รู้จัก "เกรียงไกร เธียรนุกุล" ประธาน ส.อ.ท. คนที่ 16

รู้จัก "เกรียงไกร เธียรนุกุล" ประธาน ส.อ.ท. คนที่ 16

ส.อ.ท. โหวตเลือก "นายเกรียงไกร เธียรนุกุล" นั่งตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคนที่ 16 วาระปี 2565-2567

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 22 เม.ย. 2565 คณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะมีการโหวตเลือกประธานสภาอุตสาหกรรมฯ คนใหม่ หลังจากนั้นจะมีการแถลงนโยบายการบริหารงาน ยุทธศาสตร์และทิศทางการดำเนินงานของ ส.อ.ท. โดยประธานส.อ.ท.และกรรมการบริหารชุดใหม่ วาระปี 2565-2567

สำหรับผู้ที่มารับตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. คนใหม่ คือ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานในสภาฯ มาแล้วหลายปี ผ่านประธานหลายสมัย ขณะดำรงตำแหน่งรองประธาน มีความเชี่ยวชาญในด้านงานอุตสาหกรรม การค้าระหว่างประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจมหภาค ล่าสุดดูแลสายงานงานส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ดูแลกลุ่มอุตสาหกรรมครอบคลุม 45 กลุ่ม และ 11 คลัสเตอร์

ประวัติประธาน ส.อ.ท. คนที่ 16
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ปัจจุบันอายุ 62 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน รุ่นที่ 2 ผ่านการอบรมหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (วปอ.52) รวมทั้งหลักสูตรการอบรมที่จัดโดยสมาคมส่งเสริมสถบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ได้แก่ Director Certification Programme (DCP) และ Audit Committee Programme (ACP) 

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท นิวไวเต็ก จำกัด โดยมีประสบการณ์ในด้านการบริหารธุรกิจหลายแห่ง ประกอบด้วย นั่งตำแหน่งกรรมการในกิจการที่เป็นบริษัทจดทะเบียน ได้แก่ บริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท แสรสิริ จำกัด (มหาชน)

ตำแหน่งกรรมการบริหารในกิจการที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียน ได้แก่ บริษัท เพรสทิจ ไดเรคท์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด, บริษัท เพรสทิจ แอนด์ พรีเมี่ยม จำกัด, มิลค์พลัส, บริษัท มีเดีย เซคเกอร์ จำกัด และ บริษัท บางกอก บายน์ดิ้ง จำกัด 

นอกจากนี้ ยังมีประสบการณ์การทำงานที่สำคัญ ได้แก่ ประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย, รองประธาน ส.อ.ท., ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ ส.อ.ท., กรรมการบริหาร ส.อ.ท., กรรมการสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, กรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วว.), กรรมการการไฟฟ้านครหลวง, กรรมการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, ประธานมูลนิธิสหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ และ นายกสมาคมการพิมพ์ไทย

ลั่นพาสมาชิกเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล
โดย นายเกรียงไกร เคยให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางการทำงานของ ส.อ.ท. กับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า จะเป็นการทำงานสานต่อในเรื่องที่กำลังทำอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญอันดับแรกในการช่วยให้สมาชิกทั้งหมด 45 กลุ่มอุตสาหกรรม สามารถเปลี่ยนผ่านสู่การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้เกิดการยกระดับการผลิตด้วยระบบดิจิทัลและออโตเมชั่น เพิ่มปริมาณและคุณภาพในการผลิต รวมทั้งการฝึกทักษะบุคคลากรด้วยการ Upskill และ Reskill ให้สามารถสร้างคุณภาพของสินค้าและบริการที่สูงขึ้น

พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและหาสินค้าใหม่ที่ไทยได้เปรียบและสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจบีซีจี ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว 

“ผมต้องการจะสานต่องานที่ทำอยู่เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมของประเทศไทยต่อไป”