‘เกรียงไกร’ ไม่หวั่นคู่แข่งชิง ส.อ.ท. ชี้สมาชิกถามธรรมเนียมประธาน 2 สมัย

‘เกรียงไกร’ ไม่หวั่นคู่แข่งชิง ส.อ.ท. ชี้สมาชิกถามธรรมเนียมประธาน 2 สมัย

“เกรียงไกร” ไม่กังวล “สมโภชน์” ท้าชิงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.เผยอยู่ที่สมาชิกตัดสินใจเปิดโอกาสให้ทุกคนที่มีความสามารถร่วมงาน ห่วงสมาชิกท้วงติงธรรมเนียมวาระ 2 สมัย

การเลือกตั้งกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) วาระปี 2567-2569 กำลังจะเกิดขึ้นในการประชุมใหญ่วันที่ 25 มี.ค.2567 จะเห็นความชัดเจนของผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ ที่จะจัดขึ้นหลังการประชุมใหญ่ไม่เกิน 15 วัน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท.คนปัจจุบันจะครบวาระสมัยที่ 1 ในเดือน มี.ค.2567 ซึ่งในภาวะปกติมีธรรมเนียมให้ประธาน ส.อ.ท.ได้ดำรงตำแหน่ง 2 วาระ รวม 4 ปี แต่ในช่วงที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์ที่ไม่ปกติและมีการยกเว้นธรรมเนียมดังกล่าว

การเลือกตั้งครั้งนี้นายเกรียงไกร ยังคงเสนอตัวเป็นประธาน ส.อ.ท.อีก 1 สมัย แต่ได้มีการเสนอตัวจากสมาชิกอีก 1 กลุ่ม คือ “นายสมโภชน์ อาหุนัย” รองประธาน ส.อ.ท.และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และที่ได้เปิดไปตัววันที่ 29 ก.พ.2567 

การเสนอตัวของนายสมโภชน์ ได้รับการยืนยันจากนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานกิตติมศักดิ์ ส.อ.ท.ว่า เป็นผู้สนับสนุนเพราะเห็นศักยภาพนายสมโภชน์ ที่เป็นคนมีความตั้งใจ สนับสนุนธุรกิจ เห็นความสำคัญของเอสเอ็มอี และได้ทำงานในตำแหน่งรองประธาน ส.อ.ท. มาถึง 2 สมัย

การเสนอตัวของนายสมโภชน์ได้สร้างความกังวลให้กับสมาชิก ส.อ.ท.จำนวนหนึ่งถึงความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เหมือนความขัดแย้งในช่วงปี 2556-2557 ที่เกิดเหตุการณ์ที่กรรมการแบ่งเป็น 2 ฝ่าย มีความพยายามที่จะปลดนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ออกจากตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.

นายเกรียงไกร กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การมีผู้สมัครตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.เพิ่มอีก 1 คน ไม่มีปัญหาอะไร แต่สิ่งที่มีผู้สอบถามเข้ามา คือ การเลือกทั้งประธานกลุ่มอุตสาหกรรม ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด และประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรม ซึ่งมีธรรมเนียมปฎิบัติหน้าที่เป็นเวลา 2 ปี บวก 2 ปี หรือรวม 2 วาระ ซึ่งความเห็นส่วนตัวไม่อยากให้มองว่าเป็นการแตกแยกภายใน ส.อ.ท.

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเราทุกคนต่างมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน พร้อมรับฟังหมด คนส่วนใหญ่พูดว่าควรปฎิบัติเป็นธรรมเนียม ต้องเข้าใจว่าธรรมเนียมไม่ใช่กฎหมาย ไม่ได้มีบทลงโทษ แต่เนื่องจากคนส่วนใหญ่มองว่าการดำรงตำแหน่งอย่างน้อย 4 ปี เหมาะสมกว่า เพราะ 2 ปีสั้นไป แค่ออกนโยบายยังไม่ทันได้ทำอะไรเวลาก็หมดลงแล้ว 

ดังนั้น 2 ปี ต่อจากนี้จะเป็นปีที่เก็บเกี่ยวผลงานที่จะสำเร็จ และคิดว่าโครงการที่ทำอยู่กำลังจะดอกออกผล ซึ่งสุดท้ายก็ต้องให้สมาชิกเป็นผู้เลือก และหากสมาชิกมองว่ายังมีประโยชน์ผลงานเข้าตาก็เลือกเป็นประธาน ส.อ.ท.อีกสมัย

“หากผู้ลงสมัครหรือคนเห็นต่างมองว่าเรื่องเร่งด่วนหรือนโยบายที่เขาเห็นว่าจำเป็นต้องทำตอนนี้เราก็ฟัง ถ้าดีแม้ว่าใครจะมาเป็นก็เดินหน้านโยบายที่ดีเราก็พิจารณาได้ เรามีกฎ เกณฑ์ และระเบียบ" 

ทั้งนี้ การที่ทุกคนมาจากอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เราจะอยู่กันได้ไม่ใช่ว่าประธาน ส.อ.ท.จะสั่งคนนั้นคนนี้ แต่อยู่ได้เพราะมีกติกาที่ตกลงกันไว้ หากใครไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถร้องเรียนได้ตามขั้นตอนของคณะกรรมการบริหาร 

"การทำงานของผมนั้นมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนตลอดในทุกวัน” นายเกรียงไกร กล่าว