สบน.โต้ข่าวบิดเบือน พันธบัตรต่างประเทศโจมตีค่าเงินบาท

สบน.โต้ข่าวบิดเบือน พันธบัตรต่างประเทศโจมตีค่าเงินบาท

สบน. โต้กรณีข้อมูลข่าวออนไลน์ ระบุการออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศ เป็นการโจมตีค่าเงินบาทนั้น เป็นข่าวบิดเบือน ชี้เร่งศึกษาผลดีผลเสียเสนอภายในเดือนมี.ค. หนุนเอกชนมีเกณฑ์อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง

นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ โฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวเผยแพร่ทางออนไลน์เกี่ยวเนื่องกับการออกพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Bond : FCY) ของกระทรวงการคลังในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เป็นข่าวบิดเบือน ทั้งนี้ สบน. ได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่าเข้าข่ายข่าวปลอม (Fake News) ผ่านระบบของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center Thailand) ไปแล้ว เมื่อวานนี้ (19 ก.พ.)

อย่างไรก็ตาม สบน.อยู่ระหว่างการศึกษาการออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศเท่าที่จำเป็น คาดว่าจะมีวงเงินราว 500-1,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 40,000 ล้านบาท มีอายุ 10 ปีขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีแผนที่แน่ชัดว่าจะใช้เป็นสกุลเงินประเทศใด โดยคาดว่าจะรายงานผลการศึกษาเพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาภายในเดือนมี.ค.

สบน. อยู่ระหว่างการศึกษาการออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศอีกครั้งในรอบ 20 ปี ตามนโยบายของรัฐบาลในการระดมทุนจากกองทุนทั่วโลก ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีการพูดคุยกับองค์กรในเวทีต่างประเทศ

ซึ่งสบน. สามารถพิจารณากู้เงินจากต่างประเทศภายใต้ พ.ร.บ. หนี้สาธารณะฯ มาตรา 22 เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้ตามความจำเป็น ประกอบกับประเทศไทยมีหนี้สาธารณะคงค้างที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ ณ ธ.ค. 2566 อยู่ในระดับต่ำหรือคิดเป็น 1.40% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด

“ประเทศไทยไม่ได้ออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศตั้งแต่วิกฤติการเงินปี 2540 ประกอบกับภาวะดอกเบี้ยในประเทศที่่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายในการกลับมามีบทบาทในเวทีโลก อีกทั้งประเทศเพื่อนบ้านก็มีการออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศเช่นกัน”

ทั้งนี้วัตถุประสงค์ในการออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศจะทำให้สามารถมีการบริหารความเสี่ยงและขยายตลาดการกู้เงินได้เยอะขึ้น ลดการเกิดการแย่งเงินลงทุนในประเทศของภาครัฐกับภาคเอกชน (Crowding Out Effect) รวมทั้งใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยให้กับภาคเอกชนไทยในการระดมทุนต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเอกชนจะใช้เครดิตของตัวเองและถูกหักส่วนลด

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องภาระต้นทุนดอกเบี้ยต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงกว่าดอกเบี้ยในประเทศ โดยพันธบัตร 10 ปี สหรัฐมีผลตอบแทนอยู่ที่ 4.6% ขณะที่พันธบัตร 10 ปีของไทย อยู่ที่ 2.57% ดังนั้นการจะออกบอนด์ต่างประเทศจะต้องมีความคุ้มค่า และคำนึงถึงมิติอื่นๆ คือมิติด้านเศรษฐกิจเปรียบเทียบ นอกจากมิติด้านการเงิน และทำให้ต้นทุนภาคเอกชนที่จะระดมเงินต่างประเทศมีอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม

ทั้งนี้ เพื่อความรอบคอบและเกิดประโยชน์กับการบริหารการเงินและการคลังในภาพรวม มีต้นทุนและความเสี่ยงที่รับได้ และสอดคล้องกับการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด สบน. จะวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวข้างต้นกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมทั้งมิติของทางด้านต้นทุนและการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน และมิติที่จะส่งผลต่อประโยชน์ในการระดมทุนของภาคเอกชน รวมถึงความคุ้มค่าต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมอย่างเหมาะสมต่อ

ทั้งนี้ที่ผ่านมา สบน.ได้มีการหารือกับหลายหน่วยงาน ทั้งสถาบันการเงินและองค์กรต่างประเทศที่แสดงความสนใจ อาทิ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)