คลังเผยยอดตั้งสำรองหนี้เสียแบงก์รัฐพุ่ง 263%

คลังเผยยอดตั้งสำรองหนี้เสียแบงก์รัฐพุ่ง 263%

คลังเผยผลประกอบการแบงก์รัฐ ณ สิ้นปีงบ 66 อยู่ในเกณฑ์ดี โดยยอดสินเชื่ออยู่ที่ 5.95 ล้านล้านบาท เติบโต 5.2% กำไร 4.9 หมื่นล้าน หนี้เสียขยับเล็กน้อยมาอยู่ที่ 4.47% ขณะที่ ยอดตั้งสำรองหนี้เสียแบงก์รัฐพุ่ง 263%

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เผยแพร่ผลประกอบการสถาบันการเงินของรัฐ(แบงก์รัฐ) ณ สิ้นเดือนก.ย.2566 พบว่า ผลประกอบการโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทั้งในแง่การปล่อยสินเชื่อ เงินฝาก ผลกำไรส่วนหนี้เสียปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่งผลยอดการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญก็ปรับเพิ่มขึ้น ด้านหนี้ที่ถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษอยู่ในระดับทรงตัวจากเมื่อกลางปี 2566 

ทั้งนี้ ยอดการกันสำรองได้ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ 263% ของหนี้เสีย ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 ขณะที่ เดือนก.ย.ปี 2565 มียอดการกันสำรองเพียง 194% ส่วนปี 2564 ยอดกันสำรองสูงถึง 296 % เพื่อรองรับความเสี่ยในช่วงนั้น และหลังจากในนั้นปี 2565 ได้ปรับลดลง และกลับมาเพิ่มขึ้นอีกในปี 2566 ในส่วนของหนี้เสียนั้น ณ เดือนก.ย.2566 อยู่ที่ 2.94 แสนล้านบาท คิดเป็น 4.47% ของสินเชื่อคงค้าง ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย.2566 ที่อยู่ที่ 4.44 % 

ด้านการปล่อยสินเชื่อ ณ เดือนก.ย.2566 อยู่ที่ 5.95 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.22 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนเงินรับฝาก ณ ก.ย.2566 อยู่ที่ 6.03 ล้านล้านบาท  ขยายตัวจากปีก่อนหน้า  3.54% 

ส่วนสินเชื่อที่ถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือ SM ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ผิดนัดชำระหนี้ ไม่เกิน 3 เดือน จึงยังไม่ตกชั้นเป็นหนี้เสียหรือ NPL แต่จำเป็นต้องติดตามเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้สินเชื่อเหล่านั้นตกชั้นเป็นหนี้เสีย โดย ณ เดือนก.ย.2566 ยอด  SM ของแบงก์รัฐ อยู่ที่ 2.69 แสนล้านบาท หรือ 4.10 % ของสินเชื่อคงค้าง ลดลงเล็กน้อยจากเดือนมิ.ย.2566 ที่อยู่ที่ 4.13 %

ด้านกำไรอยู่ที่ 4.9 หมื่นล้านบา  ส่งผลกำไรสะสมของแบงก์รัฐปรับตัวดีขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมา โดย ณ เดือนก.ย.2566 มีกำไรสะสมอยู่ที่3.86 แสนล้านบาท  สูงกว่าปี 2565 และ 2564 ที่อยู่ที่ 3.48 แสนล้านบาท และ 3.23 แสนล้านบาท ตามลำดับ ในด้าน BIS Ratio ณ เดือนก.ย.2566 อยู่ที่ 15.16 % เพียงพอต่อการดำเนินงานของแบงก์รัฐในระยะต่อไป โดยเพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนธ.ค.2565 ที่อยู่ 14.67% 

ทั้งนี้ สศค.ระบุว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัวที่ 1.8 (ช่วงคาดการณ์ที่1.6ถึง 2.0%) ชะลอลงจากปี2565 ที่ขยาย 2.6% โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการหดตัวของการ ผลิตภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้า ในหมวดยานยนต์ และคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์  ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งปี 2566 คาดว่า จะหดตัวที่ 1.5% ส่วนปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 2.8 % จากการฟื้นตัวของภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวเป็นสำคัญ