เทียบฟอร์มคู่ชิง 'ประธาน ส.อ.ท.' ส่องโปรไฟล์-ผลงาน 'เกรียงไกร-สมโภชน์'

เทียบฟอร์มคู่ชิง 'ประธาน ส.อ.ท.' ส่องโปรไฟล์-ผลงาน 'เกรียงไกร-สมโภชน์'

"กรุงเทพธุรกิจ" เทียบฟอร์มคู่สมัครชิงเก้าอีก "ประธาน ส.อ.ท." คนที่ 17 พร้อมส่องโปรไฟล์-ผลงาน "เกรียงไกร-สมโภชน์" ผลงานไม่ธรรมดาทั้งคู่

KEY

POINTS

  • เปิดโปรไฟล์ผู้สมัครชิงเก้าอีกประธาน ส.อ.ท. คนที่ 17 "เกรียงไกร-สมโภชน์" ผลงานไม่ธรรมดาทั้งคู่
  • "เกรียงไกร" ผ่านประธานมาหลายสมัย เชี่ยวชาญในด้านงานอุตสาหกรรม การค้าระหว่างประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจมหภาค
  • "สมโภชน์" ก่อตั้ง บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตพลังงานทดแทน เข้าจดทะเบียนในตลาดฯ ปี 2556 โดยปี 2561 ทำรายได้1.26 หมื่นล้าน กำไรสุทธิ 4.97 พันล้าน

 

"กรุงเทพธุรกิจ" เทียบฟอร์มคู่สมัครชิงเก้าอีก "ประธาน ส.อ.ท." คนที่ 17 พร้อมส่องโปรไฟล์-ผลงาน "เกรียงไกร-สมโภชน์" ผลงานไม่ธรรมดาทั้งคู่

ในช่วงเดือน เม.ย. 2567 นี้ คณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะต้องโหวตเลือกประธานสภาฯ คนใหม่ ภายหลังเริ่มเปิดเวทีเลือกตั้งขั้นตอนแรกวันที่ 25 มี.ค. 2567 เพื่อดำรงตำแหน่งในวาระปี 2567-2569 แทนนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คนที่ 16 วาระปี 2565-2567

ซึ่งการสมัครประธาน ส.อ.ท. ครั้งนี้ มีผู้ลงสมัคร 2 คน คือ นายเกรียงไกร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. และนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) หรือ EA และรองประธาน ส.อ.ท. 

สำหรับ "นายเกรียงไกร เธียรนุกุล" ถือเป็นผู้มีประสบการณ์ทำงานในสภาฯ มาแล้วหลายปี ผ่านประธานมาหลายสมัย ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาฯ มีความเชี่ยวชาญในด้านงานอุตสาหกรรม การค้าระหว่างประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจมหภาค ก่อนจะขึ้นตำแหน่งประธานสภฯ ดูแลสายงานงานส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ดูแลกลุ่มอุตสาหกรรมครอบคลุม 45 กลุ่ม และ 11 คลัสเตอร์

สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน รุ่นที่ 2 ผ่านการอบรมหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (วปอ.52) รวมทั้งหลักสูตรการอบรมที่จัดโดยสมาคมส่งเสริมสถบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ได้แก่ Director Certification Programme (DCP) และ Audit Committee Programme (ACP) 

ในขณะที่ธุรกิจครอบครัวดำเนินธุรกิจการพิมพ์ “นิวไวเต็กการพิมพ์” ผ่าน บริษัท นิวไวเต็ก จํากัด เมื่อธุรกิจถูก digital disruption อย่างรุนแรงตั้งแต่ปี 2559 ยาวมาถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซ้ำเติมในปี 2563 ได้ทำให้ตัดสินใจที่จะลดบทบาทของธุรกิจการพิมพ์ลง และส่งไม้ต่อให้ลูกชายคนโต “นายกร เธียรนุกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วาวา เซอร์วิส แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป จำกัด หรือ Mywawa สานงานต่อและเกิดธุรกิจ startup ขึ้น

ทั้งนี้ นายเกรียงไร มีประสบการณ์ในด้านการบริหารธุรกิจหลายแห่ง ประกอบด้วย นั่งตำแหน่งกรรมการในกิจการที่เป็นบริษัทจดทะเบียน ได้แก่ บริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แสรสิริ จำกัด (มหาชน)

กรรมการบริหารในกิจการที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียน ได้แก่ บริษัท เพรสทิจ ไดเรคท์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด, บริษัท เพรสทิจ แอนด์ พรีเมี่ยม จำกัด, มิลค์พลัส, บริษัท มีเดีย เซคเกอร์ จำกัด และ บริษัท บางกอก บายน์ดิ้ง จำกัด 

นอกจากนี้ ยังมีประสบการณ์การทำงานที่สำคัญ ได้แก่ ประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย, รองประธาน ส.อ.ท., ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ ส.อ.ท., กรรมการบริหาร ส.อ.ท., กรรมการสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, กรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วว.), กรรมการการไฟฟ้านครหลวง, กรรมการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, ประธานมูลนิธิสหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ และ นายกสมาคมการพิมพ์ไทย เป็นต้น

ขณะที่ "นายสมโภชน์ อาหุนัย" ก่อตั้ง บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ผู้ผลิตพลังงานทดแทน ปี 2549 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2556 โดยมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2561 สามารถทำรายได้ไป 1.26 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิ 4.97 พันล้านบาท 

พร้อมกับเปิดตัว Mine รถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบ และเรือไฟฟ้า เพื่อให้บริการรับส่งผู้โดยสารบนเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังสร้างสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ EA ยังมีโครงการลงทุนกี่ยวกับการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถ EV และทยายขยายการลงทุนระดับหลายพันล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตโรงงานแบตเตอรี่ของ EA จาก 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) เป็น 4 กิกะวัตต์ชั่วโมง โดยการเพิ่มไลน์การผลิตในโรงงานเดิมคาดว่าโครงการลงทุนจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2567 ซึ่งจะเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน 

ก่อนหน้านี้ EA ประกาศความสำเร็จระดับภูมิภาค ของ EA เปิดตัว อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม ไอออนและระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจรที่ทันสมัยและมีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์เต็มตัว เพื่อสร้าง New S-Curve 

ทั้งนี้ อมิตา เทคโนโลยี เป็นโรงงานแบตเตอรี่แห่งแรกที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ในเขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเตรียมแผนขยายกำลังการผลิตสู่ 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ตามแผนในอนาคต สนับสนุนประเทศไทยขึ้นแท่นพร้อมเป็นแหล่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และอุตสาหกรรมกักเก็บพลังงานไฟฟ้าในระดับภูมิภาค

สำเร็จการศึกษา ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต University of Pittsburgh ประเทศสหรัฐอเมริกา และวิศวกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมพลังงานทดแทนสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลอีสาน 

ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง อาทิ

  • ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน), กรรมการบริษัท บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จํากัด (มหาชน)
  • รองประธานกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
  • กรรมการบริษัท บริษัท เอกหญิงกฤษฏ์ โฮลดิง จํากัด
  • กรรมการบริษัทบริษัท อีเทอนิตี้ โฮลดิง จํากัด
  • กรรมการบริษัท เอสพีบีแอล โฮลดิง จํากัด
  • ที่ปรึกษาคณะกรรมการอํานวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังเคยเป็นประธานสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม (ส.อ.ท.), กรรมการบริษัท บริษัท ทีเฮลท์ โปรดักส์ จํากัด, ประธานสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส.อ.ท., กรรมการ คณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ เป็นต้น