ครม.อนุมัติงบฯ272 ล้านบาท เฝ้าระวังปัญหา PM 2.5 ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ

ครม.อนุมัติงบฯ272 ล้านบาท เฝ้าระวังปัญหา PM 2.5 ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ

ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 272 ลัาน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5 ตั้งKPI ลดลง 50%

นางสาวเกณิกา  อุ่นจิตร์  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (3 มี.ค. 67) ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นเงินทั้งสิ้น 272,655,350 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5 โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ของกรมป่าไม้ เป็นเงิน 109,946,650 บาท และของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นเงิน 162,708,700 บาท ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

ทั้งนี้ ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนหรือ PM2.5 เกินมาตรฐานคุณภาพอากาศ

โดยทั่วไปไฟป่าที่เกิดในประเทศส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง จนได้กำหนดให้การแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ โดยพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เป็นศูนย์กลางของประเทศที่มีประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

รวมถึงเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ โดยมีแหล่งกำเนิดและกิจกรรมในพื้นที่ที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ได้แก่ ไฟป่า การเผาในพื้นที่เกษตร หมอกควันข้ามแดน การจราจรและขนส่ง

โรงงานอุตสาหกรรม ประกอบกับสภาพอุตุนิยมวิทยาในช่วงต้นปีที่ความกดอากาศสูงแผ่มาปกคลุมประเทศไทย ทำให้อากาศปิด ลมสงบ ฝุ่นละอองไม่ฟุ้งกระจายและสะสมในพื้นที่จนเกินมาตรฐาน 

ซึ่งการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดฝุ่นละออก PM2.5 โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นการยกระดับในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และพื้นที่ที่มีจุดความร้อนและความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟป่า ในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่มักเกิดไฟป่ารุนแรง

โดยการจัดจ้างประชาชนในพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นในจุดที่มีความเสี่ยง ทำให้สามารถตรวจพบเหตุไฟป่าได้ทันท่วงที และควบคุมไฟป่าได้อย่างรวดเร็วไฟไม่ขยายวงกว้าง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาไฟป่าในช่วงระยะเวลาที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภัยแล้ง ลดความรุนแรงและผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

น.ส.เกณิกา กล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้ท่านนายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรับ KPI เชิงรุกแบบหวังผล ให้ลดไฟป่า 50% ขึ้นไป
ให้ดูแลป้องกันไม่ให้มีการทุจริต ให้นำข้อมูลดาวเทียม และจุด Hot Spot มาใช้ และรวมถึงการจัดทีมระงับไฟป่าดูแลอย่างใกล้ชิด