ส่องคู่เทียบชิง 'เลขา กกพ.' คนใหม่ 'คนใน-คนนอก' มาแรงทั้งคู่ 

ส่องคู่เทียบชิง 'เลขา กกพ.' คนใหม่ 'คนใน-คนนอก' มาแรงทั้งคู่ 

ส่องคู่เทียบชิง "เลขา กกพ." คนใหม่ หลังมี 4 ผู้สมัครเข้าร่วมทั้งคนใน-คนนอก จับตา 29 ก.พ. 2567 นี้ประกาศรายชื่อผู้สมัคร ก่อนประกาศรายชื่อผู้ผ่านการประเมินเพื่อเข้ารับการสัมภาษณ์ภายในเดือน มี.ค. 2567 

KEY

POINTS

  • สำนักงาน กกพ. เปิดรับสมัครคัดเลือกเลขา กกพ. ระหว่างวันที่ 31 ม.ค. - 13 ก.พ.  2567 เพื่อรับตำแหน่งแทน นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ จะเกษียณอายุในวันที่ 31 พ.ค. 2567  
  • เปิด 4 ผู้สมัครเลขา กกพ. คนในมี 2 คน และคนนอกอีก 2 คน โดยนายกัลย์ คนในมาแรงสุด ส่วนนายพูลพัฒน์ ก็น่าจับตา
  • กกพ. จะประกาศรายชื่อผู้สมัครเลขา 29 ก.พ. 2567 พร้อมประกาศรายชื่อผู้ผ่านการประเมินเพื่อเข้ารับการสัมภาษณ์ภายในเดือน มี.ค. 2567 

 

ส่องคู่เทียบชิง "เลขา กกพ." คนใหม่ หลังมี 4 ผู้สมัครเข้าร่วมทั้งคนใน-คนนอก จับตา 29 ก.พ. 2567 นี้ประกาศรายชื่อผู้สมัคร ก่อนประกาศรายชื่อผู้ผ่านการประเมินเพื่อเข้ารับการสัมภาษณ์ภายในเดือน มี.ค. 2567 

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ถือเป็นองค์กรอิสระ ภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน โดยจะต้องออกแบบโครงสร้างค่าไฟฟ้าเพื่อเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟ อาทิ โครงสร้างค่าไฟฟ้าฐาน และโครงสร้างค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ซึ่งการคิดค่าไฟฟ้าฐานและค่า Ft เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นก่อนจะมี พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ดังนั้น ที่ผ่านมาการกำหนดโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐาน จึงไม่มีกรอบกติกาที่ชัดเจน โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คำนวณอัตราค่าไฟฟ้าฐานที่เรียกเก็บ

ดังนั้น ในการคำนวณค่าไฟฟ้าโดยตั้งสมมติฐานราคาก่อนนำมาประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเข้าใจนั้นถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ในฐานะเลขา กกพ. จะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สื่อมวลชน ถือเป็นบุคคลสำคัญ และขณะนี้ สำนักงานกกพ. อยู่ระหว่างขั้นตอนเปิดคัดเลือกเลขาท่านใหม่แทนท่านเดิมที่จะเกษียณอายุในวันที่ 31 พ.ค. 2567 นี้ 

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ว่า ภายหลังสำนักงาน กกพ. ได้เปิดรับสมัครคัดเลือกเลขาธิการสำนักงานกกพ. ระหว่างวันที่ 31 ม.ค. - 13 ก.พ.  2567 เพื่อรับตำแหน่งแทน นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)  ในฐานะโฆษกสำนักงาน กกพ. ที่จะเกษียณอายุในวันที่ 31 พ.ค. 2567  เบื้องต้นมีผู้สมัครทั้งสิ้น 4 ราย มีทั้งคนใน และคนนอก กกพ. ประกอบด้วย

1. นายกัลย์ แสงเรือง รองเลขาธิการ สำนักงาน กกพ.

2. นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน 

3. นายเอกรินทร์ วาสนาส่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BOTLINK และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานยานยนต์ไฟฟ้า

4. นางสาวรังสิมา พักเกาะ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายงาน สำนักงานกกพ. ปัจจุบันอยู่ บริษัท บี.กริม โซลาร์ เพาเวอร์ 

สำหรับตำแหน่งเลขาธิการสำนักงาน กกพ. ที่เปิดรับสมัครดังกล่าว มีวาระการปฏิบัติงาน 5 ปี หรือจนกว่าจะครบอายุ 60 ปีบริบูรณ์ โดยวิธีคัดเลือกจะพิจารณาจากเอกสารหลักฐานการสมัครก่อน จากนั้นผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องแสดงวิสัยทัศน์กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยสำนักงาน กกพ.จะประกาศรายชื่อผู้สมัครรับคัดเลือกฯ จำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ 

ครั้งที่ 1 ประกาศรายชื่อผู้สมัครในวันที่ 29 ก.พ. 2567

ครั้งที่ 2 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการประเมินเพื่อเข้ารับการสัมภาษณ์ภายในเดือน มี.ค. 2567 

ครั้งที่ 3 ประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกภายในเดือน เม.ย. 2567 

รายงานข่าว ระบุว่า สำหรับรายชื่อผู้ที่น่าจับตามากที่สุด คือ นายกัลย์ แสงเรือง รองเลขาธิการ กกพ. ซึ่งเป็นลูกหม้อของสำนักงานกกพ. และนายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านต่างประเทศ 

ทั้งนี้ หากเทียบ 2 รายชื่อนี้ ผู้ที่มาแรงกว่าณ เวลานี้ ยังคงเป็นนายกัลย์ แต่ก็ต้องจับตานายพูลพัฒน์ ด้วยเช่นกัน ว่าจะมาแรงแซงโค้งในช่วงสุดท้ายหรือไม่ ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. จะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกภายในเดือน เม.ย. 2567  ผ่านทางเว็บไซต์ www. erc.or.th ต่อไป

สำหรับคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (กกพ.) ถือเป็นองค์กรหลักในการกํากับดูแลกิจการพลังงานของชาติ ด้านกิจการไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมให้มีบริการอย่างมั่นคง และมีเสถียรภาพ ในราคาที่เหมาะสม โดยยึดมั่นในความยุติธรรม คุณธรรม และความโปร่งใส ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และพึ่งพากันอย่างยั่งยืน ระหว่างกิจการพลังงาน สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นตั้งใจพัฒนารากฐานพลังงานของประเทศ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต

โดยภารกิจหลักของสำนักงานกกพ. ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ในทุก 4 เดือน จะต้องคำนวณประมาณการณ์ราคาค่าไฟฟ้าในแต่ละงวด (4 เดือน) ปีละ 3 งวด โดยนำเอาสมมติฐานของต้นทุนพลังงาน ค่าไฟฐาน ฯลฯ ออกประกาศให้กับ 3 การไฟฟ้า ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ออกประกาศเพื่อเรียกเกี่ยวกับผู้ใช้ไฟฟ้าต่อไป