิ สนามบิน/เที่ยวบิน กระบวนการตรวจคนเข้าเมืองโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก การบริหารจัดการพื้นที่และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการรักษามาตรฐานความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว เพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวและยกระดับศักยภาพและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน

6. การดำเนินมาตรการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่เกษตรกรผ่านการส่งเสริมรูปแบบและพัฒนาระบบประกันภัยพืชผลจากความเสี่ยงของสภาพอากาศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการเพิ่มส่วนแบ่งให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตขั้นสุดท้ายมากขึ้น ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้มีการปลูกพืชและใช้วิธีการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าสูง ขณะเดียวกัน ควรมุ่งเน้นการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับมูลค่าเพิ่มและผลิตภาพในการผลิต การกระจายความเสี่ยงในการผลิตอย่างเหมาะสมและสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของสินค้าในภาคเกษตร

และ 7.การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับ

  • การเร่งรัดเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเหลื่อมปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในช่วงที่ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้
  • การเร่งรัดกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ไม่ให้ล่าช้าไปกว่าแผนที่กำหนดไว้ ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมของโครงการให้มีความพร้อมสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างและการเบิกจ่ายได้โดยเร็วหลังจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มีผลใช้บังคับ
  • การติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อให้งบประมาณประจำปี 2567 สามารถเบิกจ่ายได้ไม่น้อยกว่า 90.4% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดโดยแบ่งเป็น อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำ 97%และงบประมาณรายจ่ายลงทุน 65%ตามลำดับ