5 โครงข่ายรถไฟฟ้าสายใหม่ 'คมนาคม' ดันตอกเสาเข็มปีนี้

5 โครงข่ายรถไฟฟ้าสายใหม่ 'คมนาคม' ดันตอกเสาเข็มปีนี้

เปิดแอคชันแพลน “คมนาคม” ปี 2567 ดันตอกเสาเข็มโครงข่ายระบบขนส่งทางราง 5 เส้นทางใหม่ รวมเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.78 แสนล้านบาท จ่อเสนอส่วนต่อขยายสายสีแดง พร้อมปิดจ็อบมหากาพย์ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

KEY

POINTS

  • เปิดแอคชันแพลน “คมนาคม” ปี 2567 ดันลงทุน 1 ล้านล้านบาท
  • ตั้งเป้า 5 ปี ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ในระดับ 9.5 – 9.8%
  • ลงทุนรถไฟฟ้า 1.78 แสนล้าน ตอกเสาเข็มปีนี้ 5 สาย
  • ลุ้นศาลปกครองสูงสุด ปิดจ็อบมหากาพย์ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” 

เปิดแอคชันแพลน “คมนาคม” ปี 2567 ดันตอกเสาเข็มโครงข่ายระบบขนส่งทางราง 5 เส้นทางใหม่ รวมเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.78 แสนล้านบาท จ่อเสนอส่วนต่อขยายสายสีแดง พร้อมปิดจ็อบมหากาพย์ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

แผนปฏิบัติการหรือ Action Plan กระทรวงคมนาคมขับเคลื่อนในปี 2567 – 2568 พบว่าเตรียมผลักดันนโยบาย Quick Win ปี 2567 และ 2568 ด้วยโครงการสำคัญ 72 โครงการ วงเงินลงทุนมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งตั้งเป้าให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมภายในรัฐบาลนี้ โดยโครงการดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

1. โครงการที่มีความสำคัญเชิงพื้นที่จำนวน 13 โครงการ

2. ด้านคมนาคมขนส่งทางบกจำนวน 29 โครงการ

3. ด้านคมนาคมขนส่งทางราง จำนวน 22 โครงการ

4. ด้านคมนาคมขนส่งทางอากาศ จำนวน 4 โครงการ

5. ด้านคมนาคมขนส่งทางน้ำจำนวน 4 โครงการ

5 โครงข่ายรถไฟฟ้าสายใหม่ \'คมนาคม\' ดันตอกเสาเข็มปีนี้

ขณะที่โครงการลงทุนด้านระบบราง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงตั้งโจทย์สำคัญว่า ภายใน 5 – 6 ปีนี้ จะต้องผลักดันการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้เทียบเท่ากับสากล โดยจะต้องอยู่ในระดับ 9.5 – 9.8% ซึ่งปัจจัยสำคัญ คือการเร่งลงทุนระบบรางให้มากขึ้น ผ่านโครงการลงทุนระบบรางรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 รวมไปถึงการผลักดันรถไฟฟ้าให้ถึงเป้าหมาย 554 กิโลเมตร

อย่างไรก็ดี ภายใต้แผน Quick Win ปี 2567 มีการกำหนดเป้าหมายเริ่มก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่จำนวน 5 เส้นทาง เพื่อสร้างโครงข่ายการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้ามากขึ้น โดยคาดการณ์วงเงินลงทุนรวม178,772.83 ล้านบาท ประกอบด้วย

- รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วงเงินลงทุน 122,067.27 ล้านบาท

- รถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต - มธ. ศูนย์รังสิต วงเงินลงทุน 6,468.69 ล้านบาท

- รถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา วงเงินลงทุน 10,670.27 ล้านบาท

- รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช วงเงินลงทุน 4,616.00 ล้านบาท

- รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ - พญาไท - มักกะสัน – หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ - หัวลำโพง (Missing Link) วงเงินลงทุน 34,950.60 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในส่วนของ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สถานะโครงการ ณ ปัจจุบันการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ดำเนินการจัดหาเอกชนร่วมลงทุน และได้ตัวผู้ยื่นข้อเสนอดีที่สุดแล้ว แต่ยังไม่สามารถลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ เนื่องจากโครงการนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด กรณีที่มีเอกชนยื่นฟ้องเกี่ยวกับข้อกำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชน ส่งผลให้โครงการดังกล่าวยังไม่สามารถดำเนินการต่อได้

อย่างไรก็ดี กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด พร้อมตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถตอกเสาเข็มเริ่มโครงการได้ภายในปีนี้ โดยคาดว่าหลังจากได้ตัวเอกชนแล้ว จะเร่งวางระบบรถไฟฟ้าแล้วเสร็จภายใน 2 ปี เพื่อเปิดบริการช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรีก่อน เพราะขณะนี้ภาพรวมโครงการถือว่าล่าช้าจากแผนกว่า 3 ปี

ขณะที่โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม และแดงอ่อน สถานะโครงการในส่วนของช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ผ่านการพิจารณาจากทบทวนวงเงินจากคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคม และเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้ เพื่อเริ่มขั้นตอนเปิดประกวดราคาทันที

หลังจากนั้นจะเร่งรัดเสนอช่วงตลิ่งชัน - ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน - ศิริราช ส่วนสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ - พญาไท - มักกะสัน – หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ - หัวลำโพง (Missing Link) อยู่ระหว่างปรับแบบสถานีราชวิถี และย้ายตำแหน่งสถานีใหม่ เพื่อให้ผู้โดยสารเดินเชื่อมเข้าสู่อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีได้สะดวก ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปพร้อมผลักดันเริ่มก่อสร้างตามเป้าหมายที่วางไว้