สบน.ชู Sustainability-Linked Bond นวัตกรรมการเงินเพื่อความยั่งยืน

สบน.ชู Sustainability-Linked Bond นวัตกรรมการเงินเพื่อความยั่งยืน

สบน.ชู Sustainability-Linked Bond นวัตกรรมการเงินเพื่อความยั่งยืน ตั้งเป้าระดม 2-3 หมื่นล้านในปีหน้า หากสำเร็จจะถือเป็นแห่งแรกในเอเชีย เผยระยะ 3 ปีบอนด์เพื่อความยั่งยืนกระแสตอบรับจากนักลงทุนสูง ส่งผลยอดเงินคงค้างอยู่ที่ 4.12 แสนล้าน

นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) Special Talk: Sustainable Finance: How it is changing the world ในเวทีสัมมนา SUSTAINABILITY FORUM 2024 จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ระบุ การเงินเพื่อความยั่งยืนนั้น จะเป็นแหล่งเงินทุนที่ช่วยสนับสนุนองค์กรต่างๆ ในการลงทุนที่คํานึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งมีทั้งในรูปแบบของการให้สินเชื่อของภาคการเงินหรือการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้กลุ่ม ESG Bond โดยเฉพาะ

ปัจจุบันนั้น แนวโน้มการเติบโตของการเงินเพื่อความยั่งยืนในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านของการปล่อยสินเชื่อของภาคการเงิน และการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ด้วยการสนับสนุนของหน่วยงานที่กํากับดูแลนโยบายผ่านการสร้างสภาพแวดล้อม และกฎเกณฑ์ให้เอื้อต่อการระดมทุน และการสร้างมาตรฐานกลางอย่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ของทั้งทาง ธปท. ก.ล.ต. และ ตลท. เพื่อใช้เป็นมาตรฐานของกรอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการระดมทุนผ่านการเงินเพื่อความยั่งยืนนั้น จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรไม่ใช่แค่การระดมทุนได้ครบตามความต้องการเพื่อลงทุนเพื่อความยั่งยืน แต่ยังมีประโยชน์ในหลากหลายแง่มุม

โดยในช่วงระยะเวลา 3 ปีกว่าที่ สบน. ได้นําเครื่องมือทางการเงินเพื่อความยั่งยืน นั่นคือ พันธบัตรเพื่อ ความยั่งยืน (Sustainability Bond) เข้ามาใช้ในการระดมทุน ที่ปัจจุบันมียอดเงินคงค้างของการออก ทั้ง 2 รุ่น อยู่ที่ 4.12 แสนล้านบาท ซึ่ง สบน.สามารถถอดบทเรียนได้ 2 ข้อสําคัญ คือ 1.การระดมทุนผ่าน Sustainability Bond หลายครั้งได้รับ demand จากนักลงทุนที่มากกว่าพันธบัตรรัฐบาลรุ่นปกติ ซึ่ง imply ได้ว่าเกิดการแข่งขันทางด้านราคาที่มากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อต้นทุนของรัฐบาล

2.การระดมทุนเพื่อความยั่งยืนมีลักษณะเฉพาะที่สําคัญคือ การรายงานความโปร่งใส (Transparency) เพื่อเปิดเผย และติดตามการจัดสรรเงินทุนได้ ดังนั้น คุณสมบัติข้อนี้ จึงมีส่วนทําให้หน่วยงานต้องพยายามปรับเปลี่ยนแนวทางการดําเนินงานเพื่อให้มีการติดตามวัดผลของการลงทุน โดยคํานึงถึงกรอบของความยั่งยืน

ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ สบน.กล่าวด้วยว่า แม้เงื่อนไขของมาตรฐานแนวปฏิบัติใหม่ภายใต้การเงินเพื่อความยั่งยืนจะมีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง แต่เชื่อว่า การระดมทุนผ่านการเงินเพื่อความยั่งยืนจะได้รับการตอบรับที่ดีผ่านนักลงทุน เป็นภาพลักษณ์ที่ดีสร้างมูลค่าให้แก่องค์กร และเป็นตัวเร่งให้องค์กรสามารถปรับเปลี่ยนแนวทางการ ดําเนินงานสู่ความยั่งยืนและส่งเสริม Resiliency ให้แก่องค์กรได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ความท้าทายของการต่อสู้กับปัญหา Climate Change ทําให้ สบน.ในฐานะหน่วยงานระดมทุน มีความพยายามปรับแนวทางการดําเนินงานทั้งภายใน และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภายนอก เพื่อให้การจัดสรรเงินระดมทุนเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย สบน.เปรียบเสมือน Center-Half บนสนามฟุตบอลที่พยายามหนุนให้ประเทศสามารถทําประตู หรือหมายถึงการบรรลุเป้าหมายได้

“ในฐานะ Issuer สบน. ได้มีการออกพันธบัตรกลุ่ม ESG เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ ตอบโจทย์พลวัตการลงทุนของนักลงทุนในปัจจุบัน และยังคงนํานวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ เข้ามาเป็นเครื่องมือการระดมทุน อาทิ แผนการออก Sustainability-Linked Bond วงเงินประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท ในกลางปี 67 ที่เป็น catalyze ให้เกิดการทํางานทุกภาคฝ่ายร่วมกันทั้งในด้านของการบรรลุเป้าหมายเพื่อความยั่งยืน และแนวทางการจัดสรรเงินระดมทุนให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งหาก สบน. สามารถดําเนินการออก SLB ได้สําเร็จจะถือได้ว่าเป็นความสําเร็จของรัฐบาลเป็นแห่งแรกในเอเชีย”

นอกจากนี้ สบน. ยังมีหน้าที่เป็น Facilitator ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการระดมทุนของ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและก่อให้เกิดการพัฒนาตลาด ESG Bond ของประเทศผ่านการเป็นผู้เล่นรายใหญ่ และการสร้างสภาพคล่องในตลาด และในฐานะ Regulator สบน. พยายามพัฒนาแนวทางการดําเนินงานภายใน

โดยมีแนวคิดในการพัฒนาปรับปรุงแนวทางการดําเนินงานแบบ end-to-end ตั้งแต่การคัดเลือกโครงการเงินกู้ และแนวทางการติดตามประเมินผล โดยคํานึงถึงกรอบเพื่อความยั่งยืน และการนําเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อให้การติดตามนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึง เรื่องของการ Match โครงการเงินกู้กับเป้าหมาย UNSDGs ให้สามารถติดตามได้ว่า การจัดสรรเงินระดมทุนในส่วนของโครงการเงินกู้นั้นมีส่วนขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนแต่ละหัวข้อในสัดส่วนเท่าไร เพื่อมีส่วนในการกระตุ้นผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีองค์ความรู้ และตระหนักถึงความสําคัญของการลงทุน และการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

“โดยสรุปแล้ว Sustainable Finance ไม่ใช่แค่กระแส หรือ gimmick ในตลาดการเงิน แต่เป็นกลไกหลัก ในการก้าวข้ามสู่ยุคของตลาดการเงินในโลกอนาคต ซึ่งจะต้องร่วมกันผลักดันกันทั้งองคาพยพ”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์