เกิดอะไรขึ้นกับ ‘เศรษฐกิจไทย’ การบริโภคพุ่ง แต่จีดีพีชะลอ

เกิดอะไรขึ้นกับ ‘เศรษฐกิจไทย’ การบริโภคพุ่ง แต่จีดีพีชะลอ

แม้ตัวเลขการบริโภคของไทยปีนี้จะขยายตัวได้ถึง 7.1% แต่ก็ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่ประชาชนนำเงินออมออกมาใช้จ่าย จนทำให้ตัวเลขเงินฝากธนาคารพาณิชย์ปีก่อนหดตัวครั้งแรกในรอบ 10 ปี จึงถือว่าน่าเป็นห่วงสำหรับเศรษฐกิจไทย เพราะจีดีพีกลับขยายตัวเพียงแค่ 1.9%

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ประกาศออกมาเมื่อวันก่อน(19ก.พ.) แม้ไม่ได้ผิดไปจากที่คาดการณ์ไว้ล่าสุด แต่ต้องยอมรับว่าผิดไปจากที่ประเมินไว้ช่วงต้นปี 2566 แบบครึ่งต่อครึ่ง เดิมหลายหน่วยงานคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวใกล้ๆ 4% ซึ่งตัวเลขจริงที่ออกมา กลับพบว่า ขยายตัวได้เพียง 1.9% เท่านั้น ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 2566 แม้จะยังขยายตัวได้ในระดับ 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ถ้าเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ ถือว่าหดตัวลง 0.6% จึงเป็นสัญญาณที่น่าห่วงยิ่ง

ตอนนี้หลายคนเริ่มมองไปข้างหน้าแล้วว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2567 จะสามารถขยายตัวได้เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหรือไม่ เพราะถ้า “หดตัว” ลงอีก เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะ technical recession หรือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคในทันที โดยนิยามของคำว่า technical recession คือ เศรษฐกิจหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาสเมื่อเทียบกันแบบไตรมาสต่อไตรมาส

การเกิดภาวะ technical recession มีนัยต่อเศรษฐกิจตรงที่ทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจถดถอยลงทันที ลองนึกดูว่าเมื่อคนเห็นสัญญาณเศรษฐกิจไม่ดี ก็จะยิ่งไม่กล้าใช้จ่าย ไม่กล้าลงทุน อัตราการหมุนเวียนของเงินในระบบลดลง ซ้ำเติมให้เศรษฐกิจเกิดภาวะชะลอตัวต่อเนื่องได้ โจทย์จึงอยู่ที่ว่าภาครัฐจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร ซึ่งในการแถลงข่าวของ สศช. เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสศช. ได้เรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พิจารณาอย่างจริงจังในการใช้ มาตรการด้านการเงินเข้าช่วยเหลือ

สำหรับในแวดวงนักเศรษฐศาสตร์แล้ว ตัวเลขที่ สศช. ประกาศออกมา มีประเด็นที่น่าสนใจตรงที่ ไส้ในของเศรษฐกิจซึ่งแม้ภาพรวมจะขยายตัวแค่เพียง 1.9% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่กลับพบว่าตัวเลขการบริโภคขยายตัวได้ถึง 7.1% จึงเกิดคำถามว่า ตัวเลขการบริโภคที่เติบโตร้อนแรงนี้เกิดจากสาเหตุใด ซึ่งปกติแล้วการบริโภคมักเกิดจาก 3 ส่วน คือ 1.รายได้เพิ่มจึงบริโภคเพิ่ม 2.มีการกู้ยืมเงินมาเพื่อมาบริโภค หรือ 3.นำเงินออมมาใช้จ่ายเพื่อการบริโภค

หากดูจาก 3 ปัจจัยที่ว่ามาข้างต้นแล้ว มีความเป็นไปได้มากสุดที่ตัวเลขการบริโภคปี 2566 อาจเกิดจาก “ข้อ 3” คือ นำเงินออมมาบริโภค เพราะเมื่อจีดีพีที่สะท้อนการเพิ่มขึ้นของรายได้ขยายตัวค่อนข้างต่ำ แถมสินเชื่อในปี 2566 ก็หดตัว จะเหลือก็เพียงการนำเงินเก็บออมมาบริโภค ซึ่งจริงๆ แล้วก็สอดคล้องกับตัวเลขเงินฝากธนาคารพาณิชย์ปี 2566 ที่หดตัวครั้งแรกรอบ 10 ปี โดยเงินฝากออมทรัพย์ในปี 2566 ลดลงไปราว 8.13 แสนล้านบาท ...เราเห็นว่าถ้าตัวเลขการบริโภคปี 2566 ขยายตัวด้วยสาเหตุนี้จริง ก็ชัดเจนว่าเป็นการเติบโตที่ไม่ยั่งยืน แถมยังน่าเป็นห่วงด้วยว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทยกันแน่!