เบื้องลึก ครม.รับมติ ป.ป.ช. เฝ้าระวังดิจิทัลวอลเลต เศรษฐา สั่งแจง ทุกประเด็น

เบื้องลึก ครม.รับมติ ป.ป.ช. เฝ้าระวังดิจิทัลวอลเลต เศรษฐา สั่งแจง ทุกประเด็น

เบื้องลึก ครม.รับทราบข้อเสนอ ป.ป.ช. 8 ข้อป้องกันทุจริตดิจิทัลวอลเล็ต นายกฯ สั่งคลังตอบกลับทุกข้อ ขีดเส้น ส่งกลับ ครม.ใน 30 วัน จากกรอบเวลาตามกม.90 วัน ระบุสั่งทำควบคู่การทำงานของคณะอนุกรรมการศึกษาข้อกฎหมาย และรับฟังข้อเสนอแนะในโครงการ

20 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบข้อเสนอแนะ เพื่อป้องกันการทุจริตในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet รับไปพิจารณา เพื่อให้ได้ข้อยุติแล้วนำเสนอต่อ ครม.ใน 30 วัน ตามที่ตนได้แจ้งต่อสื่อมวลชนไปแล้วเมื่อวันศุกร์วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

นางณัฐฎ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการ ครม.กล่าวว่าหลังจาก ครม.ได้รับทราบข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.แล้ว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 32 ที่กำหนดว่าเมื่อองค์กรตามวรรคหนึ่งได้รับแจ้งมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว หากเป็นกรณีที่ไม่อาจดําเนินการได้ ให้แจ้งปัญหาและอุปสรรคต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบต่อไป ทั้งนี้ ไม่เกิน 90 วันนับแต่ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเท่ากับว่า ครม.มีเวลา 90 วันในการตอบกลับไปยัง ป.ป.ช.แต่ ในเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีให้เวลาในการทำงาน 30 วัน

“หลังจาก ครม.รับทราบรายงานข้อเสนอของ ป.ป.ช. แล้ว คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตที่ได้รับมอบหมายให้พิจารณาทำเสร็จภายใน 30 วัน และส่งให้กับ สลค. เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.อีกครั้ง ซึ่งในส่วนนี้น่าจะทำงานคู่ขนานกันกับคณะทำงานที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งในการประชุมดิจิทัลวอลเล็ตเมื่อสัปดาห์ก่อน”

แหล่งข่าวจากที่ประชุมครม.เปิดเผยว่านายกฯได้กล่าวในที่ประชุมว่าเรื่องนี้การที่องค์กรอิสระมีการตรวจสอบโดยที่รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินโครงการนั้นทำให้ทำงานยากเนื่องจากโครงการนี้ถูกจับตาอย่างมากแต่ก็ต้องทำตามขั้นตอนทางกฎหมาย ดังนั้นขอให้กระทรวงการคลังในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการเติมเงินในกระเป๋าดิจิทัลคนละ10,000 บาท ไปศึกษาโดยละเอียดและตอบข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.ในประเด็นต่างๆและส่งมายัง ครม.อีกครั้งเพื่อส่งต่อให้ ป.ป.ช.ตามขั้นตอนต่อไป

 

ทั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นควรมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี จำนวน 8 ข้อ ดังนี้

1.รัฐบาลควรศึกษา วิเคราะห์ การดำเนินโครงการเติมเงินฯรวมทั้งชี้แจงความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมว่า ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการเติมเงินฯ จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุคคลรายใดรายหนึ่ง

หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่า ผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายที่อาจเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบาย รวมทั้งประชาขน ที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับประโยชน์จากดำเนินโครงการของรัฐบาล

อย่างแท้จริง เช่น เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย หรือกลุ่มเปราะบาง พร้อมกับต้องมีขั้นตอนและวิธีการ ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเพื่อให้สามารถกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

2.การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่14 พ.ค.66 และพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลและได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่11 ก.ย.66 เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวนั้นมีความแตกต่างกัน สำนักงาน กกต.ควรดำเนินการตรวจสอบว่าขัดรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ มาประกอบการพิจารณาด้วย มิฉะนั้นจะเป็นบรรทัดฐานสำหรับพรรคการเมืองสามารถหาเสียงไว้อย่างไร เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามที่ได้หาเสี่ยงไว้

3.การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเติมเงินฯ ควรคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงินการคลังในอนาคตภายใต้หลักธรรมาภิบาล 4 ด้าน คือ ความโปร่งใส การถ่วงดุล การรักษาความมั่นคงของระบบการคลังและความคล่องตัว ซึ่งรัฐบาลพึงต้องใช้ความระมัดระวังและพิจารณาระหว่างผลดีผลเสียที่จะต้องกู้เงิน จำนวน 5 แสนล้านบาท ในขณะที่ตัวทวีคูณทางการคลังมีค่าเพียงการกู้เงินจึงเป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาว ซึ่งจะต้องตั้งงบประมาณในการชำระหนี้จำนวนนี้เป็นระยะเวลา 4-5 ปี กระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ

4.การดำเนินโครงการเติมเงินฯ คณะรัฐมนตรีและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา172 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐพ.ศ. 2561มาตรา 53 พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6 และพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ตลอดจนกฎหมาย คำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย

5.ครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการเติมเงินฯ อย่างรอบด้าน โดยกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยงและการป้องกันกรทุจริต ตลอดจนมีกระบวนการในการตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากการดำเนินนโยบาย ซึ่งอาจพิจารณานำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.. เรื่อง การบูรณาการป้องกันการทุจริตของโครงการภาครัฐ (โดยการติดตามประเมินผลการดำเนิ่นงาน) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นขอบในหลักการ

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2533 มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้โครงการเติมเงินฯ สามารถดำเนินการได้ อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง

6.ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กับโครงการเติมเงินฯ ครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสมตลอดจนระยะเวลาและงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์

และระยะเวลาในการดำเนินโครงการเติมเงินฯ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการแจกเงินเพียงครั้งเดียวโดยให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน

7.จากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษาและตัวทวีคูณทางการคลัง รวมถึงตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤตที่ ธปท. ได้รวบรวมและประมวลข้อมูลจากงานศึกษาของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศมีความเห็นตรงกันว่าใช่วงเวลาที่ศึกษา อัตราความเจริญเติบโตของประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น ดังนั้น ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน รัฐบาลควรพิจารณาและให้ความสำคัญต่อโครงสร้างทางเศษฐกิจ เช่น การกระตุ้นการบริโภค ภาคเอกชน การกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การเพิ่มทักษะให้แก่แรงงาน ในกรณีที่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สถนการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรพิจารณา กลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุด ซึ่งต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ภายใต้บทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เช่น กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน

และ 8.หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องการช่วยเหลือประชาชนรัฐบาลควรช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่มีฐานะยากจนที่เปราะบางและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้นโดยแจกจากแหล่งเงินงบประมาณปกติมิใช่เงินกู้ตามพระราชบัญญัติกู้เงิน และจ่าย

ในรูปเงินบาทปกติในอัตราที่เหมาะสมเพื่อพยุงการดำรงชีวิตของกลุ่มประชาชนที่ยากจน โดยการกระจายจ่ายเงินเป็นงวด ๆ หลายงวดผ่านระบบแอปพลิเคชันเป๋าตังที่มีประสิทธิภาพ