"เศรษฐา" เปิดทำเนียบฯหารือ รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ ลุ้นเจรจาตั้งโรงงานชิปต้นน้ำ

"เศรษฐา" เปิดทำเนียบฯหารือ รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ ลุ้นเจรจาตั้งโรงงานชิปต้นน้ำ

"เศรษฐา" เสร็จภารกิจที่เยอรมัน เดินทางกลับถึงไทยบ่ายนี้ก่อนเดินทางเข้าทำเนียบฯทันทีพบรมว.พาณิชย์ และประธานสภาผู้ส่งออกสหรัฐฯ หารือความร่วมมือเศรษฐกิจหลายด้าน ทั้งการเพิ่มมูลค่าการค้า การเจรจาขยายสิทธิ์จีเอสพี และการขอให้สหรัฐฯสนับสนุนการลงทุนชิปต้นน้ำในไทย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่าได้เสร็จภารกิจเดินทางเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีแล้ววันนี้ (14 มี.ค.) จะเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยและมีกำหนดการหารือกับนางจีนา เอ็ม. เรมอนโด (H.E. Ms. Gina M. Raimondo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา รวมทั้งจะได้หารือกับนาย Mark Ein ประธานสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (The President’s Export Council: PEC) ที่ทำเนียบรัฐบาล

   รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าในการหารือกันระหว่างนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์สหรัฐฯจะครอบคลุมประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญๆเช่นการชักชวนให้บริษัทชั้นนำของสหรัฐฯมาลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งการเปิดตลาดส่งออกสินค้าจากไทยไปยังสหรัฐฯเพิ่มเติม รวมทั้งการขอให้รัฐบาลสหรัฐฯช่วยผลักดันให้บริษัทที่เป็นผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เช่น อุตสาหกรรมชิปต้นน้ำ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่จะช่วยส่งเสริมการผลิตอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยต่อเนื่องไปอีกหลายอุตสาหกรรมและจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศไทยในระยะยาว           

\"เศรษฐา\" เปิดทำเนียบฯหารือ รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ ลุ้นเจรจาตั้งโรงงานชิปต้นน้ำ

วานนี้ (13 มี.ค.) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับพร้อมด้วยสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (The President's Export Council : PEC) ซึ่งเป็นผู้บริหารธุรกิจชั้นนำของสหรัฐฯ ที่ได้รับเลือกโดยตรงจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในการส่งเสริมการค้าและโอกาสทางธุรกิจกับประเทศในภูมิภาคต่างๆ ว่า เป็นครั้งแรกที่ทั้งสองฝ่ายได้พบหารือกัน โดยเน้นย้ำว่าไทยและสหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมาเป็นเวลานานกว่า 190 ปี และกระทรวงพาณิชย์ของไทยพร้อมร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกัน

การหารือครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ได้นำเสนอนโยบายด้านเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญของไทยแก่สหรัฐฯ อาทิ นโยบาย Soft Power การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ การสร้างดุลยภาพของผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภค การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยการร่วมขับเคลื่อนนโยบาย Digital Wallet การส่งเสริม MSMEs การผลักดันการส่งออก ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากเอฟท่เอ ที่มีอยู่ของไทย รวมทั้งการมุ่งแก้ไขและปรับปรุงข้อจำกัดทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคทางการค้าเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถและโอกาสทางธุรกิจของภาคเอกชน

 

“ไทยยังได้ขอให้สหรัฐฯ พิจารณาเร่งรัดการต่ออายุการให้สิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษีจีเอสพี ที่ได้หมดอายุไปเมื่อปลายปี 2563 ให้เสร็จโดยเร็ว เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ทางสหรัฐรับปากที่จะเร่งรัดการต่อจีเอสพีให้ไทย อีกทั้ง ไทยได้แสดงให้สหรัฐฯ เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาในด้านต่าง ๆ รวมถึงการตอบสนองต่อทุกข้อกังวลของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้สามารถปรับสถานะของไทยออกจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) และจากทุกบัญชีให้ได้ต่อไป”นายภูมิธรรม กล่าวว่า

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน โดยไทยพร้อมเป็นพันธมิตรด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการเป็นฐานการผลิตในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของสหรัฐฯ เช่น ดิจิทัล AI อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด การบิน ยาและเวชภัณฑ์ และสหรัฐฯ ก็พร้อมสนับสนุนภาคเอกชนของสหรัฐฯ ให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ไทยได้แสดงความยินดีต่อการเจรจาความตกลงอินโดแปซิฟิก( IPEF )ซึ่งมีความก้าวหน้าที่ดีในปี 2566 ที่ผ่านมา และพร้อมร่วมมือกับสหรัฐฯ และประเทศหุ้นส่วนในการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปความตกลง IPEF ร่วมกันในเสาที่ 1 เรื่องการค้า (Pillar 1 Trade) ซึ่งสหรัฐฯ พร้อมที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ IPEF ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานกับไทยและประเทศในภูมิภาคต่อไป ซึ่งตนได้แนะนำหม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทยเป็นตัวกลางคุยกับสหรัฐฯ ในการดำเนินการต่างๆ หลังจากนี้เราจะลงในรายละเอียดต่อไป ซึ่งการหารือในวันนี้เป็นบวก สหรัฐฯเชื่อมั่นในรัฐบาลไทยและยินดีอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้คุยกัน ทำให้เกิดความเข้าใจกันเป็นอย่างดีอยากสร้างความสัมพันธ์และยกระดับ ซึ่งท่านรัฐมนตรีจะมาผลักดันเองให้สิ่งที่คุยกันวันนี้เป็นจริง เป็นนิมิตหมายอันดีเรามีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นและรู้ใจกันการร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีมาก

ทั้งนี้ในปี 2566 การส่งออกสินค้าไทยที่ขอใช้สิทธิจีเอสจี สหรัฐ มีมูลค่า 3,102.94 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 8.68 % คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 58.59 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิจีเอสพี โดยสินค้า 231 รายการที่ถูกระงับสิทธิฯ GSP ไปเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2563

สถานะล่าสุดโครงการจีเอสพี สหรัฐฯ หมดอายุลงเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2563 ซึ่งขณะนี้สหรัฐฯ อยู่ระหว่างดำเนินขั้นตอนเพื่อต่ออายุโครงการฯ โดย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564เป็นต้นไปผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ จีเอสจี จะต้องชำระภาษีในอัตรา MFN ปกติ อย่างไรก็ตาม ในการนำเข้าสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ ผู้นำเข้าจะต้องกรอก Special Program Indicator (SPI) for GSP (A) เมื่อนำเข้าสินค้าเข้าสหรัฐฯ เพื่อให้สามารถรับคืนภาษี หากสหรัฐฯ ประกาศต่ออายุโครงการฯ และให้มี ผลย้อนหลังไปถึงวันที่โครงการสิ้นสุดอายุ

สำหรับสินค้าสำคัญที่มีการใช้สิทธิจีเอสพี สูง 10 รายการได้แก่ ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศอื่นๆ กรดมะนาวหรือกรดซิทริก หีบเดินทางขนาดใหญ่ กระเป๋าใส่เสื้อผ้า อาหารปรุงแต่ง ถุงมือยาง เลนส์แว่นตาทำจากวัสดุอื่นๆที่ไม่ใช่แก้ว ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ระบบส่งกำลังอานๆภายในพิกดั 8701และ8402-8705 ซอสปรุงสร ขนมอื่นๆที่ไม่มีโกโก้ผสม ทำจากน้ำตาล และพลาสติกปูพื้นทำด้วยโพลิเมอร์ของไวนิลคลอไรต์