ส่อง 'อัตราใช้กำลังผลิตไทย' ต่ำกว่าช่วงโควิด19 สัญญาณฉุดเศรษฐกิจ-การลงทุน

ส่อง 'อัตราใช้กำลังผลิตไทย' ต่ำกว่าช่วงโควิด19 สัญญาณฉุดเศรษฐกิจ-การลงทุน

สศช.เปิดข้อมูลกำลังการผลิตปี 66 ฉุดตัวเลขเศรษฐกิจไทย ใช้กำลังการผลิตภาพรวมต่ำกว่าช่วงโควิด-19 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรอบ 5 ปี พบหลายอุตสาหกรรมใช้กำลังการผลิต 30 - 60% ขณะที่บางอุตสาหกรรมใช้กำลังการผลิตต่ำกว่า 30%

KEY

POINTS

  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดเศรษฐกิจหากกำลังการผลิตขยายตัวมากขึ้นจะทำให้ภาคเอกชนลงทุนเพิ่มทั้งเครื่องจักร และการจ้างงานเพิ่ม
  • กำลังการผลิตของไทยปัจจุบันอยู่ที่ 59.06% ต่ำกว่าช่วงโควิด และต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง 
  • มีหลายอุตสาหกรรมที่ใช้กำลังการผลิตเพียง 30 - 40% 
  • อัตรากำลังการผลิตที่ต่ำจะกระทบต่อการลงทุน และเศรษฐกิจในอนาคต
  • "สภาพัฒน์" ชี้แนวทางแก้ปัญหากำลังการผลิตตกต่ำโดยปรับเปลี่ยนแผนการผลิตและส่งออกสินค้า ควบคู่ปรับโครงสร้างการผลิต และเร่งรัดการลงทุน

สศช.เปิดข้อมูลกำลังการผลิตปี 66 ฉุดตัวเลขเศรษฐกิจไทย ใช้กำลังการผลิตภาพรวมต่ำกว่าช่วงโควิด-19 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรอบ 5 ปี พบหลายอุตสาหกรรมใช้กำลังการผลิต 30 - 60% ขณะที่บางอุตสาหกรรมใช้กำลังการผลิตต่ำกว่า 30%

เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวได้เพียง 1.9% ในปี 2566 เกิดจากหลายปัจจัยที่เป็นปัญหาสั่งสมในโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนาน แต่ประเด็นหนึ่งที่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในการแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2566 และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2567 คืออัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมของไทยที่ไม่ได้เติบโตเพิ่มขึ้นแม้การส่งออกของไทยจะกลับมาขยายตัวได้ติดต่อกันหลายเดือน ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปก็จะกระทบกับการลงทุนของภาคเอกชน และจะกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมได้

การใช้กำลังการผลิตตัวเลขชี้วัดอนาคตเศรษฐกิจ

อัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization Rate) หรือ “CAP-U” เป็นเครื่องชี้ระดับการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบการผลิตจริงกับกำลังการผลิตสูงสุดหรือศักยภาพ ของเครื่องจักร ณ ช่วงเวลาหนึ่ง โดยเป็นค่าร้อยละ (%)โดยความสำคัญของอุตสาหกรรมแต่ละกลุ่มแตกต่างกันตามสัดส่วนค่าถ่วงน้ำหนักของแต่ละอุตสาหกรรมซึ่งสามารถชี้วัดภาพรวมของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าได้โดยเฉพาะในเรื่องของการลงทุนเพิ่มเติมของภาคอุตสาหกรรม

หากอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นสูงในระดับเกิน 70 - 80%  ก็จะพิจารณาลงทุนเพิ่มซึ่งอาจหมายถึงการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น หรือการนำเข้าเครื่องมือและเครื่องจักรจากต่างประเทศเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต

ทั้งนี้ในรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 และภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2566 ของ สศช.พบว่า ข้อมูลอัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization Rate :) ของไทยจัดทำและเผยแพร่โดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ซึ่งจำแนกหมวดสินค้าอุตสาหกรรมตามการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรม (ประเทศไทย) ครอบคลุมจำนวน 21 สาขา 70 กลุ่มอุตสาหกรรม 119 ผลิตภัณฑ์  ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ เป็นเครื่องชี้ที่แสดงถึงการใช้กำลังการผลิตทั้งในระดับรายผลิตภัณฑ์ รายอุตสาหกรรม และในภาพรวมของประเทศ

การใช้กำลังผลิตต่ำกว่าโควิด

ในปี 2566 อัตราการใช้กำลังการผลิตของไทยอยู่ที่59.06% ต่ำกว่า 62.76% ในปี 2565 ต่ำกว่า 60.26% ในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงโควิด-19 และต่ำกว่า 64.08% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2561 - 2565)

 

ส่อง \'อัตราใช้กำลังผลิตไทย\' ต่ำกว่าช่วงโควิด19 สัญญาณฉุดเศรษฐกิจ-การลงทุน

โดยเมื่อพิจารณาอัตราการใช้กำลังการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า มีกลุ่มอุตสาหกรรมที่อัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำกว่า 30% จำนวน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ระหว่าง 30-50% จำนวน 28 กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ระหว่าง 50-70% จำนวน 28 กลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงกว่า 70% จำนวน 9 กลุ่มอุตสาหกรรม และเมื่อพิจารณาอัตราการใช้กำลังการผลิตตามสัดส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

1.กลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่า 30%) อยู่ที่ 65.60% ต่ำกว่า 66.99% ในปี 2565 ต่ำกว่า 67.66% ในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงโควิด-19 และต่ำกว่า 69.24% ค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2561 - 2565) โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตของกลุ่มการผลิตที่สูง ได้แก่ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปีโตรเลียม (84.67%) การผลิตพลาสติก และยางสังเคราะห์ขั้นต้น (82.66%) และการฆ่าสัตว์ปีกและการผลิต เนื้อสัตว์ปีกสด แช่เย็นหรือแช่แข็ง (80.98%) ตามลำดับ

ส่อง \'อัตราใช้กำลังผลิตไทย\' ต่ำกว่าช่วงโควิด19 สัญญาณฉุดเศรษฐกิจ-การลงทุน

ส่วนอัตราการใช้ กำลังการผลิตของกลุ่มการผลิตที่ต่ำ ได้แก่ การผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน (41.72%) การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกกึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูป (48.38%) และการผลิตน้ำมันปาล์ม (48.50%) ตามลำดับ

เปิดข้อมูลสินค้าใช้กำลังการผลิตต่ำ

2.กลุ่มการผลิตที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วง 30-60% อยู่ที่ 59.08% ต่ำกว่า 62.77% ในปี 2565 และต่ำกว่า 62.35% ค่าเฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลัง (ปี 2561 - 2565) แต่สูงว่า 53.41% ในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงโควิด-19 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตของกลุ่มการผลิตที่สูง ได้แก่ การผลิตยานยนต์ (71.60%) การผลิตยางนอกและยางใน การหล่อดอกยางและการซ่อมสร้างยาง (65.68%) และการผลิตจักรยานยนต์ 63.34% ตามลำดับ ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตของกลุ่มการผลิตที่ต่ำ ได้แก่ การผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก (27.95%) การผลิตน้ำตาล (38.3%) และการผลิตสบู่และสารซักฟอกฯ (56.56%) ตามลำดับ

และ 3.กลุ่มการผลิตเพื่อการส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่า 60%) อยู่ที่ 48.89% ต่ำกว่า 56.21% ในปี 2565 และต่ำกว่า 55.64% ในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงโควิด-19 และต่ำกว่า 57.82% ค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2561 - 2565) โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตของกลุ่มการผลิตที่สูง ได้แก่ การผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (66.33%) การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป (59 .82%) และการผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือน (56.92%) ตามลำดับ

ส่อง \'อัตราใช้กำลังผลิตไทย\' ต่ำกว่าช่วงโควิด19 สัญญาณฉุดเศรษฐกิจ-การลงทุน

ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตของกลุ่มการผลิตที่ต่ำ ได้แก่ การผลิตเฟอร์นิเจอร์ (44.12%) การผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (ยกเว้น ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า) (32.78%) และการผลิตเครื่องประดับเพชรพลอยแท้และ สิ่งของที่เกี่ยวข้อง (34.93%) ตามลำดับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าการที่เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัวได้เพียง 1.9% ภาคการผลิตที่ชะลอตัวลงก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าคาด โดยสาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลงถึง 3.2% เทียบกับการขยายตัว 0.7% ในปี 2565 ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไป

สศช.เสนอแก้ปัญหาการใช้กำลังการผลิตต่ำ

ทั้งนี้ สศช.มีข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาการใช้กำลังการผลิตของไทยที่ลดลงโดยต้องขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น เช่น สินค้า ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์อันเนื่องมาจาก ความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า

ขณะเดียวกันควรเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในประเทศให้มีความพร้อมในการรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสามารถเชื่อมโยงสินค้าที่ผลิตได้ภายในประเทศกับห่วงโซ่การผลิตโลกได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ควรให้ผู้ประกอบการสินค้าที่มีสัญญาณการลดลงของความต้องการในตลาดโลกและมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำต่อเนื่องพิจารณาทบทวนและปรับเปลี่ยนแผนการผลิตและการส่งออกสินค้า ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้ามูลค่าสูงที่สามารถหลีกเยงการแข่งขันด้านราคาและมีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดและข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมให้สามารถปรับตัวสู่ภาคการผลิตในอนาคต

เร่งรัดการลงทุนให้เกิดจริง

ขณะเดียวกันต้องเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2564 – 2566 ควบคู่ไปกับการเร่งรัดอนุมัติโครงการที่ได้เสนอขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงก่อนหน้า รวมทั้งการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานสามารถเริ่มประกอบกิจการให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะ โรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดการเพิ่มกำลังการผลิต การจ้างงาน และการลงทุนใหม่

นอกจากนี้ยังควรมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะขั้นตอนกระบวนการ และข้อบังคับ/กฎหมาย รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ควบคู่ไปกับการพัฒนากำลังแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย